ยื้อปลดล็อก ไพ่ตาย “บิ๊กตู่” ชิงความได้เปรียบเกมเลือกตั้ง

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดพื้นที่รุกทางการเมืองทั้งบนดิน-ใต้ดิน โกยความได้เปรียบทางการเมือง ก่อนการเลือกตั้ง 2562

ทั้งเปิดเกมรุกพื้นที่ภูธร ตีเมืองขึ้นนักเลือกตั้งผ่านการจัดประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ไปแล้วทุกภาค

ปิดประตูห้ามพรรคการเมือง-นักการเมือง-นักเคลื่อนไหวทำกิจกรรม ผ่านการออกกฎคำสั่ง คสช. 3 ฉบับ 7/2557 3/2558 53/2560

ขณะที่การเลือกตั้งใกล้เข้าสู่โหมดนับถอยหลัง เสียงของนักการเมืองเรียกร้องให้ คสช.ปลดล็อกทางการเมืองเริ่มส่งเสียงมากขึ้น

“พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ประกาศดัง ๆ ต่อสาธารณะว่า การหารือกับพรรคการเมืองจะมีขึ้นในช่วงสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ เบื้องต้นจะดูว่าปลดล็อกอะไรก่อน แต่ยังไม่ปลดล็อกทั้งหมด เน้นการเปิดให้หาสมาชิกพรรคการเมืองเพิ่มเติมได้ ส่วนการหาเสียงเลือกตั้งยังไม่อนุญาต ต้องรอให้กฎหมายลูกเรียบร้อยก่อน

ดังนั้น ก่อนที่ คสช.จะเปิดฟลอร์ถกกับพรรคการเมืองปลายเดือนนั้น เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมา รัฐบาลนัดหารือ 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายรัฐบาล กรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อคลายล็อกให้พรรคการเมืองได้หายใจ-หายคอคล่องขึ้น เติมสมาชิกพรรคที่ถูกคำสั่ง คสช. 53/2560 เซตซีโร่สมาชิกพรรคจนแทบไม่เหลือสมาชิกพรรคให้ทำไพรมารี่โหวต

เพราะตามกติกา 53/2560 กำหนดว่า พรรคเก่า 69 พรรค ที่จดทะเบียนไว้กับ กกต. ก่อนมีคำสั่ง 53/2560 กำหนดว่า พรรคการเมืองต้องหาสมาชิกพรรคให้ครบ 500 คน ใน 180 วัน และ 5,000 คน ใน 1 ปี นับเวลาตั้งแต่ 1 เม.ย. 2560

ขณะนี้ 2 เดือน พรรคเก่าสามารถหาสมาชิกล่วงหน้าได้ แต่จะรับสมัครสมาชิกพรรคอย่างเป็นทางการไม่ได้ เพราะก่อนการเปิดรับสมาชิกพรรค ต้องมีการจัดประชุมเพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรค เพื่อจะสามารถรับสมาชิกพรรคที่มีคุณสมบัติตรงกับข้อบังคับพรรคใหม่ได้

แต่เมื่อ คสช.ยังไม่ “ปลดล็อก” พรรคการเมือง ที่มีสมาชิกไม่ถึง 500 คน โดยเฉพาะพรรคเล็กยังคงต้องหนีตาย เพราะเวลาถูกเผาไปแล้ว 2 เดือนจาก 6 เดือน

ส่วนพรรคเก่าที่โลดแล่นอยู่บนกระดานการเมืองระดับชาติ มีแค่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคชาติพัฒนา เท่านั้นที่มีสมาชิกพรรคเกิน 5,000 คน ส่วนพรรคอื่น ๆ อย่าง ชาติไทยพัฒนา ภูมิใจไทย ต้องหาสมาชิกให้ครบ 5,000 คนภายใน 1 ปี

และหากจะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งครบทั้ง 350 เขต ก็ต้องมีสมาชิกพรรคอย่างน้อย 7,700 คนขึ้นไป หรือต้องมีสมาชิกพรรคในจังหวัดละ 100 คน เพื่อเป็นองค์ประกอบของตัวแทนพรรคประจำจังหวัดในการทำไพรมารี่โหวต แต่ตอนนี้ทุกพรรคตกอยู่ในชะตาเดียวกันไม่ว่าพรรคเก่า หรือพรรคใหม่ คือ ปัญหาการหาสมาชิกพรรค

แม้พรรคใหม่ คสช.ไม่ห้ามเรื่องการหาสมาชิกพรรค แต่ในช่วงที่การเมือง “ปิดล็อก” การหาสมาชิกพรรคจึงมีข้อจำกัดทางการเมือง

ในวงหารือ 3 ฝ่าย ระหว่างรัฐบาล กกต. และ กรธ. ซึ่งตั้งวงถกปัญหาคลายล็อกการเมืองให้พรรคการเมืองหาสมาชิกพรรคได้ จึงถกกันเรื่องนี้เป็นประเด็นหลัก

พร้อมกับ กกต.เสนอให้ คสช.ใช้อำนาจมาตรา 44 ให้ กกต.สามารถแบ่งเขตเลือกตั้ง ก่อนร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. …. ประกาศใช้ เนื่องจากกฎหมายไม่เปิดช่องให้ กกต.แบ่งเขตได้ล่วงหน้าก่อนที่ ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ประกาศใช้ได้

ทั้งนี้ การแบ่งเขตเลือกตั้ง ย่อมมีความสัมพันธ์กับการทำไพรมารี่โหวต ตราบใดที่ กกต.ไม่สามารถแบ่งเขตได้ พรรคการเมืองก็มิอาจรู้ได้ว่า เขตเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในแต่ละจังหวัดจะออกมาในรูปแบบใด

บางจังหวัดเขตเลือกตั้งลด-บางจังหวัดเขตเลือกตั้งเพิ่ม ตามประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งล่าสุดในปีที่จะมีการเลือกตั้ง

โดย กกต.จังหวัด จะต้องแบ่งเขตเลือกตั้งในแต่ละจังหวัดออกเป็น 3 แบบ พร้อมรับฟังเสียงจากพรรคการเมือง และประชาชนในพื้นที่ ก่อนจะมาถึงมือ กกต.ที่กรุงเทพฯ ตัดสินว่าจะเลือกแบบใด โดยทั้งหมดใช้เวลาไม่เกิน 60 วัน

แต่ปัญหาเรื่องนี้ก็วกกลับมาที่การ “ปลดล็อกการเมือง” เพราะการแบ่งเขตเลือกตั้งต้องฟังความคิดเห็นของพรรคการเมืองด้วย เมื่อพรรคการเมืองจัดประชุมพรรคไม่ได้ ก็ไม่สามารถมีความเห็นออกมาได้

ปัญหาล็อกทางการเมืองจึงขมวดปมไปอยู่ที่การตัดสินใจของรัฐบาล คสช.

ในกรณีนี้ “ศุภชัย สมเจริญ” ประธาน กกต. กล่าวถึงทางออกว่า “คสช.มียาสารพัดนึก คือมาตรา 44 อยู่แล้ว จะปลดแบบไหนก็ได้”

ที่สุดแล้ว คสช.ในฐานะผู้กำหนดเกม ถือความได้เปรียบทุกประตู ไม้ตายเด็ดขาดคือถืออำนาจการ “ปลดล็อก” ไว้ในมือจะบีบก็ตาย จะคลายก็หนีกับดัก คสช.ไม่พ้น

อย่างไรก็ตาม ตามปฏิทินการเมืองฉบับเรือแป๊ะ ไม่ว่ากุนซือกฎหมายในฝ่ายสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือผู้ร่างรัฐธรรมนูญ อย่าง กรธ.เก็งกันไว้ กฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และ ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ราวเดือน ก.ย.นี้

ดังนั้นกว่าจะปลดล็อกแบบสะเด็ดน้ำต้องรอให้พ้นเดือน ก.ย.นี้ไปก่อน ประกอบกับร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ประกาศใช้แล้ว แต่จะมีผลบังคับใช้ต้องนับต่อไปอีก 90 วัน ตามเงื่อนไขบทเฉพาะกาล ซึ่งตรงกับเดือน ธ.ค. ดังนั้นการหาเสียงเลือกตั้งอาจเรื่มขึ้นธ.ค.-ม.ค. 2562

จนถึงวันนั้น พรรคนอมินีของ คสช. ก็คงพร้อมทั้งเสบียงกรังทางการเมืองเข้าสู่สมรภูมิเลือกตั้ง

ไม่ว่าอย่างไร รัฐบาล คสช.ยังควบคุมความได้เปรียบทุกทาง