เอกชนหนุน 5 นโยบาย “อิ๊งค์” ดีเดย์ปี’68 บ้านคนไทย-แก้หนี้

แพทองธาร ชินวัตร
แพทองธาร ชินวัตร

ภาคธุรกิจ-นักวิชาการหนุนนโยบายรัฐบาลแพทองธาร หลังแถลงผลงาน 3 เดือน และชูแผนพัฒนาประเทศปี 2568 “ทักษิณ” ชี้บ้านคนไทยช่วยยกระดับความเป็นอยู่และขับเคลื่อนสังคม เช่นเดียวกับภาคอสังหาฯ ชูมือหนุน ขณะที่ประธานกรรมการหอการค้าไทยชมนายกฯ ตั้งใจทำงานในช่วงที่ผ่านมา และฝากการบ้านกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้า ส่วน ม.หอการค้าฯ ให้คะแนนความตั้งใจได้ A หวังเพิ่มศักยภาพหนีคู่แข่งไปอีก ส่วน ส.อ.ท.ชูผลงานเด่นสานงานต่อจากสมัย “เศรษฐา ทวีสิน” ดึงต่างชาติมาลงทุนแล้วกว่า 7.2 แสนล้านบาท

หลังจาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการแถลงผลการดำเนินงานของรัฐบาลรอบ 3 เดือน ภายใต้ชื่อ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง” : 2025 Empowering Thais : A Real Possibility และมอบนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน พร้อมชูนโยบายระยะยาว ที่ต้องทำในเชิงโครงสร้าง 6 นโยบาย อาทิ การจัดการน้ำท่วม-น้ำแล้ง, การแก้ปัญหาหมอกควัน PM 2.5, ปัญหายาเสพติด ฯลฯ

รวมถึงสิ่งที่รัฐบาลจะทำในปี 2568 มอบหมายให้รองนายกฯ รับไปดำเนินการ 5 นโยบายคือ โครงการ SML, หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน, ดิจิทัลวอลเลต, การแก้หนี้ครัวเรือน และบ้านเพื่อคนไทย ส่วนการลงทุนในธุรกิจในอนาคตหรือ AI โดยประเทศไทยจะต้องเป็น AI ฮับของภูมิภาค โดยดึง Google และ Microsoft เข้ามานั้น

“ทักษิณ” หนุนช่วยคนมีบ้าน

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ระหว่างร่วมคณะนายกรัฐมนตรี เดินทางไปสัมมนาที่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถึงการแถลงผลงาน 90 วันของรัฐบาลว่า น.ส.แพทองธารพูดกับประชาชนว่าได้ทำอะไรไปบ้างแล้ว ทุกอย่างกำลังจะเสร็จ และปีหน้าให้ประชาชนคาดหวังว่าเราจะทำอะไรต่อ โดยเฉพาะการพลิกฟื้นเศรษฐกิจที่รัฐจะต้องทำภายใต้ข้อจำกัด และวันนี้จะไปพูดสิ่งที่ได้คุยกับนายกฯ ไว้ และพรรคจะได้เข้าใจเรื่องทางวิชาการมากขึ้น

“ยอมรับว่านโยบายบางอย่างเป็นนโยบายที่เคยทำไว้ในสมัยที่ผมเป็นนายกฯ และนำมาต่อยอด และยังเป็นนโยบายที่ยังใช้ได้ดี เช่น เรื่องบ้านคนไทย ทุกคนต้องมีบ้าน ที่เป็นปัจจัยสี่และอยู่อาศัยเป็นหัวใจสำคัญ ถ้าคนยากจนอยู่ในสลัม เขาฝันแค่ว่าพรุ่งนี้จะมีกินหรือไม่ เขาไม่กล้าฝันไปไกลขนาดนั้น แต่ถ้าเขาอยู่ในบ้านที่สะอาด ปลอดภัย เขาจะเริ่มฝันว่าจะสร้างอนาคตให้กับลูกอย่างไร ความฝันเป็นตัวขับเคลื่อนสังคม ต้องทำให้คนไทยได้ฝันในสิ่งที่สูงขึ้น”

อสังหาฯขานรับบ้านเพื่อคนไทย

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า วิกฤตเศรษฐกิจปีนี้โจทย์หินที่สุดอาจไม่ได้เลวร้าย แต่แก้ยากที่สุดก็คือปัญหากลุ่มรากหญ้า ตอนนี้รัฐบาลมีความชัดเจนในการปรับโครงสร้างหนี้ในส่วนของหนี้ครัวเรือน โดยที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของกำลังซื้อกลุ่มรากหญ้าอยู่ที่ 7% กว่า ๆ ขณะที่โครงการบ้านเพื่อคนไทยเป็นนโยบายที่ช่วยให้คนไทยผู้มีรายได้น้อยและปานกลางจะได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง

ADVERTISMENT

“ภาคธุรกิจอสังหาฯ ขานรับบ้านเพื่อคนไทย ทำให้ผู้มีรายได้น้อยและปานกลางมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองได้จริง ๆ เป็นการใช้ศักยภาพเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ซึ่งก็คืออสังหาฯ เป็นเครื่องจักรกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งการเปิดสัญญาเช่า 99 ปี ประโยชน์สำคัญที่สุดแบงก์ปล่อยกู้ได้ 100-110% เทียบกับการเช่า 30 ปี ขอเงินกู้แบงก์จะปล่อยสินเชื่อแค่ 60% ต้องมีเงินดาวน์ 40% ทำให้ไม่สามารถกู้ซื้อบ้านได้”

ดังนั้น ในภาพรวม นอกจากผู้มีรายได้น้อยแล้ว ตลาดกลาง-บนก็ได้ด้วย เพราะต้นทุนอสังหาฯ คือที่ดิน ทำเลในเมืองไม่ขายขาด หรือขายโอนกรรมสิทธิ์ การมีสัญญาเช่า 99 ปีทำให้ปลดล็อกการทำธุรกิจ เพราะสามารถเช่าแล้วขอกู้ได้เหมือนที่ดินกรรมสิทธิ์

ADVERTISMENT

หอค้าชมรัฐบาลอิ้งค์ตั้งใจ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับภาพรวมการทำงานของรัฐบาล ภายใต้นางสาวแพทองธาร ช่วง 90 วันที่ผ่านมา หอการค้าไทยต้องชื่นชมความพยายามและความตั้งใจในการผลักดันนโยบายใหม่ ภายใต้ความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ และปัญหาความตึงเครียดของการเมืองและสงครามระหว่างประเทศ

หลายนโยบายรัฐบาลมาถูกทางและทำได้ดี อาทิ ด้านการท่องเที่ยว ผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ การแก้ปัญหาหนี้ภาคธุรกิจและหนี้ครัวเรือน ซึ่งมีผลต่อความเชื่อมั่นและกระตุ้นภาพลักษณ์ให้กับประเทศ

นอกจากนี้ การดึงดูดการลงทุน รัฐบาลสามารถดึงบิ๊กคอร์ป ยักษ์ใหญ่ของโลกในด้านเทคโนโลยีเข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้น โดยเฉพาะโครงการ Data Center, Cloud Service, อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์และชิ้นส่วน EV, เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้มีตัวเลขการเข้ามาลงทุนเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

อย่างไรก็ตาม หลายโครงการสำคัญยังขาดความชัดเจนในเรื่องเม็ดเงินลงทุน ขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก บางบริษัทมีการประกาศตัวเลขการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างชัดเจน

แนะต้องปฏิรูปดัน ศก.พ้นกับดัก

นายสนั่นกล่าวอีกว่า สิ่งเหล่านี้ไทยอาจจำเป็นต้องเร่งยกเครื่องดึงดูดการลงทุน การปรับปรุงมาตรการที่ดึงดูด ทั้งที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษี โดยเฉพาะการเร่งยกระดับศักยภาพของบุคลากรภายในประเทศ ซึ่งส่วนนี้ยังมองว่าเป็นโจทย์ใหญ่หากจำเป็นต้องแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีความได้เปรียบมากกว่า เช่น ประเทศเวียดนาม และมาเลเซีย

หอการค้ามองว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมี New Growth Engine (เครื่องจักรเศรษฐกิจใหม่) เพื่อผลักดันให้ไทยพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ซึ่งหากไม่ปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ ทั้งการแก้หนี้ การยกระดับคุณภาพการศึกษา และทักษะของแรงงาน การจัดการสังคมผู้สูงอายุ เสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมืองภายในประเทศ ซึ่งมีผลต่อความต่อเนื่องของนโยบายด้านเศรษฐกิจ อาจทำให้ไทยถูกมองข้ามจากการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านต่างเร่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน

ขอนโยบายกระตุ้น ศก.ปีหน้า

“สิ่งที่หอการค้าอยากฝากให้กับรัฐบาลได้พิจารณา เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้า 2568 คือการเร่งออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีความชัดเจน มาตรการส่งเสริมการลงทุน และการท่องเที่ยว ในจังหวัดที่มีศักยภาพ หรือจังหวัดที่เป็นเมืองรอง เพื่อกระจายรายได้และความเจริญให้ทั่วถึง ส่วนนี้จะลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น”

ประธานหอการค้าไทยกล่าว และว่า ขณะเดียวกัน โจทย์ใหญ่อย่างการแก้ไขปัญหาหนี้ก็จำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และพิจารณามาตรการเฉพาะหนี้แต่ละประเภท ซึ่งส่วนนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล สถาบันการเงิน หน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชน

ม.หอการค้าฯให้เกรด A ความตั้งใจ

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า การเดินหน้าการทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมา เห็นถึงความตั้งใจโดยยึดหลักจากนโยบายในการหาเสียง ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจให้กับประเทศ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายดิจิทัลวอลเลต หวยเกษียณ แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน รวมไปถึงการยกระดับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท เป็นสิ่งที่รัฐบาลเดินตามนโยบายที่มีการหาเสียงไว้และทำสัญญากับประชาชน

อย่างไรก็ดี ประเทศไทยมีปัญหาที่มีความซับซ้อน ทั้งสงครามการค้า ที่เศรษฐกิจไทยกำลังเจอปัญหา การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้า ปัญหาน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม การเติบโตทางเศรษฐกิจปัจจุบันมีการขยายตัวในระดับที่ดีขึ้น จากการพยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ

เร่งเพิ่มศักยภาพหนีคู่แข่งแซง

สิ่งที่นักวิชาการเห็นว่ารัฐบาลเดินหน้าเพื่อให้เศรษฐกิจไทยมีการขยายตัวเกิน 4% โดยสิ่งที่จะต้องเร่งเดินหน้า คือเพิ่มศักยภาพความสามารถในการแข่งขันของไทย เพราะต้องยอมรับว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยยังโตต่ำกว่าอาเซียน และมีแนวโน้มว่าสิงคโปร์มีโอกาสที่จะแซงประเทศไทย และถ้าไทยยังไม่สามารถเรียกความโดดเด่นกลับมาได้ จะเจอสถานการณ์ที่บริษัทนานาชาติไปลงทุนที่ต่างประเทศ รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องเพิ่มบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านไอที เอไอ เพื่อรองรับในอนาคตที่จะดึงดูดการลงทุน

“รัฐบาลมีผลงานด้านเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ประมาณ C+ ถือว่าให้ผ่าน เพราะเศรษฐกิจเริ่มฟื้น ทำงานได้เพียงสามเดือนถือว่าเก่ง และอยู่ภายใต้โจทย์ที่ยาก แต่ความตั้งใจรัฐบาลให้เกรด A อย่างไรก็ดี สิ่งที่รัฐบาลควรทำเพื่อให้ได้เกรด A เมื่อครบเทอม คือการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”

ส.อ.ท.ชี้ดึงต่างชาติมาได้เยอะ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผลงานของรัฐบาลที่ผ่านมา เรื่องของการดึงการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศ เป็นงานที่ทำได้ดี ทำให้ช่วงที่ผ่านมาเห็นการลงทุนจากยอดขอรับส่งเสริมการลงทุน จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สูงถึง 720,000 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการออกไปโรดโชว์ต่อเนื่อง ตั้งแต่นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี และที่น่ายินดีคือการเจรจาการค้าเสรี EFTA ที่สำเร็จ ซึ่งจะส่งผลดีต่อการค้าและการส่งออกของไทยในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เอกชนยังคงต้องการเห็นรัฐบาลมีมาตรการที่ชัดเจนในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs โดยเฉพาะเรื่องของการเข้าถึงแหล่งเงินทุน และมาตรการการสกัดสินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาให้ลดลงได้ ในขณะที่ภาพรวมที่เอกชนต้องการที่สุด คือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ฟื้นกำลังซื้อ ซึ่งเคยหารือกันว่าอาจนำมาตรการคนละครึ่งกลับมาใช้อีก หรือแม้แต่การแจกเงิน 10,000 บาท หากกระตุ้นการซื้อได้จริงก็สามารถทำได้

นโยบายอีวีมาถูกทางแล้ว

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่านโยบายการผลักดันให้ไทยเป็นฮับชิ้นส่วนอีวีต้องใช้เวลา ไทยต้องใช้โนว์ฮาวจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน เเม้ว่าขณะนี้จะเริ่มผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยแล้ว แต่ยังต้องใช้เวลา ซึ่งคาดว่าในปีต่อ ๆ ไปจะมีกลุ่มชิ้นส่วนอีวีเข้ามาลงทุนเพิ่มเติมในประเทศไทย

ทั้งนี้ เชื่อว่าผู้ผลิตชาวไทยจะเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วน เหมือนกับเมื่อครั้งญี่ปุ่นเข้ามาลงทุน จากที่เดิมเราไม่มีความรู้ เเต่ค่อย ๆ เรียนรู้จนสำเร็จในปัจจุบัน และเชื่อว่าน่าจะมีแนวโน้มที่ดี ถือเป็นจุดประสงค์ของประเทศไทยที่เปิดให้มีการใช้รถอีวี และดึงผู้ผลิตเข้ามาเพื่อก่อให้เกิดการผลิตชิ้นส่วนในประเทศไทยในอนาคต

เร่งฟื้นตลาดรถปิกอัพ

“อยากให้รัฐบาลดูในส่วนของรถปิกอัพ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมายอดขายลดลงไปรวม 200,000 คัน ส่งผลให้ผู้ผลิตต้องลดเวลาทำงาน แต่ต้องจ่ายเงินเดือนตามมาตรา 75 ทำให้ไม่เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ตั้งกองทุนเพื่อประกันสินเชื่อให้ผู้ซื้อรถกระบะได้รับการอนุมัติจากสถาบันการเงิน ให้ปล่อยสินเชื่อมากขึ้นในปีหน้า เพื่อให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนและซัพพลายเชนมีงานทำมากขึ้น”

นายสุรพงษ์กล่าว และว่ารัฐบาลมีกองทุน 5,000 ล้าน ที่อุดหนุนผลขาดทุนจากรถกระบะตามจริง คันละไม่เกิน 50,000 บาท และต้องปล่อยสินเชื่อรถกระบะมากกว่าปี 2567 เท่าตัว เพื่อจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น และเพื่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าสู่ระบบ

ท่องเที่ยวได้อานิสงส์ “เว้นวีซ่า”

ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) กล่าวว่า นโยบายที่ถือว่าตอบโจทย์ภาคการท่องเที่ยวมากที่สุดของรัฐบาลชุดนี้มี 2 ประเด็นหลักคือ 1.นโยบายการยกเว้นวีซ่าทำให้ประเทศเปิดกว้าง และมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้หลากหลายขึ้น และเป็นไปตามเป้าหมายในด้านจำนวนที่รัฐบาลวางไว้ และ 2.การปรับปรุงระบบการเข้าประเทศ โดยเฉพาะมาตรการที่ท่าอากาศยานหลัก ๆ ของประเทศมีระบบการบริหารจัดการที่อำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวมากขึ้น

“2 เรื่องนี้ถือว่าเป็นไฮไลต์ที่สุด เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันให้กับประเทศไทยแล้ว ยังทำให้ประเทศไทยได้รับการชื่นชมจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาอีกด้วย” ดร.อดิษฐ์กล่าว และว่า

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีมุมที่เป็นลบอยู่หลายประเด็น โดยเฉพาะในเรื่องของผู้ประกอบการและแหล่งท่องเที่ยวของไทยที่ยังมีรูปแบบเดิม ๆ การที่มีแหล่งท่องเที่ยวแบบเดิม การอำนวยความสะดวกแบบเดิม รวมทั้งความปลอดภัยและระบบการเดินทางที่ยังไม่ได้รับการยกระดับเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ