“สุเทพ” โวย ป.ป.ช.อคติคดีโรงพัก 396 แห่ง ชี้สร้างเสร็จไม่ทันไม่เกี่ยวการทำสัญญา

แฟ้มภาพ

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 20 สิงหาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) พร้อมด้วยนายทวีศักดิ์ ณ ตะกั่วทุ่ง นายสวัสดิ์ เจริญผล และนายสุพจน์ สุธรรม ทนายความเดินทางมาให้ถ้อยคำกรณีที่ ป.ป.ช. ตั้งข้อกล่าวหาปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือโดยทุจริตโครงการก่อสร้างสถานีตำรวจหรือโรงพักทดแทน 396 แห่ง โดยนายสุเทพ ให้สัมภาษณ์ก่อนให้ถ้อยคำว่า ตนได้เตรียมเอกสารชุดเดิมจำนวน 94 หน้า ซึ่งเป็นเอกสารชุดเดียวกับที่ได้เคยนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา เพื่อนำมายืนยื่นประกอบกับคำชี้แจงของตนเองในครั้งนี้ ส่วนการชี้มูลความผิดก็ขึ้นอยู่กับคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. แต่ตนมั่นใจว่าการกระทำของตนนั้นไม่มีความผิด ที่ผ่านมาตนทำงานตามขั้นตอนและมีหลักฐานเอกสารทุกอย่างยืนยันความบริสุทธิ์ได้

ส่วนกรณีที่มีการระบุว่า มีการฮั้วประมูลเพื่อให้บางบริษัทได้รับการประมูลนั้น เรื่องนี้คณะอนุกรรมการ ป.ป.ช.มีอคติ เพราะถ้าอ่านข้อมูลเอกสารทั้งหมดคนธรรมดาก็เข้าใจได้ ไม่ต้องเป็นนักกฎหมาย อยากบอกว่าสิ่งที่ ป.ป.ช.แถลงเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ทำให้สังคมเข้าใจผิด และตนได้รับความเสียหาย ป.ป.ช.เคยพูดเช่นนี้มาหลายครั้ง และตนก็เคยชี้แจงมาหลายรอบ แต่เรื่องก็ยังไม่ยุติ ดังนั้นจึงต้องออกมาชี้เเจงความชัดเจนอีกครั้งเพื่อให้ทุกฝ่ายได้มีความเข้าใจ ส่วนบริษัทที่ชนะการประมูลดำเนินการสร้างโรงพักทดแทน 396 แห่ง ไม่เสร็จทันตามกำหนด ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการทำสัญญาการประมูล เพราะเรื่องการทำสัญญาประมูล ดำเนินการตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรีทุกขั้นตอนและถูกต้อง ส่วนขั้นตอนการก่อสร้างเป็นหน้าที่ของผู้ควบคุมกำกับตามเวลา ซึ่งตนไม่รู้ว่าใครเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องของการควบคุมการก่อสร้าง การอนุมัติ การจัดซื้อจัดจ้าง การเปลี่ยนแปลงวิธีการประมูล และการทำสัญญา ทำถูกต้องตามกฎหมาย ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของการก่อสร้างว่าจะเสร็จหรือไม่เสร็จ

เมื่อถามว่า มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการประมูลแบบรายภาคมาเป็นการรวมศูนย์ นายสุเทพ กล่าวว่า เคยชี้แจงไปแล้วหลายรอบ ว่าตอนที่อนุมัติครั้งแรกเป็นการพิจารณาตามที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผบ.ตร. เป็นผู้เสนอมา ซึ่งตนเห็นว่ามีเหตุผลเรื่องของการแยกสัญญาออกเป็น 9 ภาค จึงอนุมัติให้ดำเนินการ แต่ต่อมาในสมัยของ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ เป็น ผบ.ตร. ได้เสนอแก้ไขสัญญาว่าจ้างใหม่ ให้เป็นไปตามกฎหมายงบประมาณปี 2553 ที่ออกมาหลังจากที่ได้มีการอนุมัติโครงการครั้งแรกไปแล้ว โดยระบุว่าหากเป็นโครงการเดียวกันไม่สามารถแยกเป็นหลายสัญญาได้ จึงเป็นที่มาของการเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาใหม่ ให้ถูกต้องตามระเบียบงบประมาณปี 2553 ซึ่งทุกโครงการก็ทำตามระเบียบดังกล่าว

 

ที่มา : มติชนออนไลน์