
คอลัมน์ : Politics policy people forum
อาจกล่าวได้ว่า วันที่ 11 พฤษภาคม 2567 จะกลายเป็น “จุดเปลี่ยน” อำนาจการเมืองสำคัญอีกฉากหนึ่ง
เมื่อ 250 สว. ที่มาจากการคัดเลือกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หมดวาระการเป็น “ไม้ค้ำยัน” วาทกรรม “เปลี่ยนผ่านการเมือง” คุม “การปฏิรูป” ของ คสช. เป็นการ “ปิดอำนาจ” คสช. อย่างเป็นทางการ
สำคัญกว่านั้น สว. 250 คน จะถูกลดเหลือ สว. 200 คน ผ่านการเลือกตั้งแบบ “เลือกไขว้” ของ 20 กลุ่มอาชีพ ตามรัฐธรรมนูญ 2560
ปรากฏว่า มีพรรคการเมือง ทั้งขั้วรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน เตรียมจัดกำลังคน ลงสมัคร สว. สูตรเลือกไขว้นี้แล้ว
คนในพรรคเพื่อไทยยอมรับว่า มีการหารือกัน เรื่องส่งตัวแทนลงชิงเก้าอี้สภาสูง ขณะเดียวกัน พรรคร่วมรัฐบาลซึ่งมีจุดแข็งด้านท้องถิ่นในภาคอีสาน ก็เตรียมความพร้อมชิงเก้าอี้สภาสูงเช่นกัน
สว.ในฐานะสภาสูง จึงผูกกับเกมการเมืองสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะ “สภาล่าง” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพราะอำนาจ สว.เป็นผู้เห็นชอบตำแหน่งต่าง ๆ ในองค์กรอิสระ กลไกการตรวจสอบที่ชี้ขาดการเมืองไทยในเวลานี้-ถ่วงดุลการออกกฎหมายของ สส.-รัฐบาล ที่สำคัญนโยบาย “ร่างรัฐธรรมนูญ” ของรัฐบาลเพื่อไทย ก็ต้องได้รับความเห็นชอบจาก สว.ชุดใหม่ด้วย
กลุ่มการเมืองไหน ใครคุมเกม สว.ยิ่งได้เปรียบ
11 ขั้นตอนเลือก สว.
ล่าสุด คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คลอดระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2567 ออกมาเพื่อดำเนินการเลือก สว. จาก 20 กลุ่มอาชีพ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 2561 มาตรา 11 แบ่งได้ 11 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1 ในระดับอำเภอ-เขต ให้แต่ละกลุ่ม ทั้ง 20 กลุ่ม จะต้องเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน กลุ่มใดมีผู้สมัครเกินกว่า 5 คน ให้เลือกกันเองให้เหลือ 5 คน ให้ผู้ได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับ 5 คนแรกเป็นผู้ที่ได้รับเลือกขั้นต้น กรณีที่มีผู้ได้คะแนนเท่ากันจนทำให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกิน 5 คน ให้จับสลากเลือกกันเองให้เหลือ 5 คน เพื่อเป็น “ผู้ได้รับเลือกขั้นต้น”
ขั้นที่ 2 ให้ผู้ที่ได้รับเลือกขั้นต้น ทำการแบ่งสาย ไม่เกิน 4 สาย แต่ละสายประกอบด้วยจำนวนกลุ่มเท่ากัน เช่น 20 กลุ่ม แบ่ง 4 สาย สายละ 5 กลุ่ม จากนั้นให้ผู้สมัครดำเนินการ “เลือกไขว้” โดยลงคะแนนเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่สายเดียวกัน
ขั้นที่ 3 ให้ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มเป็นผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอ เพื่อให้ไปเลือกในระดับจังหวัด
ขั้นที่ 4 ในระดับจังหวัด-ให้ผู้ที่ผ่านการเลือกในระดับอำเภอ มาเลือกบุคคลใน “กลุ่มเดียวกัน” ให้มีผู้ได้คะแนนสูงสุดไม่เกิน 5 คน โดยผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม
ขั้นที่ 5 ให้ผู้ที่ได้รับเลือกขั้นต้น ทำการแบ่งสาย ไม่เกิน 4 สาย แต่ละสายประกอบด้วยจำนวนกลุ่มเท่ากัน
ขั้นที่ 6 ผู้ที่ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มจะต้องเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน แบบ “เลือกไขว้” ห้ามเลือกคนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตัวเอง
ขั้นที่ 7 ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 2 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มจะได้รับเลือกในระดับจังหวัดของกลุ่มนั้น และไปคัดเลือกในระดับประเทศ
ขั้นที่ 8 ผู้ที่ได้รับเลือกระดับจังหวัดแต่ละกลุ่ม จะต้องเลือกกันเองภายในกลุ่ม ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 10 คน
ขั้นที่ 9 ให้ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดเรียงตามลำดับ 40 คนแรก เป็นผู้ได้รับการคัดเลือกขั้นตอนของแต่ละกลุ่ม ทั้งนี้ แต่ละกลุ่มจะต้องมีจำนวนตั้งแต่ 20 คนขึ้นไป ถ้ากลุ่มใดมีผู้ได้คะแนน
ไม่ถึง 20 คน จะต้องเลือกกันเองใหม่ให้ครบตามจำนวน
ขั้นที่ 10 เมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นแล้ว จะมีการแบ่งสายไม่เกิน 4 สาย และให้มีจำนวนกลุ่มเท่า ๆ กัน จากนั้นให้ผู้สมัครที่เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม เลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยแต่ละคนมีสิทธิเลือกผู้สมัครที่เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มอื่น แต่ละกลุ่มในสายเดียวกันได้กลุ่มละไม่เกิน 5 คน แต่จะเลือกตัวเองหรือคนกลุ่มเดียวกันไม่ได้
ขั้นที่ 11 ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด 10 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม จะเป็นผู้รับเลือกให้เป็น สว. ส่วนผู้ที่ได้ลำดับ 11-15 จะเป็นผู้อยู่ในบัญชีสำรอง
โจทย์การเมืองชุดใหม่
ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข นักวิชาการรัฐศาสตร์ เชี่ยวชาญด้านการเมืองความมั่นคง วิเคราะห์ว่า การเลือกตั้ง สว.เป็นอีกโจทย์ใหญ่ เพราะจะเป็นการปิดฉาก คสช. จุดจบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
“เราจะเห็นการปิดฉาก คสช.จริง ๆ ด้วยการสิ้นสุดของ สว. ที่เหลือจะเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี”
หลังเลือกตั้ง สว.เสร็จ การต่อสู้ในสภาจะเข้มข้นขึ้น ผมว่าตอบไม่ได้ทั้งหมด จนกว่าเราจะเห็นตัวละครและองค์ประกอบใหม่ เพราะอำนาจบางส่วนใน สว.ยังมีอยู่ แต่น่าสนใจในระบบรัฐสภา หลังได้ สว.ชุดใหม่ การเมืองเข้มข้นแน่ ๆ แต่ยังบอกไม่ได้ใครจะเป็นกลุ่มใหญ่ ฟันธงไม่ได้ จนกว่าจะเห็นตัวละครที่ลงมาแข่ง
พอองค์ประกอบ สว.ใหม่เข้ามา ซึ่ง สว.ตัดขาดจากพรรคการเมืองไม่ได้ แปลว่า ความเป็นรัฐบาลผสมในอนาคต โยงเข้ากับการเมืองในสภาสูง และส่งผลต่อการเมืองในสภาล่าง และส่งผลต่อตัวรัฐบาลเอง
ดังนั้น ความเป็นรัฐบาลผสม จะเห็นรูปร่างชัดอีกครั้งหนึ่งหลังจากเลือกตั้ง สว.แล้ว ดังนั้น ถามว่ารัฐบาลผสมลงตัวหรือเข้าที่ไหม…ยัง เหมือนกับยังเขย่า ๆ กันอยู่ เสียงลือมาแล้ว หลังปีใหม่ปรับ ครม.ไหม หรือรอใครบางคนกลับมาอยู่บ้านปกติ แล้วถึงปรับ
หรือไปปรับเมื่อรู้ฐานอำนาจในสภาสูง ผมคิดว่าจุดนี้คือจุดสุดท้ายของการเขย่า การปรับ ครม.ใหม่หลังปีใหม่ คิดว่าไม่มีผลอะไร แต่การปรับ ครม.ใหญ่จะเกิดขึ้นต่อเมื่อเห็นหน้าตาของ สว. จะเป็นการจัดโครงสร้างอีกชุดหนึ่ง