
คอลัมน์ : Politics policy people forum
นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ก็มาถึงจุด Turning Point เมื่อในการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 2/2567 เมื่อ 27 มีนาคม 2567 ปรากฏเรื่องแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการ
“เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวภายหลังการประชุม และทวีตข้อความในประโยคเดียวกัน ว่า
“กระทรวงการคลังได้เสนอความเป็นไปได้ของแหล่งเงินในโครงการดิจิทัลวอลเลตนอกเหนือจากการออก พ.ร.บ.เงินกู้ ผมได้มอบหมายให้กระทรวงคลัง และสํานักงบประมาณดําเนินการเรื่องนี้”
ขณะที่ “ลวรณ แสงสนิท” ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แนวทางที่เป็นไปได้ แนวทางแรกคือการใช้เงินกู้ดำเนินโครงการอย่างเดียว เป็นแนวทางเดิมที่ได้หารือกันมาก่อนหน้านี้
แนวทางที่ 2 คือใช้งบฯเข้ามาใช้ในโครงการนี้ ขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างการจัดทำงบฯปี’68 รัฐบาลจำเป็นต้องใช้โครงการนี้กระตุ้นเศรษฐกิจ สามารถจะดำเนินการได้
โดยอาจปรับเปลี่ยนวงเงินจัดทำงบฯปี’68 เงื่อนไขตรงนี้ที่ผ่านมาไม่มีมาก่อน ขณะที่งบฯปี’67 จะเข้ามาช่วยในโครงการนี้ด้วยหรือไม่ ต้องหารือกับสำนักงบฯอีกครั้ง
ขณะที่แนวทางที่ 3 ใช้ผสมกันระหว่างเงินกู้กับเงินงบประมาณ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่อาจทำได้หากเหมาะสม วันนี้สถานการณ์มีการปรับเปลี่ยนไปตลอดเวลา ต้องมาดูความเหมาะสมว่าแหล่งเงินใดเหมาะสมในสถานการณ์ขณะนี้มากที่สุด
ไม่เสี่ยงผิดกฎหมาย
ทว่า แหล่งข่าวในรัฐบาล ยืนยันถึงแหล่งเงินของโครงการเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ได้ข้อสรุปแล้ว โดยไม่ได้มาจากการออกกฎหมายกู้เงิน 5 แสนล้านอีกต่อไป แต่จะใช้เงินจากกฎหมายงบประมาณประจำปี 2 งบประมาณ คือ งบฯปี’67 และงบฯปี’68
สาเหตุที่มาใช้งบประมาณประจำปีแทนการกู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพราะไม่มีความเสี่ยงด้านการขัดต่อกฎหมาย ไม่เสี่ยงต่อการถูกยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ อาจจะทำให้ขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นบ้าง แต่รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินโครงการ
เพราะตัวเลขทางเศรษฐกิจทุกตัวที่รัฐบาลได้รับ ระบุว่า เศรษฐกิจกำลังวิกฤต โดยเฉพาะกำลังซื้อภาคครัวเรือน จึงต้องใช้เงินดิจิทัลวอลเลตไปกระตุ้นกำลังซื้อ ทำให้เกิดการหมุนเวียนของเศรษฐกิจ
อีกปัจจัยหนึ่งคือ ปัจจัยเสี่ยงทางการเมือง เพราะมีการร้องไปยังองค์กรอิสระต่าง ๆ รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่ได้ออกมาสนับสนุนเต็มที่ แม้จะมีการขอความร่วมมือจากหัวหน้าพรรคการเมืองในรัฐบาลให้ช่วยกันสนับสนุน หากกฎหมายกู้เงินเข้าสู่สภา เนื่องจากพรรคเพื่อไทยไม่มีเสียงข้างมากเกินครึ่งของสภา พรรคร่วมรัฐบาลจึงมีความหมาย หากต้องออกกฎหมายกู้เงิน
ดังนั้น เมื่อกฎหมายงบประมาณ 67 ผ่านสภา และอีกไม่นานกฎหมายงบประมาณปี’68 ก็จะได้ใช้ในเดือนตุลาคมนี้ จึงไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายกู้เงิน
ย้อนไทม์ไลน์ เงินดิจิทัลวอลเลต
วันที่ 11 กันยายน 2566 รัฐบาลเศรษฐา นับ 1 ทำงานอย่างเป็นทางการ นับจากการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา
เศรษฐาแถลงตอนหนึ่งว่า “สภาพเศรษฐกิจปัจจุบันที่ประเทศเปรียบเหมือนคนป่วย จึงจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการกระตุ้นการใช้จ่ายด้วยนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เพื่อกระตุกเศรษฐกิจให้ตื่นอีกครั้ง รวมทั้งนำไปสู่การจับจ่ายใช้สอย การขยายการลงทุน การผลิตที่มากขึ้น การจ้างงาน การหมุนเวียนในเศรษฐกิจหลายรอบและรัฐบาลได้คืนมาในรูปภาษี”
“รัฐบาลจะให้ความสำคัญกับเสถียรภาพทางการคลัง โดยพิจารณาใช้จ่ายจากเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ ทั้งในส่วนของเงินกู้และการให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุน”
วันที่ 3 ตุลาคม 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
ซึ่งระหว่างนั้นเริ่มมี “นักร้อง” ไปยื่นร้องต่อองค์กรอิสระให้ตรวจสอบโครงการดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายวินัยการเงินการคลังของรัฐหรือไม่ โดยร้องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการการเลือกตั้ง
ต่อมา ป.ป.ช.ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อให้ข้อเสนอแนะโครงการดิจิทัลวอลเลตต่อรัฐบาล
วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 คณะกรรมการนโยบายฯ มีข้อสรุปว่า จะใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวน 6 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเลต 5 แสนล้านบาท รัฐบาลมีแผนตั้งงบประมาณเพื่อจ่ายคืนเงินกู้ตลอดระยะเวลา 4 ปี และ 1 แสนล้านบาทจะใช้ในกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-curve)
กลุ่มเป้าหมาย ที่จะได้รับเงินคือผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่รายได้ไม่ถึง 7 หมื่นบาทต่อเดือน และมีเงินฝากต่ำกว่า 5 แสนบาท ถ้ารายได้เกิน 7 หมื่นบาท แต่มีเงินฝากน้อยกว่า 5 แสนบาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิ หรือถ้ารายได้น้อยกว่า 7 หมื่นบาท แต่มีเงินฝากมากกว่า 5 แสนบาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิเช่นกัน โดยให้สิทธิใช้ครั้งแรกในเวลา 6 เดือน หลังจากโครงการเริ่ม และขยายพื้นที่การใช้จ่ายให้ครอบคลุมระดับอำเภอ โดยเริ่มแจกในเดือนพฤษภาคม
ทว่า ในการประชุมวันดังกล่าวได้มีข้อทักท้วงจากธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึง คณะกรรมการกฤษฎีกา รัฐบาลจึงต้องสอบถามไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ช่วยพิจารณา “ข้อกฎหมาย” ว่ารัฐบาลจะออกกฎหมายเพื่อเป็น “ใบเบิกทาง” สำหรับการกู้เงิน 5 แสนล้านนั้น ทำได้-ไม่ได้
8 มกราคม 2567 จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า ได้รับคำตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมีข้อสังเกตบางข้อ เช่น การออก พ.ร.บ.กู้เงิน จะต้องเป็นไปตามมาตรา 53 และมาตรา 57 ภายใต้ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง จะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน
16 มกราคม 2567 การประชุมคณะกรรมการนโยบายฯ ชุดใหญ่ ต้องเลื่อนออกไปกะทันหันและเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากรัฐบาลทราบข่าวว่า ป.ป.ช.เตรียมส่งหนังสือทักท้วงโครงการดิจิทัลวอลเลตมาถึงรัฐบาล โดยเฉพาะการ “กู้เงิน 5 แสนล้าน” จึงต้องชะลอออกไปเพื่อรอพิจารณาความเห็นจาก ป.ป.ช.
15 กุมภาพันธ์ 2567 คณะกรรมการนโยบายฯ ประชุมครั้งที่ 1/2567 มีมติตั้งอนุกรรมการ 2 คณะ ได้แก่ 1.คณะอนุกรรมการเพื่อป้องกันการผิดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ของโครงการ 2.คณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงและความคิดเห็นด้านต่าง ๆ มีกำหนด 30 วัน
22 มีนาคม 2567 สภาผ่านกฎหมายงบประมาณ 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท ด้วยคะแนน 298 ต่อ 166 เสียง งดออกเสียง 1 ไม่ออกเสียง 1 เสียง
25 มีนาคม 2567 จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เผยไทม์ไลน์สำคัญ ยืนยันเดินหน้าโครงการ และไตรมาส 3 จะลงทะเบียนร้านค้าและประชาชน ไตรมาส 4 เงินถึงมือประชาชน
27 มีนาคม 2567 คณะกรรมการนโยบายฯ ประชุมครั้งที่ 2/2567 ถึงจุดเปลี่ยน การออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้าน เป็นไปไม่ได้แล้วในเวลานี้