คำแถลงชี้ขาดจากทำเนียบรัฐบาล ล่าสุด ส่งผลต่ออนาคตของ 2 นายพล ที่ขับเคี่ยวกันมาอย่างยาวนาน ถึงจุดเกือบอวสาน พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ คืนตำแหน่ง ผบ.ตร.ก่อนเกษียณอายุราชการปีนี้ ส่วน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ออกจากราชการไว้ก่อน เหลือชีวิตราชการอีก 8 ปี
วันที่ 20 มิถุนายน 2567 นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน แถลงผลการสอบสวน พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ที่ถูกย้ายเข้าทำเนียบรัฐบาลพร้อมกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล และถูกตั้งกรรมการสอบสวน ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2567
กรณี พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ นายวิษณุสรุปว่า “ผลสอบชี้ว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ควรกลับไปปฏิบัติราชการในตำแหน่งหน้าที่เดิม เนื่องจากในตอนนี้ไม่มีอะไรสอบสวนแล้ว แต่คำสั่งนี้ยังไม่มีผลจนกว่านายกรัฐมนตรีจะลงนาม”
ส่วนกรณี พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ นายวิษณุสรุปว่า “พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ได้รับคำสั่งให้กลับสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้วเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2567 ในตำแหน่งและหน้าที่เดิม แต่วันเดียวกันก็มีการตั้งคณะกรรมการอีกชุดหนึ่งเพื่อสอบสวนทางวินัย และคำสั่งให้ออกจากราชการไว้ก่อน ซึ่งทางคณะกรรมการกฤษฎีกามีมติ 10 ต่อ 0 มีความเห็นว่าคำสั่งดังกล่าวกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ดังนั้น สถานภาพของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์จึงยังไม่ได้นำขึ้นกราบบังคมทูลฯ และต้องรอผลสอบของคณะกรรมการสอบสวนก่อน”
คดี-ที่มาของการเด้ง 2 นายพลตำรวจ เข้าทำเนียบ
คณะกรรมการสอบสวน ที่แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี สรุปคดีสำคัญที่เกี่ยวพันกับ 2 พลตำรวจเอก ไว้ดังนี้
• คดี 140 ล้านบาท หรือคดีเป้รักผู้การเท่าไหร่
• คดีกำนันนก
• คดีเว็บไซต์พนันออนไลน์ มินนี่ และ BNK MASTER
• คดีแยกย่อยอื่น ๆ อีก 10 คดี กระจายอยู่ตามสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศาล และองค์กรอิสระ
คดีทั้งหมดมีเจ้าของคดีรับดำเนินการอยู่แล้วทั้งสิ้น ไม่มีคดีตกค้างอยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยคดีใดที่องค์กรอิสระเป็นผู้รับผิดชอบ เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทางองค์กรนั้นก็รับไปดำเนินการแล้ว
2 นายพล คู่แข่งขึ้นสู่เส้นทาง ผบ.ตร.
ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 กำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะมาเป็น ผบ.ตร. ต้องเป็นข้าราชการตำรวจยศ “พลตำรวจเอก” ที่ดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) หรือรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) และพิจารณาจากจากความอาวุโสและความรู้ ความสามารถ โดยเฉพาะประสบการณ์ในงานสืบสวนสอบสวนหรืองานป้องกันปราบปราม
แน่นอนว่า 2 พลตำรวจเอกที่ติดโผขึ้นดำรงตำแหน่งคือ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. เกษียณอายุราชการ ปี 2567
และ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เกษียณอายุราชการ ปี 2574 ซึ่งในที่สุด คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) มีมติแต่งตั้ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนที่ 14 ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2566
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล 25 ปีขึ้นเป็น ผบ.ตร.
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ นับว่ามีลำดับอาวุโสน้อยที่สุด ในบรรดาแคนดิเดต ผบ.ตร. และเหลืออายุราชการที่จะเกษียณในปี 2567 มีเส้นทางอาชีพที่ถือว่าไม่ยากเย็นนัก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เรียกตัวเองกับสื่อว่า “พี่ต่อ” พื้นเพเป็นคน จ.เพชรบุรี สมรสกับ นิภาพรรณ สุขวิมล มีชื่อเล่นว่า กุ๊กไก่ มีลูกสาว 2 คน คือน้องลูกตาว และลูกตาล
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ เป็นน้องชาย พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล เลขาธิการพระราชวัง ผู้อำนวยการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ประธานกรรมการในคณะกรรมการอำนวยการโครงการจิตอาสาพระราชทาน 904
เขาเรียนจบมัธยมปลายที่โรงเรียนโยธินบูรณะ และจบปริญญาตรีรัฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อจบมาได้เข้าทำงานที่บริษัทน้ำมันคาลเท็กซ์ 7 ปี ก่อนลาออกเพื่อเข้าสู่ชีวิตตำรวจ โดยไม่ได้เรียนจบมาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เข้ารับราชการตำรวจในวัย 33 ปี ด้วยวิธีการสมัครเป็นข้าราชการตำรวจสัญญาบัตร ในปี 2541 จากการเป็นสายตรวจท่องเที่ยว
จากนั้นขึ้นเป็นสารวัตรกองกำกับการสายตรวจปฏิบัติการพิเศษ 191 เป็นผู้กำกับในกองปราบฯ หลังจากนั้นขึ้นเป็นผู้บังคับการกองบังคับการถวายความปลอดภัยและปฏิบัติการพิเศษ ต่อมาหน่วยนี้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 และเปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น “กองบังคับการปฏิบัติการพิเศษ”
พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ไต่บันไดตำแหน่งในเส้นทางตำรวจ กระทั่งขึ้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. ในปี 2564 พร้อมกับ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ก่อนขึ้นเป็น รอง ผบ.ตร. พร้อมกันอีกครั้งในปี 2565 ใช้เวลา 25 ปี ก่อนขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล อีก 8 ปีเกษียณ
เส้นทางสายตำรวจของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล เป็นคน จ.สงขลา บุตรของนายดาบตำรวจไสว และนางสุมิตรา หักพาล พ่อของเขาเป็น ผบ.หมู่ อยู่หน่วยพลาธิการ กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 เป็นที่รับรู้กันในวงการสีกากีว่า นายดาบตำรวจไสว นั้น มีความใกล้ชิดกับผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 หลายต่อหลายคน และคนที่สำคัญคือ พล.ต.ท.เสมอ ดามาพงศ์ บิดาของคุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ เข้าโรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 31 ก่อนเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 47 ขึ้นตำแหน่งผู้หมวดตั้งแต่อายุ 23 ปีเศษ เริ่มเป็นพนักงานสอบสวนในนครบาล 2 ปี จากนั้น รับตำแหน่งสารวัตรที่กองวินัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โยกย้ายขยับตำแหน่งไปยังหลายหน่วย
พล.ต.อ.สุรเชษฐ์เคยเป็นนายเวรนายตำรวจราชสำนักประจำ ผู้กำกับการ 3 กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ผู้กำกับการอำนวยการ 10 กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล ผู้กำกับการ สภ.หาดใหญ่ จ.สงขลา บ้านเกิด และขึ้นเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา
หลังรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ ขยับจากรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ขึ้นรักษาการตำแหน่งผู้บังคับการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำหน้าที่ประสานงานนายกรัฐมนตรี ถือว่าเป็นนายตำรวจที่ใกล้ชิด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในเวลานั้น ที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.)
จากนั้น เขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว ในเดือน ต.ค. 2558 สร้างผลงานและชื่อเสียงอยู่ที่กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยวเพียง 1 ปี แล้วย้ายกลับมาที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ในตำแหน่งผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ หรือ 191 พรวดขึ้นตำแหน่งรักษาการรองผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว อย่างรวดเร็ว หลังมีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการขึ้นใหม่ กระทั่งได้ขึ้นเป็นผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในปี 2561
ไม่นานเขาได้รับคำสั่งจาก พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ขณะนั้น สั่งย้ายเขาไปประจำ ตร. โดยให้ขาดตำแหน่งเดิม แล้วมีคำสั่งถัดมาโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช. ก็ใช้อำนาจตามมาตรา 44 โอนไปเป็นที่ปรึกษาพิเศษ ประจำปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และถูกขึ้นบัญชีบุคคลต้องได้รับการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน
ช่วงที่ถือว่าขาลงของเขา ถูกตำรวจกันเองบุกค้นบ้านพักหลายแห่ง แต่ผ่านไป 2 ปี มีคำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โอนให้กลับไปเป็นที่ปรึกษา สบ 9 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เทียบผู้ช่วย ผบ.ตร. ที่เปิดเป็นตำแหน่งเฉพาะตัวให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล
2 ปีที่ผ่านมา นับแต่ 1 ต.ค. 2564 พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ รั้งตำแหน่งหลักผู้ช่วย ผบ.ตร. และขยับขึ้นเป็น รอง ผบ.ตร. ในปี 2565 สร้างผลงานคดีค้ามนุษย์หลายคดี รวมทั้งปฏิบัติการทลายเครือข่ายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ข้ามชาติ ปราบเงินกู้นอกระบบ ทลายเครือข่ายทุนจีนสีเทา
ถูกเด้งเข้าทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ และล่าสุด พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ พ้นมลทินจากการสอบที่ทำเนียบรัฐบาล โดย นายวิษณุ เครืองาม ระบุว่า “ไม่มีอะไรต้องสอบสวนแล้ว”
ส่วน พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล ซึ่งจะเกษียณอายุราชการ ในปี 2574 นายวิษณุระบุสถานภาพว่า “ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างรอนำความกราบบังคมทูลฯ ซึ่งการจะนำความกราบบังคมทูลฯ ให้ออกจากราชการไปก่อนนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี จะต้องมีการตรวจสอบว่าได้ทำถูกต้องตามระเบียบขั้นตอนของกฎหมายหรือไม่”