Prachachat BITE SIZE โดย พฤฒินันท์ สุดประเสริฐ
ผู้ผลิตเหล้า-เบียร์ เตรียมปรับตัวครั้งใหญ่ เมื่อร่างกฎหมายควบคุมเหล้า-เบียร์ ฉบับใหม่ ซึ่งปิดรับฟังความเห็นเมื่อ 29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และได้รับความสนใจจากผู้คนเป็นจำนวนมาก ประเด็นมาจากการที่กฎหมายดังกล่าวมีสาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไป คือ กำหนดให้ฉลากเหล้า-เบียร์ ต้องมีการเขียนคำเตือน ใส่ภาพผลของการดื่ม ที่อาจส่งผลอันตรายที่เกิดขึ้นจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
แล้วร่างกฎหมายใหม่นี้ บังคับเกี่ยวกับฉลากอย่างไรบ้าง และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง คิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้
Prachachat BITE SIZE ชวนคิดชวนคุยไปพร้อมกัน
แกะร่างกฎหมายใหม่ คุมฉลากเหล้า-เบียร์
ร่างกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฉบับใหม่นี้ มีสาระสำคัญอยู่ 10 ข้อ แต่ข้อที่ใหญ่และได้รับความสนใจมากที่สุด คือ การกำหนดให้ฉลากต้องมีภาพและคำเตือนถึงโทษและภัยของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พร้อมทั้งระบุคำ และลักษณะการทำฉลากประกาศอย่างชัดเจน
โดยมีการกำหนดคำเตือนและภาพไว้ 9 แบบ ต้องทำเป็น 4 สี คล้ายฉลากเตือนโทษและภัยที่อยู่บนซองบุหรี่ โดยคำเตือนทั้ง 9 แบบ มีทั้งการเตือนเรื่องสุขภาพ ทำให้ตับแข็ง ทำให้เป็นโรคหัวใจ ทำให้เซ็กซ์เสื่อม อันตรายต่อแม่ตั้งครรภ์ จนถึงเตือนอันตรายจากการดื่มแล้วขับ และเตือนการก่อให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว
นอกจากนี้ บนฉลากต้องมีคำเตือนปกติ ที่เราอาจเคยเห็นอยู่แล้ว เช่น การจำหน่ายให้คนอายุต่ำกว่า 20 ปี ผิดกฎหมาย และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง
และยังมีข้อห้ามต่าง ๆ บนฉลากเหล้า-เบียร์ เช่น ข้อความที่อาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าเหล้าเบียร์มีความปลอดภัยและส่งผลดีต่อสุขภาพ ข้อความเท็จและเกินความจริง ข้อความชวนให้บริโภคหรืออวดอ้างสรรพคุณ รวมถึงห้ามใช้ภาพที่มีนักกีฬา ภาพที่มีดารา ศิลปิน นักร้องหรือนักแสดง และภาพการ์ตูน
ขณะที่คำเตือนถึงโทษและภัยของน้ำเมา ในกฎหมายกำหนดสเป็กไว้ว่า โซนที่เป็นคำเตือน ต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 30% ของฉลาก ยกเว้นขวดทรงเหลี่ยม ต้องมีเนื้อที่ไม่น้อยกว่า 50% ของฉลาก ซึ่งกระทรวงฯ จะมีต้นแบบให้ผู้ผลิตได้นำไปใช้ และปรับสัดส่วนให้เหมาะสม แต่ต้องเป็นไปตามสัดส่วนที่กำหนด
ส่วนขนาดและรูปแบบฟอนต์ สำหรับคำเตือนทั่วไป ทั้งการเตือนอายุจำหน่าย และการเตือนเรื่องก่อให้เกิดโรคมะเร็ง จะมีความแตกต่างไปตามขนาดของเครื่องดื่ม
สำหรับร่างกฎหมายดังกล่าว จะบังคับใช้กับเหล้า-เบียร์-ไวน์ ทุกแบบที่ขายในไทย ไม่ว่าจะผลิตในประเทศหรือนำเข้ามาจำหน่ายในไทย จะไม่บังคับกับสุราสามทับ หรือสุรากลั่น ความแรงแอลกอฮอล์ 80 ดีกรีขึ้นไป และเหล้า-เบียร์ ที่ส่งออกไปต่างประเทศ จนถึงเหล้า-เบียร์ ที่ใช้ในการวิจัย
ส่วนการเริ่มบังคับใช้ จะมีผลหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 180 วัน และเหล้า-เบียร์ ที่ผลิตก่อนหน้ามีการบังคับฉลาก ยังสามารถขายต่อได้ในเวลา 180 วันนับตั้งแต่วันประกาศใช้ด้วยเช่นกัน
ทำฉลากคำเตือน เพิ่มต้นทุน ไม่เป็นสากล
นายอาชิระวัสส์ วรรณศรีสวัสดิ์ นายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจคราฟต์เบียร์ (สมาคมคราฟต์เบียร์) บอกว่า หากประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ กระทบทุกฝ่าย ทั้งรายเล็ก รายใหญ่ จนถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพราะต้องมีการปิดฉลากทับ ให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งยุ่งยาก และเพิ่มต้นทุน
นางสาวประภัสสร รังสิโรจน์ นายกสมาคมร้านอาหารไทยและสตรีตฟู้ด บอกว่า ไม่กระทบต่อความกังวลในการบริโภคของลูกค้า แต่การปรับฉลาก อาจนำไปสู่การขึ้นราคาที่จะเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการผลิต และมองว่าหลักเกณฑ์ดังกล่าว อาจจะสวนทางกับการพยายามผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทยด้วย
ฟากของภาครัฐ นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค บอกว่า เรื่องนี้ เหมือนกับเรื่องการกำหนดข้อความคำเตือนเช่นเดียวกับที่ติดบนซองบุหรี่ และต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด
ตัวเลขเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ระบุว่า มีผู้ให้ความเห็นแล้ว 1,040 ราย และไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ถึง 87%
โดยหลังจากปิดรับฟังความเห็นแล้ว จะนำมาสรุป นำเสนอต่อคณะอนุกรรมการร่างและแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฯ เพื่อพิจารณาประกอบการปรับปรุงแก้ไขร่างประกาศอีกครั้ง ก่อนให้คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พิจารณาต่อไป
ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในต่างประเทศ การควบคุมเหล้า-เบียร์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่จะใช้ Symbolic หรือการทำสัญลักษณ์ เช่น รูปผู้หญิงตั้งครรภ์ สื่อสารว่าคนตั้งครรภ์ห้ามดื่ม หรือใช้รูปเด็กที่มีตัวเลขกำกับ สื่อสารการห้ามขายให้เด็ก หรือเยาวชน
อย่างไรก็ตาม การบังคับใช้กฎหมายในการติดฉลากเตือนภัยนักดื่ม จะปรากฏเป็นรูปธรรมหรือไม่ ต้องรอการชี้ขาดจากคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกครั้ง
ติดตาม Prachachat BITE SIZE EP.44 ได้ที่ https://youtu.be/4wHOqqFfu-I
เข้าใจง่าย ได้ความรู้ ทุกสถานการณ์ข่าว กับ “Prachachat BITE SIZE” ทุกวันเสาร์ 11.00 น. ทุกช่องทางออนไลน์ของประชาชาติธุรกิจ