
ครม. มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่กระทรวงสาธารณสุข ชงมา ให้กฤษฎีกาทบทวนเนื้อหาควบมิติสุขภาพ-กระตุ้นเศรษฐกิจ
วันที่ 3 มีนาคม 2567 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบหลักการร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เสนอโดยกระทรวงสาธารณสุข โดยของเดิมที่บังคับใช้นั้น พ.ร.บ.ควบคุมแอลกอฮอล์ 2551 ทั่วไปแล้วกฎหมายที่ถูกบังคับใช้ถึง 5 ปี ก็ควรมีการทบทวนว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่
ทั้งนี้ กฎหมายเดิมมีการบังคับใช้มานานแล้ว ทางกระทรวงสาธารณสุขเห็นว่าบางประเด็นไม่มีความชัดเจน และบทบัญญัติไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่เข้ามา โดยสาระสำคัญคือ 1.กำหนดนิยามคำว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นิยามคำว่าผู้มีปัญหาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
รวมทั้งนิยามคำว่าการสื่อสารการตลาด ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้จะระบุเลยว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีแอลกอฮอล์ไม่เกิน .5% ไม่ถือว่าเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีการให้เพิ่มชุดกรรมการต่าง ๆ เช่น เพิ่มตัวแทนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เข้าไปเป็นคณะกรรมการ
และเพิ่มอำนาจหน้าที่รัฐมนตรีที่รักษาการมีอำนาจตามกฎหมายฉบับนี้ที่จะกำหนดเงื่อนไขเวลาในการจำหน่าย และเพิ่มโทษปรับด้วย จากการพิจารณาของ ครม.แล้ว เห็นว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวที่ใช้บังคับในปัจจุบันนั้นจำเป็นต้องรับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน อะไรก็ตามที่ประชุมมีความเห็นว่า สิ่งที่เป็นนโยบายของรัฐบาลนี้ ซึ่งนายกฯได้สั่งการไปก่อนหน้านี้ว่า ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเครื่องจักรสำคัญทางเศรษฐกิจ ด้วยนโยบายการท่องเที่ยวที่กระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ทิศทางที่ต้องคำนึงถึงมิติทางด้านเศรษฐกิจ ต้องมีการผ่อนปรนมากขึ้น
ในขณะเดียวกัน ที่ประชุม ครม.ก็มีความเห็นว่า เรื่องสุขภาพ และความปลอดภัยจากการดื่มแอลกอฮอล์ ก็เป็นมิติทางด้านสาธารณสุข ดังนั้นจึงมีมติว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวที่ทางกระทรวงสาธารณสุขเสนอมาชอบว่าควรต้องยกร่างขึ้นมาใหม่ แต่เนื้อหาสาระขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาได้นำกลับไป และทบทวนสาระให้เกิดสมดุลระหว่างมิติด้านสุขภาพและด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ในเนื้อหา ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาทบทวนตรวจอย่างละเอียดคำนึงถึงในทุกมิติทั้งมิติด้านสุขภาพและมิติทางด้านการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างสมดุล โดยขอให้รับความเห็นของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อไปประกอบความเห็นพิจารณาด้วย ก่อนนำเสนอวิปรัฐบาล เพื่อเสนอสภาพิจารณาต่อไป
นายชัยกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.พิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่คณะรัฐมนตรีขอรับมาพิจารณาก่อนรับหลักการ (ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….) จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่
- ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (นายเจริญ เจริญชัย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 10,942 คน เป็นผู้เสนอ)
- ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 92,978 คน เป็นผู้เสนอ) และ
- ร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร กับคณะเป็นผู้เสนอ
ซึ่งร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับ และร่างพระราชบัญญัติที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ มีหลักการเพื่อแก้ไขปรับปรุงมาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และกลไกการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงความสมดุล
แต่เนื่องจากรายละเอียดของการแก้ไขปรับปรุงยังคงมีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับระดับความเข้มงวดของการควบคุมและการผ่อนปรนมาตรการที่อาจยังไม่นำไปสู่ความสมดุลที่เหมาะสม รวมทั้งการแก้ไขปรับปรุงกลไกการบังคับใช้กฎหมายในแต่ละร่าง ยังคงมีความแตกต่างกันมาก
ทั้งนี้ มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 รับประเด็นข้อเสนอแก้ไขตามร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับไปพิจารณาแก้ไขปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ พร้อมกับการพิจารณคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ความเห็นของคณะกรรมการพัฒนากฎหมาย และความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ซึ่งรวมถึงประเด็นการปรับปรุงกลไกคณะกรรมการตามกฎหมายนี้ เพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติมีมาตรการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่สร้างสมดุลกับนโยบายอื่นของรัฐ และมีประสิทธิภาพในการคุ้มครองสุขภาวะของประชาชน โดยไม่สร้างอุปสรรคหรือภาระแก่ผู้ประกอบการจนเกินสมควร และทำให้ร่างกฎหมายได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ให้เร่งดำเนินการโดยเร็วเพื่อผลักดันร่างพระราบัญญัติดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป