เบื้องหลังล้มแก้รัฐธรรมนูญ เกม 3 พรรค เพื่อไทย-ภท.-ปชน.

แก้รัฐธรรมนูญ เกม 3 พรรค
คอลัมน์ : Politics policy people forum

ในที่สุดวาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เข้ามาจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งมีอยู่ 2 ฉบับ คือ ร่างของพรรคประชาชน ที่มีสาระคือ ให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และร่างของพรรคเพื่อไทย ให้ ส.ส.ร.มาจากการเลือกตั้ง เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 ก็ล้มเหลวไม่เป็นท่า

เหตุเกิดจากพรรคร่วมรัฐบาลคือพรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย ที่ผนึกขั้วอำนาจ สว. มีท่าที “สวนทาง” กันชัดเจน ก่อนรัฐสภาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม 256 จะเริ่มขึ้นในวันที่ 13 กุมภาพันธ์

โดยเฉพาะข้อถกเถียงว่าจะต้องทำประชามติก่อนที่รัฐสภาจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ และมีการถกเถียงว่าควรทำประชามติ 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง

ที่นักการเมืองยังเคลียร์ไม่ลงตัว เพราะย้อนไปเมื่อปี 2567 มีการยื่นไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความคำวินิจฉัย 4/2564 ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐสภามีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญใหม่ แต่ต้องทำประชามติถามประชาชน แต่ศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่า คำวินิจฉัย 4/2564 ได้วินิจฉัยชัดเจนแล้ว..ทว่ายังไม่ชัดเจนสำหรับ “นักการเมือง”

ท้ายที่สุด การแก้รัฐธรรมนูญจึงยื้อ-ลากยาวมาต่อเนื่อง มาสู่สถานการณ์ชุลมุน กลายเป็นศึก 3 พรรค 3 ขั้ว เปิดศึกชิงเหลี่ยมการเมือง เพื่อให้เป็นฝ่ายได้เปรียบในเกมรัฐธรรมนูญ

เบื้องหลังเพื่อไทยชิงยื่นศาล

ขั้วที่หนึ่ง พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำพรรครัฐบาล ประกาศจุดยืนต้องการแก้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ต้น แม้มีความพยายามยื่นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 เพื่อให้มี ส.ส.ร.มาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยยกเว้นหมวด 1 หมวด 2 แต่อีกด้านหนึ่ง ก็เป็นฝ่ายที่ “ปูดข่าว” เรื่อง สว.+พรรคการเมืองบางพรรค เตรียมยกมือเสนอญัตติให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าจะประชามติ 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง

ADVERTISMENT

ในขาของเกมใต้ดิน มีการเจรจาทางลับ โดยแกนนำระดับรัฐมนตรี 2 คน และ 1 ในแกนนำวิปรัฐบาล เดินเกมรวบรวม สว.บางส่วน

เมื่อรวบรวม สว.ได้แค่ 40-50 เสียง เท่ากับว่า พรรคเพื่อไทยดีล สว.ได้ไม่ถึง 1 ใน 3 หรือ 67 เสียง ตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดไว้ว่า การ “รับหลักการ” วาระที่ 1 จะต้องมีเสียง สว. 1 ใน 3 เห็นชอบด้วย และพรรคเพื่อไทยก็รู้อยู่แล้วว่า ไม่มีทางถึง

ADVERTISMENT

สุ้มเสียงของพรรคเพื่อไทย จึงโยนความกดดันไปที่ กลุ่ม สว.สีน้ำเงิน โยงไปถึงพรรคภูมิใจไทย ที่ปักธงแต่แรกว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ว่าอาจเป็นฝ่ายที่ออกมาขวาง

2 วันก่อนวันโหวตรัฐธรรมนูญ เพื่อไทย กำ สส.พรรครัฐบาล บวก สว.ที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม สว.สีน้ำเงินได้เกิน 40 คน หารือพลิกเกมยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาว่าจะต้องทำประชามติกี่ครั้ง รัฐสภาจึงจะลงมือแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

โดยใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 210 ประกอบข้อบังคับการประชุมรัฐสภา 2563 ข้อ 31

เนื่องจากประเมินว่าหากไม่ชิงเปิดเกมยื่นศาลรัฐธรรมนูญ อาจถูกฝ่าย สว.สีน้ำเงิน ไม่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 เพียงแค่ สว.นั่งในที่ประชุมเฉย ๆ ไม่ยกมือโหวต ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมก็ถูกตีตก ดังนั้น ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความให้จบ แล้วไปว่ากันใหม่อีกยก

จึงเป็นที่มาว่าทำไม สส.เพื่อไทย ถึงหนุนญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว.ที่เป็นคนรวบรวมชื่อเสนอญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งเดิมทีมีแผนจะให้ นพ.เปรมศักดิ์ ยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภาส่งศาลรัฐธรรมนูญเป็น “ลายลักษณ์อักษร” ล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ 12 กุมภาพันธ์

แต่เมื่อพรรคภูมิใจไทยเตรียมแผนบอยคอต จึงยื่นญัตติขอให้ประธานส่งศาลรัฐธรรมนูญกลางสภา ตามข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 31

“ยืนยันว่าพรรคเพื่อไทยไม่มีเจตนาเตะถ่วง มีเพียงเจตนาเต็มที่ที่จะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะเป็นนโยบายที่เราเสนอไว้และมีความพยายามจะทำอย่างนี้มาตลอด ย้ำว่าเราจึงสนับสนุนญัตติของหมอเปรมศักดิ์ โดยหวังว่าศาลรัฐธรรมนูญออกมาแล้วมีความชัดเจน เราจะได้ดำเนินการเพื่อนำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ได้” นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในการแถลงข่าวหลังจากการประชุมร่วมรัฐสภาล้มไม่เป็นท่า

ภท.ผนึก สว.น้ำเงินขวาง

ขั้วที่สอง พรรคภูมิใจไทย+สว.รู้เกมพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว “อนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าว 1 วันก่อนที่รัฐสภาจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ว่า พรรคมีมติชัดเจนไม่ร่วมพิจารณา เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการดังกล่าวยังไม่เป็นไปตามแนวทางที่ถูกต้องตามกฎหมาย

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยตั้งแต่ปี 2564 ว่า หากต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ต้องทำประชามติถามประชาชนก่อน ซึ่งในขั้นตอนปัจจุบันยังไม่มีการดำเนินการตามเงื่อนไขดังกล่าว พรรคภูมิใจไทยจึงมองว่า การเข้าร่วมพิจารณาอาจสุ่มเสี่ยงขัดต่อคำวินิจฉัยของศาล

“เราเป็นพรรคการเมือง จะทำขัดต่อกฎหมายไม่ได้”

“พรรคมีทีมกฎหมาย และที่ปรึกษากฎหมายที่พิจารณาประเด็นนี้อย่างรอบคอบ ทุกคนเห็นตรงกันว่าเสี่ยงไม่ได้”

“นี่ไม่ใช่เรื่องของ ครม. ไม่มีมติพรรคร่วมรัฐบาล เป็นเรื่องของรัฐสภาและเอกสิทธิ์ของแต่ละพรรค”

“เหมือนตอนที่เราผลักดันกฎหมายกัญชา บางพรรคไม่เห็นด้วย เราก็ไม่ได้โวยวายอะไร”

ในที่สุดวันโหวตร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม พรรคภูมิใจไทย ก็ “บอยคอต” ไม่ร่วมสังฆกรรมพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256

สว.น้ำเงินแผลงฤทธิ์

ขณะที่ สว.ซึ่งมี “มงคล สุระสัจจะ” ประธานวุฒิสภา อีกสถานะเป็น รองประธานรัฐสภา ได้ส่งคำทักท้วงของสำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ไปถึง นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา โดยยืนยันว่า ก่อนจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างฉบับใหม่ ต้องมีการทำประชามติ 3 ครั้ง

ตามความเห็นของสำนักกฎหมายระบุว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องผ่านกระบวนการประชามติ 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 ถามประชาชนก่อนว่า ต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ครั้งที่ 2 หากประชาชนเห็นชอบในครั้งแรก ให้รัฐสภาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญก่อนนำไปทำประชามติอีกครั้ง ครั้งที่ 3 เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จ ต้องให้ประชาชนโหวตเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบอีกครั้ง

และในวันโหวต 13 กุมภาพันธ์ สว.สายสีน้ำเงินก็เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ญัตติของ นพ.เปรมศักดิ์ ไม่สามารถเลื่อนขึ้นมาพิจารณาตามแผนของพรรคเพื่อไทยได้

ปชน.ปลุกแฟนคลับสีส้ม

ส่วนขั้วที่สาม พรรคประชาชน ใช้โอกาสนี้เปิดเกมจี้ถล่มความจริงใจของรัฐบาลในเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ งัดสารพัดคลิปของแกนนำพรรคเพื่อไทย ตั้งแต่ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 มีทั้งปราศรัย คำแถลงข่าวของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีตหัวหน้าพรรค 2 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งกลายมาเป็นนายกฯแล้ว คือ เศรษฐา ทวีสิน และแพทองธาร ชินวัตร ปลุกอารมณ์มวลชนผ่านโซเชียลมีเดีย

โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ มวลชนสีส้ม-คนรุ่นใหม่ คนชั้นกลางใหม่ ที่เรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่มาตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกมนี้พรรคประชาชนไม่มีเสีย

เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 เปรียบเสมือน “โครงสร้างสูงสุด” ของการเมืองไทยในเวลานี้ ไม่ว่าพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย ก็ไม่อยากแตะของร้อน

แม้กระทั่งพรรคประชาชน เมื่อปมแก้ไขรัฐธรรมนูญล่มแล้วล่มอีก ก็เป็น “ผลดี” ใช้เป็นแต้มต่อหาเสียงระยะยาวได้ต่อไป