Entertainment Complex ถือเป็นหนึ่งนโยบาย และเมกะโปรเจ็กต์การหารายได้เข้าประเทศของรัฐบาล ความคืบหน้าล่าสุด กระทรวงการคลัง เตรียมนำผลการรับฟังความคิดเห็น ‘ร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. ….’ เสนอสู่การพิจารณาต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แม่งานใหญ่อย่าง จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง มั่นใจจะสามารถชงให้ ครม. ภายในปีนี้อย่างแน่นอน ก่อนดำเนินการในขั้นต่อไป
แต่ก่อนถึงขั้นตอนต่อไปที่ยังต้องรอกลไกรัฐบาล จะพาไปเปิดรายละเอียดคร่าว ๆ ของ ร่าง พ.ร.บ.ธุรกิจสถานบันเทิงฯ ฉบับนี้ หน้าตาและข้อกำหนดเป็นอย่างไร
เนื้อในร่าง กม.เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
สำหรับข้อกำหนดหมวด 1 ให้การดำเนินการต่าง ๆ ต้องอยู่ภายใต้การบริหารของบอร์ดใหญ่ ที่มีชื่อว่า ‘คณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร’ ทั้งหมด 17 คน โดยมี นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานฯ รองนายกรัฐมนตรี ที่นายกฯ มอบหมายเป็นรองประธานฯ
และคณะกรรมการสัดส่วนข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ และผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มีความรู้ความสามารถด้านเศรษฐศาสตร์ การบริหารธุรกิจ กฎหมายหรือสังคม อีก 15 คน รวม 17 คน เพื่อมากำกับภาพใหญ่ทำหน้าที่วางหลักเกณฑ์ แนวบริหารธุรกิจต่าง ๆ ที่รวมถึงกาสิโนด้วย
นอกจากนั้น จะมีคณะกรรมการ อนุกรรมการ รวมถึงหน่วยงานย่อย ๆ ในการบริหารอีกอาทิ คณะกรรมการบริหาร สำนักงานกำกับการประกอบสถานบันเทิงครบวงจร (ให้มีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพฯ และจะตั้งสาขาหรือตัวแทนที่อื่นใดตามความจำเป็น)
ขณะที่การอนุญาตให้ประกอบสถานบันเทิงครบวงจร ต้องตั้งอยู่ในเขตที่กำหนด (เบื้องต้นคาดว่าจะให้อยู่ในจังหวัดศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการเดินทาง อย่างกรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต เชียงใหม่)
แต่ข้อกำหนดประเภทธุรกิจ ภายในสถานบันเทิงครบวงจรฯ ตามบัญชีแนบท้ายคือ 1.ห้างสรรพสินค้า 2.โรงแรม 3.ร้านอาหาร ไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับหรือบาร์ 4.สนามกีฬา 5.ยอร์ชและครูซซิ่งคลับ 6.สถานที่เล่นเกม 7.สระว่ายน้ำและสวนน้ำ 8.สวนสนุก 9.พื้นที่สำหรับส่งเสริมวัฒนธรรมไทย และสินค้า OTOP 10.กิจการอื่น ๆ ตามที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด
รัฐบาล เชื่อจะเป็นเครื่องจักรใหญ่เติมเงินเข้าประเทศ
รมช.คลัง ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า โครงการนี้อาจจะดึงนักท่องเที่ยวให้มาไทย เพิ่มขึ้น 5-20%และช่วยเพิ่มรายได้ต่อหัวนักท่องเที่ยวต่างชาติจากเดิม 40,000 บาทต่อคน ไปถึงประมาณ 60,000 บาทต่อคน
ส่วนอายุสัมปทานโครงการจะมีใบอนุญาต 30 ปี สามารถต่ออายุได้คราวละ 10 ปี โดยมีค่าใบอนุญาตใบละ 5,000 ล้านบาท และมีค่ารายปีอีก 1,000 ล้านบาทต่อปี
ทั้งนี้คาดว่าโครงการจะดึงเม็ดเงินการลงทุนได้มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาทต่อแห่ง และสร้างรายได้อื่น ๆ รวม 4-5 หมื่นล้านบาทต่อปี
สรวงศ์ เทียนทอง รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา เชื่อว่า เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ จะเป็นตัวสำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และอยากให้ภาคเอกชนช่วยกัน เพราะโครงการนี้จะสร้างผลประโยชน์ให้เกิดกับประเทศล้วน ๆ ส่วนข้อกังวลเรื่องกาสิโน มีเพียง 10% แต่โครงสร้างภายในอีก 90% ใหญ่ ๆ คือห้างสรรพสินค้า สวนสนุก สนามกีฬา สถานที่จัดงานขนาดใหญ่ เป็นต้น
เอกชนตื่นตัวสนใจลงทุน
แม้โครงการใหญ่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง แต่ขณะนี้มีเอกชนใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ประกาศเสนอตัวสนใจร่วมลงทุนหลายราย ประกอบด้วย กลุ่มสนามม้านางเลิ้ง ราชตฤณมัยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ,กลุ่มบริษัท สยามพาร์คซิตี้ (กลุ่มสวนสยาม), บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (ผู้รับสัมปทานพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก), กลุ่มเดอะมอลล์, บริษัท พราว กรุ๊ป จำกัด ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เชิงท่องเที่ยว, บริษัท อิมแพ็คเอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด (อิมแพ็ค เมืองทองธานี) เป็นต้น
นอกจากนี้ มีรายงานว่ามีหลายกลุ่มทุนต่างชาติ ที่ปรากฏความเคลื่อนไหวก็ให้ความสนใจ
แต่อย่างไรต้องติดตามดูความชัดเจน ภายหลังร่างกฎหมายฉบับนี้ เมื่อถึงมือ ครม. จะมีทิศทางอย่างไรต่อไป