
คอลัมน์ : Politics policy people forum
เมื่อ 18 ปีก่อน ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ถูกรัฐประหารข้ามโลก โดยผู้นำที่ชื่อ “พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” ผู้บัญชาการทหารบก ในนามคณะปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.)
เวลานั้น “ทักษิณ” อยู่ระหว่างการร่วมประชุมสหประชาชาติที่สหรัฐอเมริกา
18 ปี ต่อมา นายกรัฐมนตรีของไทยคนที่ 31 คือ แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนเล็กของ “ทักษิณ” เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกในทำเนียบรัฐบาล 2 วันก่อนวันครบรอบ 18 ปีคืนยะเยือก
พลิกจากผู้แพ้เมื่อ 18 ปีก่อน กลายมาเป็นผู้ชนะอย่างเบ็ดเสร็จ เพราะศัตรูคู่แค้นการเมืองตลอด 2 ทศวรรษ กลายมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล สวนทางขุมกำลังการยึดอำนาจเมื่อ 18 ปีที่แล้ว กำลังถูกปิดฉาก
เส้นทางคืนอำนาจเพื่อไทย
นับแต่วันยึดอำนาจปี 2549 เครือข่ายทักษิณ ได้กำเนิดพรรคการเมือง ที่ใช้เป็นพาหนะเพื่อเดินทางไปสู่ชัยชนะถึง 3 พรรค ได้แก่ พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ
ทว่าถูกยุบไป 2 พรรค คือ พรรคพลังประชาชน ถูกยุบพรรคเมื่อ 2 ธันวาคม 2551 และพรรคไทยรักษาชาติ ถูกยุบเมื่อ 7 เมษายน 2562
กลับกันพรรคเครือข่ายทักษิณ ได้รับชัยชนะเลือกตั้ง 3 ครั้ง จาก 4 ครั้งหลังสุด และเป็นรัฐบาล 3 ครั้ง
ครั้งแรก รัฐบาลพรรคพลังประชาชน ชนะเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550 มีนายกรัฐมนตรี 2 คน ชื่อ สมัคร สุนเทรเวช และ สมชาย วงศ์สวัสดิ์
ครั้งสอง พรรคเพื่อไทย ชนะเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554 มีนายกฯชื่อ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ครั้งสาม พรรคเพื่อไทย ชนะเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 แต่ได้เป็นแค่ฝ่ายค้าน เมื่อพรรคพลังประชารัฐรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้มากกว่า
ครั้งที่สี่ 14 พฤษภาคม 2566 พรรคเพื่อไทยได้ สส.เป็นอันดับสอง แต่กลายเป็นว่าพรรคก้าวไกลที่ชนะเลือกตั้ง ได้ สส.อันดับหนึ่ง ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้
พรรคเพื่อไทย จึงรวบรวมเสียงพรรคการเมืองจัดตั้งรัฐบาลแทน จนถึงปัจจุบันมีนายกฯ 2 คน เศรษฐา ทวีสิน และ แพทองธาร ชินวัตร
ขณะเดียวกัน นอกจากใช้กลยุทธ์พรรคการเมือง ยังควบคู่กับยุทธศาสตร์เดินเกมบนท้องถนนภายใต้ “แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ” หรือ นปช. ผ่านเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ที่ลากยาวเป็นเดือน 2 ครั้ง คือ เมษายน 2552 กับมีนาคม-พฤษภาคม 2553
มีความพยายามเดินหน้าการ “ปรองดอง-นิรโทษกรรม” ผ่านการออกกฎหมาย 2 ครั้ง ครั้งแรก พ.ร.บ.ปรองดอง มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ที่ผันตัวมาเป็น “นักการเมือง” หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ นำเสนอกฎหมายดังกล่าว แต่ก็กลายเป็นวาระค้างในสภา เพราะโดนต่อต้านอย่างหนักจากพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงกระแสคัดค้านนอกสภา
มีความพยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรม ซึ่งครั้งแรกเป็นแนวคิดนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ชุมนุม ไม่รวม “แกนนำและผู้สั่งการ” สุดท้ายกลับเลือกนิรโทษกรรมสุดซอย กลายเป็นการเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กำเนิดกลุ่ม กปปส. นำมาสู่เหตุการณ์ยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม 2557
อย่างไรก็ตาม “ทักษิณ” กลับเข้าประเทศ 22 สิงหาคม 2567 ต่อมาได้รับการพระราชทานอภัยโทษ
สลายขั้ว ทำลายฝ่ายแค้น
แม้ว่าพรรคการเมืองของเครือข่ายทักษิณ ถูกยุบพรรคไป 2 ครั้ง แต่ก็เป็นยักษ์ที่ฆ่าไม่ตาย และแม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บวก รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าครอบครองอำนาจยาวนานถึง 9 ปี
แต่สำหรับการเมือง ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร พรรคเพื่อไทย สามารถจัดตั้งรัฐบาล “สลายขั้ว” จับมือพรรคการเมืองใหญ่ 2 ลุง คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคพลังประชารัฐ
บวกเข้ากับพรรคตัวแปรอย่าง พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา แตะมือกับพรรคประชาธิปัตย์ไว้หลวม ๆ แล้วจัดตั้งรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน
กระทั่งรัฐบาลเศรษฐา ประสบอุบัติเหตุ ต้องมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่อีกครั้ง มี แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกฯ
ในการโหวตให้ “แพทองธาร” เป็นนายกฯ นอกจากได้เสียงสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาลเดิมในรัฐบาลเศรษฐา
ยังได้เสียงของพรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง ทั้งที่พรรคไทยสร้างไทยอยู่ในขั้วฝ่ายค้าน และหัวขบวนก็เป็นคู่ปรับกับผู้มีอำนาจในเพื่อไทย แต่พรรคเพื่อไทยสามารถดึงมาได้ 6 เสียง ยกมือโหวตให้ “แพทองธาร”
ขณะเดียวกัน พรรคเพื่อไทยยังได้เสียงสนับสนุนจากพรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง ทั้งที่อีกครึ่งจำนวน 20 เสียงกำลังก่อกบฏ
สุดท้าย ส่วนผสมของรัฐบาลแพทองธาร เป็นการเมืองที่ยิ่งกว่าสลายขั้ว-ลงตัวยิ่งกว่ารัฐบาลเศรษฐา เพราะสามารถดึงพรรคประชาธิปัตย์ 21 เสียง มาร่วมรัฐบาล แล้วเขี่ย 20 เสียง พรรคพลังประชารัฐ ซีก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ตั้งตัวเป็นศัตรูกับพรรคเพื่อไทย ให้ไปเป็นฝ่ายค้านแทน ปิดเกมบ้านป่า…เมื่อเกมอำนาจไม่ลงตัว
ปิดฉากบ้านป่า
ย้อนไปช่วงที่ “ทักษิณ” เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แต่งตั้ง “พล.อ.ประวิตร” เป็นผู้บัญชาการทหารบก และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความแค้นที่ถูกปิดเกมในวันนี้
เพราะ “พล.อ.ประวิตร” เป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่ฉุด “พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน” นักรบหมวกแดง “สายรบพิเศษ” ขึ้นดํารงตําแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 6 ทั้งที่อยู่นอกไลน์อำนาจ
ขณะเดียวกัน ภายหลัง “พล.อ.ประวิตร” ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. ได้ดึง พล.อ.อนุพงษ์ จากตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) มาเป็นผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์ (พล.ร.1 รอ.)
ก่อนที่ พล.อ.อนุพงษ์ เตรียมทหารรุ่น 10 รุ่นเดียวกับ “ทักษิณ” จะก้าวขึ้นสู่การเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 คุมกำลังยึดอำนาจในเมืองหลวง และก่อนเกษียณอายุราชการ “พล.อ.ประวิตร” ได้ดึง ป.ที่ 3 คือ “พล.อ.ประยุทธ์” จาก พล.ร.2 รอ. มาเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1
นี่คือจุดกำเนิด “กลุ่มบูรพาพยัคฆ์” เป็นกองกำลังสำคัญในค่ำคืนปฏิวัติ 19 กันยายน 2549
หลังการยึดอำนาจ พล.อ.สนธิต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ หาคนที่มาสืบทอดตำแหน่ง ผบ.ทบ. แทนตัวเอง
“พล.อ.สนธิ” ตัดสินใจส่งไม้ต่อให้ พล.อ.อนุพงษ์ แห่งเตรียมทหารรุ่น 10 น้องรัก “พล.อ.ประวิตร” ได้เป็น ผบ.ทบ. สานต่อบูรพาพยัคฆ์-ทหารเสือราชินี
เมื่อ พล.อ.อนุพงษ์ ก้าวขึ้นเป็น ผบ.ทบ. ก็ดึงรุ่นน้อง ป.ประยุทธ์ เข้าอยู่ในไลน์อำนาจ และสืบทอดตำแหน่งกระทั่งเกิดการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557
10 ปีต่อมา อำนาจกลับกลาย 3 ป.เหลือ ป.เดียวที่พยายามยื้ออำนาจไว้ จึงถูกปิดเกม