
ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ ยุบพรรคก้าวไกล ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค 10 ปี
วันที่ 7 สิงหาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกนั่งบัลลังก์ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรค และห้ามมิให้ผู้ซึ่งดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารพรรคและถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือมีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ภายในกำหนด 10 ปี
ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติเอกฉันท์ยุบพรรคก้าวไกล เนื่องจากฝ่าฝืนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 วรรคหนึ่ง (1) (2) และเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ระหว่าง 25 มีนาคม 2564-31 มกราคม 2567 เป็นเวลา 10 ปี นับแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรค
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คดีนี้ศาลรัฐธรรมนูญใช้เวลาในการพิจารณากว่า 5 เดือน นับแต่มีคำสั่งรับคำร้องจาก กกต.ไว้พิจารณาวินิจฉัยเมื่อวันที่ 3 เม.ย. 67 โดยศาลไม่เปิดการไต่สวนตามที่พรรคก้าวไกลพยายามร้องขอ แต่ใช้วิธีรวบรวมพยานหลักฐาน โดยให้ผู้เกี่ยวข้องยื่นคำชี้แจง
ในส่วนของพรรคก้าวไกล ศาลได้มีคำสั่งให้ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา โดยพรรคก้าวไกลยื่นบัญชีพยานไว้ทั้งหมด 11 ปาก เป็นนักวิชาการด้านกฎหมาย, สส., รวมถึง ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตที่ปรึกษากฎหมายของ กกต.
โดยพรรคก้าวไกล ได้ยื่นข้อต่อสู้จำนวน 9 ข้อ ดังนี้
เขตอำนาจและกระบวนการ
1.โดยศาลรัฐธรรมนูญไม่มีเขตอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีนี้
2.กระบวนการยื่นคำร้องของ กกต. “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
ข้อเท็จจริง
3.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 31 มกราคม 67 ไม่ผูกพันการวินิจฉัยคดีนี้
4.การกระทำที่ถูกกล่าวหา ไม่ล้มล้าง ไม่อาจเป็นปฏิปักษ์
5.การกระทำตามคำวินิจฉัยเมื่อ 31 มกราคม 67 ไม่ได้เป็นมติพรรค
สัดส่วนโทษ
6.โทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้าย เมื่อจำเป็น ฉุกเฉิน ฉับพลัน และไม่มีวิธีแก้ไขอื่น
7.ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค
8.จำนวนปีในการตัดสิทธิทางการเมือง ต้องได้สัดส่วนกับความผิด
9.การพิจารณาโทษ ต้องสอดคล้องกับชุดกรรมการบริหารพรรคในช่วงที่ถูกกล่าวหา
ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งขยายระยะเวลาการยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาตามที่พรรคก้าวไกลขอจำนวน 3 ครั้ง รวมระยะเวลาจัดทำคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา 60 วัน และศาลได้ให้คู่กรณีพยานหลักฐานเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ก่อนที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 17 กรกฎาคม เห็นว่าคดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายมีพยานหลักฐานเพียงพอให้วินิจฉัยได้ จึงสั่งยุติการไต่สวน แล้วให้โอกาสคู่กรณียื่นคำแถลงผิดคดีภายในวันที่ 24 กรกฎาคม และนัดคู่กรณีฟังคำวินิจฉัยวันนี้
ตัดสิทธิ 10 ปี
คณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล ที่ถูกตัดสิทธิ 10 ปี คือ กรรมการบริหารพรรคตั้งแต่ 25 มีนาคม 2564-31 มกราคม 2567 มีดังนี้
1.พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ปัจจุบันเป็นประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค 2.ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรค 3.ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรค 4.ณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค 5.ปดิพัทธ์ สันติภาดา กก.บห.สัดส่วนภาคเหนือ (ปัจจุบันย้ายไปสังกัดพรรคเป็นธรรม) 6.สมชาย ฝั่งชลจิตร กก.บห.สัดส่วนภาคใต้
7.อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กก.บห.สัดส่วนภาคกลาง 8.อภิชาต ศิริสุนทร กก.บห.สัดส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันเป็นเลขาธิการพรรค 9.เบญจา แสงจันทร์ กก.บห.สัดส่วนภาคตะวันออก 10.สุเทพ อู่อ้น กก.บห.สัดส่วนปีกแรงงาน 11.อภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ กก.บห.
แต่คนที่มีสถานะเป็น สส.ในปัจจุบัน ประกอบด้วย สส.บัญชีรายชื่อ 5 คน คือ พิธา, ชัยธวัช, น.ส.เบญจา แสงจันทร์, สุเทพ อู่อ้น, อภิชาต ศิริสุนทร และ สส.เขต 1 คน คือ ปดิพัทธ์ สันติภาดา สส.พิษณุโลก ซึ่งถูกขับพ้นพรรคและปัจจุบันสังกัดพรรคเป็นธรรม
อนาคต สส.ก้าวไกล
ส่วนของ สส.บัญชีรายชื่อก็จะไม่มีการเลื่อนบัญชีขึ้นมาทดแทน เนื่องจากบัญชีหายไปจากการถูกยุบพรรค ทำให้จำนวน สส.ของพรรคก้าวไกลจากที่มีเสียงในสภาปัจจุบันรวม 148 คน จะเหลือ 143 คน ซึ่งต้องหาพรรคการเมืองสังกัดใหม่ภายใน 60 วัน รวมถึงต้องมีการจัดการเลือกตั้งซ่อม สส.เขต 1 พิษณุโลก แทนนายปดิพัทธ์