ประชารัฐ-ประชานิยม”บิ๊กตู่” นโยบายไฮบริด 5ปี ถม8.78แสนล้าน

“บิ๊กตู่” สนธิกำลัง “สมคิด” ฝ่ากับดักรัฐธรรมนูญ-พ.ร.บ.การคลัง ใช้นโยบายการคลังอุ้มเศรษฐกิจรากหญ้า 5 ปี รัฐบาล คสช. จัดงบฯถมกลุ่มฐานราก 8.78 แสนล้าน 1 ปีก่อนเลือกตั้ง จ่ายพรวด 3.72 แสนล้าน 95 วันก่อนการเลือกตั้งอนุมัติ 1.93 แสนล้าน กู้เงินชดเชยขาดดุล 5 แสนล้าน ตั้งงบฯขาดดุลต่อไปอีก 10 ปี ดันออก พ.ร.บ.ตั้งกองทุนรองรับแบบถาวรเดินหน้าภารกิจ 5 ด้าน

ก่อนถึงวันเลือกตั้ง ตามโรดแมป 24 กุมภาพันธ์ 2562 รัฐบาลและทุกพรรคการเมืองยังคงใช้นโยบายประชานิยม และสวัสดิการแห่งรัฐ ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง เพื่อหวังชัยชนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมี 4 รัฐมนตรีเป็นแกนนำ และยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ร่วมอนุมัติงบประมาณ และมาตรการเพื่อผู้มีรายได้น้อยไว้หลายแสนล้าน

 

ประชานิยม ดัชนีชี้ชนะเลือกตั้ง 

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า การเลือกตั้ง 4 ครั้ง ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ปรากฏ “นโยบายประชานิยม” จัดเป็นปัจจัยหลักที่ชี้ขาดให้พรรคการเมืองได้รับชัยชนะ และได้เป็นแกนนำในการจัดรัฐบาล เช่นเดียวกับการเลือกตั้ง 2562 ที่นโยบายเศรษฐกิจเพื่อการแก้ปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพของประชาชนระดับฐานราก ยังเป็นปัจจัยชี้ขาดชัยชนะอีกครั้ง โดยในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง คู่แข่งขันที่สำคัญในลู่สนามครั้งนี้ที่เข้มข้น-ขับเคี่ยวมี 2 พรรคด้วยกัน คือ “พรรคพลังประชารัฐ” กับ “พรรคเพื่อไทย” ที่มุ่งใช้นโยบายประชานิยมแบบเข้มข้น

โดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม-ควบตำแหน่งหัวหน้าพรรค “พลังประชารัฐ” ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “จุดขายของพรรคในการหาเสียง คือ ต้องทำให้ประชาชาชนมีที่อยู่อาศัยและที่ทำกินเพียงพอ…พรรคพลังประชารัฐจะสร้างสังคมสวัสดิการ ไม่เกี่ยงว่าจะเป็นนโยบายประชานิยม ถ้าคนไทยไม่นิยมนโยบายแล้วจะเป็นนโยบายที่ดีได้อย่างไร”

“สมคิด” จัดปีละแสนล้าน

นโยบายประชานิยมและสวัสดิการนิยมของพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งฝังตัวอยู่ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกจัดสรรในงบประมาณแผ่นดินผ่าน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” หรือบัตรคนจน จำนวน 14.5 ล้านคน

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “ได้ตกลงกับสำนักงบประมาณไว้ว่า จะกันเงินสำหรับใช้ในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปีละ 100,000 ล้านบาท เฉพาะงบฯที่ใช้ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐผ่านร้านธงฟ้าประชารัฐ ร้านถุงเงินประชารัฐ ร้านก๊าซหุงต้ม ค่าขึ้นรถ บขส.-รถไฟ-รถไฟฟ้าที่คุ้นเคยกันมาแล้ว รวมวงเงินกว่า 40,000 ล้านบาท รัฐจึงเหลือเงินที่จะนำมาช่วยเพิ่มเติมตามความจำเป็นและตามผลที่ไปสำรวจมาว่า ผู้ถือบัตรต้องการให้ช่วยตรงไหนอีก”

ทั้งนี้ “โครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ” เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีรายได้ต่อปีไม่เกิน 100,000 บาท ได้รับการสนับสนุนค่าครองชีพในปี 2560 ใช้เงินงบประมาณทั้งสิ้น 17,469 ล้านบาท ปีที่สอง (2561) มีผู้มาใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐถึง 42,509.82 ล้านบาท

ตรา กม.ตั้งงบฯ 4.6 หมื่นล้าน/ปี 

ในปีที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ พ.ร.บ.กองทุนประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กำหนดให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายปีละ 46,000 ล้านบาท

ที่มาของเงินกองทุนจะมาจากการประเดิมของรัฐบาลที่จัดสรรจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี และสามารถรับเงินจากการบริจาคจากแหล่งเงินจากองค์กรระหว่างประเทศได้ โดยกองทุนนี้มีภารกิจ 5 ด้าน ได้แก่ ช่วยพัฒนาทักษะอาชีพ, ยกระดับความเป็นอยู่, บรรเทาความเดือดร้อน, จัดหาที่ดิน-ที่อยู่อาศัย และเป็นหลักประกันรายได้ โดยการจัดทำพระราชบัญญัติดังกล่าว ทำให้เห็นวัตถุประสงค์ของ “คณะรัฐบาล” และ “ทีมรัฐมนตรี” ที่จะออกไปจัดตั้งพรรคการเมือง “พลังประชารัฐ” ได้มั่นใจว่า หากมีกฎหมาย-งบประมาณ-กองทุนกำกับไว้แล้ว แม้มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลไปสู่การเลือกตั้ง แต่โครงการ “สวัสดิการแห่งรัฐ” ก็จะยังคงดำเนินการต่อเนื่อง

สอดคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรื่องการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐว่า “ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผู้สูงอายุ รัฐบาลจะดูแลเพิ่มขึ้น วันข้างหน้ารัฐบาลใหม่มาก็น่าจะต้องทำต่อเนื่อง”

ก่อนโหวตทุ่มอีก 1.93 แสนล้าน 

ในช่วง 95 วันก่อนวันเลือกตั้ง ตามโรดแมปคณะกรรมการการเลือกตั้ง (24 กุมภาพันธ์ 2562) คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (20 พฤศจิกายน 2561) อนุมัติมาตรการ “ประชานิยม” ใน “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ใช้งบประมาณเกือบ 200,000 ล้านบาท เพื่อผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอื่น ๆ เช่น มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟ-ค่าน้ำประปา เงินให้ฟรีเทศกาลปีใหม่ 500 บาท, ค่าเดินทางไปรักษาพยาบาลรายละ 1,000 บาท และช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน 400 บาท/เดือน

นอกจากผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้ว ยังมีการ “แจก” ให้กับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยกลุ่มอื่น ๆ อาทิ ลดราคาค่าเช่าตลาดนัดจตุจักร 1,800 บาท/แผง จากเดิมที่เก็บอยู่ 3,157 บาท, การช่วยเหลือชาวสวนยาง 1,303,331 ราย ไร่ละ 1,800 บาท, การจัดทำโครงการบ้านผู้มีรายได้น้อย 1 ล้านหลัง ใช้วงเงิน 60,000 ล้านบาท, แจกบำนาญข้าราชการเพิ่มเงิน 10,000 บาท/เดือน, การพักชำระหนี้ให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 3 ปี ทั้งนี้ 4 ปีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้จัดงบประมาณให้กองทุนหมู่บ้านฯเพื่อโครงการประชารัฐกว่า 130,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม อีก 2 สัปดาห์ถัดมา (4 ธันวาคม 2561) คณะรัฐมนตรียังได้ “อนุมัติ” มาตรการด้านภาษีและให้เงินผู้มีรายได้น้อยอุดหนุนสินค้าเกษตรเพิ่มอีก 9,438 ล้านบาท รวมถึงมาตรการช็อปช่วยชาติ เวอร์ชั่น 2 พร้อมมีมาตรการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 5% ให้ผู้ที่ซื้อสินค้าไม่เกิน 20,000 บาท/คน ในเทศกาลตรุษจีน ปี 2562 ด้วย

ฝ่า รธน.-พ.ร.บ.การคลัง

แม้ว่าคณะรัฐบาล พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความพยายามที่จะสกัดปัญหา-ตั้งข้อ “รังเกียจ” ผลที่เกิดจาก “นโยบายประชานิยม” ที่สะสมจากรัฐบาลชุดก่อน ๆ และผลักดันให้มีการ “ตรา” ไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 62 บัญญัติว่า “ให้รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐมีเสถียรภาพ และมั่นคงอย่างยั่งยืน” และตราพระราชบัญญัติวินัยการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ขึ้นมากำกับด้วย ทั้งนี้ พ.ร.บ.วินัยการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ระบุถึงแนวทาง “ประชานิยม” ไว้ว่า…

“คณะรัฐมนตรีต้องรักษาวินัยที่เกี่ยวกับนโยบายการคลัง การจัดทำงบประมาณ การจัดหารายได้ การใช้จ่าย การบริหารการเงินการคลัง และการก่อหนี้ ต้องพิจารณาประโยชน์ที่รัฐหรือประชาชนจะได้รับ ความคุ้มค่า และภาระการเงินการคลังที่เกิดขึ้นแก่รัฐ รวมถึงความเสี่ยงและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่การเงินการคลังของรัฐอย่างรอบคอบ ต้องไม่บริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว”

5 ปี คสช.อนุมัติ 8.78 แสนล้าน 

กระนั้นก็ตาม ในช่วง 5 ปีงบประมาณของรัฐบาลกลับมีการใช้จ่ายงบประมาณผ่านนโยบายการคลัง-การตั้งงบฯกลางปีเพิ่มเติมเพื่อกลุ่มเศรษฐกิจฐานราก เช่น นโยบายไทยนิยมงยืน-มาตรการประชารัฐ ไปถึง 878,506.26 ล้านบาท (ตารางประกอบ) โดยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นทุกปี และ1 ปีก่อนเลือกตั้งสูงสุดจำนวน 372,127.26 ล้านบาท ในภาวการณ์เช่นนี้มีส่วนทำให้รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณแบบ “ขาดดุล” ต่อเนื่องไปอีก 10 ปี

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปีงบประมาณ 2563 จะเป็นการตั้งงบฯขาดดุล ซึ่งตามแผนจะขาดดุลไปอีกประมาณ 10 ปี แต่เป็นการขาดดุลที่มีกฎหมายวินัยการเงินการคลังกำหนดไว้ชัดเจนว่า “ต้องใช้ในการลงทุน ไม่ใช่ขาดดุลเพื่อนำไปใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้ประเทศมีประสิทธิภาพดีขึ้น”

โดยก่อนหน้านี้ นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงไว้ว่า ปีงบประมาณ 2561 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 2,514,473 ล้านบาท ในขณะที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 3,007,203 ล้านบาท รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 500,358 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2561 มีจำนวน 633,346 ล้านบาท

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เคยกล่าวไว้ว่า “ประชารัฐ คือ การแก้ไขข้อผิดพลาดในอดีต ถ้าประชานิยม คือ ปุ๋ยอนินทรีย์ ปุ๋ยเคมี ที่ไม่บำรุงดิน ทิ้งสารพิษตกค้าง และมีราคาแพงแล้ว ประชารัฐ คือ ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ ที่ปรับโครงสร้างดิน เพิ่มธาตุอาหารในดิน รักษาสมดุลทางธรรมชาติ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ถ้าประชานิยม คือ การแก้ไขปัญหาที่ฉาบฉวย เพราะชาวนายังคงทำนาในที่ดินของนายทุน และนายทุนกลับทำนาบนหลังคน ประชารัฐ คือ การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนตามหลักของเศรษฐกิจพอเพียง”

ในภาวะที่เศรษฐกิจจะขยายตัวเฉลี่ย 4% แต่เศรษฐกิจระดับฐานรากและกำลังซื้อในหัวเมืองและชนบทซบเซา ขณะที่กำลังจะเข้าสู่โรดแมปการเลือกตั้ง ส่งผลให้รัฐบาลต้องออกมาตรการที่เกื้อหนุนกับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.5 ล้านคน และประชาชนทุกระดับชั้น ภายใต้นโยบาย “ประชารัฐ” ซึ่งหลีกไม่พ้นจากแนวทาง “ประชานิยม” ที่เน้น “ลด-แลก-แจก-แถม” ที่กระตุ้นกำลังซื้อชั่วคราว โดยไม่ได้มุ่งสร้างทักษะ-ขีดความสามารถในการประกอบอาชีพที่ยั่งยืน

การใช้แนวทาง “ประชารัฐ” เพื่อให้ประชาชนมีสวัสดิการ ผนวกกับการ “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้” ตามแนวทางประชานิยมของทีม 4 รัฐมนตรีที่เป็นหัวหอกสำคัญของ “พรรคพลังประชารัฐ” ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความพึงพอใจให้กับฐานเสียงระดับฐานราก-ชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นฐานใหญ่ของโครงสร้างเศรษฐกิจ และย่อมเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะบรรลุเป้าหมายทางการเมือง เพื่อหวังชัยชนะในการเลือกตั้ง อีกครั้ง

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!