10 พรรคการเมืองประสานเสียง โชว์วิสัยทัศน์แก้ปัญหา “รวยกระจุกจนกระจาย”

เมื่อเวลา 13.30 น. ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ จัดเสวนาทางวิชาการ หัวข้อ “มุมมองทางการเมืองต่อความเหลื่อมล้ำทางสังคม” ภายใต้โครงการความร่วมมือทางวิชาการ โดยมีผู้แทนพรรคการเมือง 10 พรรคการเมือง ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายนพดล ปัทมะ ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย (พท.) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ตัวแทนจากพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.)

นายวราวุธ ศิลปอาชา ตัวแทนจากพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล ตัวแทนจากพรรคชาติพัฒนา (ชพ.) ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) นายสิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ (พ.พ.ช.) นายอนุกูล แพรไพศาล ตัวแทนจากพรรคเสรีรวมไทย (สรท.)

ทั้งนี้ นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ตอบรับแต่ไม่มาและไม่ส่งตัวแทนมาร่วมเสวนาวิชาการในวันนี้

@ ประชาธิปัตย์…สวัสดิการมาเต็ม เรียนฟรี-เพิ่มเบี้ยยังชีพ

นายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดสำหรับประเทศไทยและเศรษฐกิจโลก ถ้าต้องแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำต้องยอมรับ 2 ประการ 1.ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาทางโครงสร้าง 2.การเปลี่ยนแปลงของโลกและเทคโนโลยี ภายใต้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ปชป. เสนอแนวทางแก้ปัญหา 7 ประเด็น 1.เราไม่สามารถบริหารเศรษฐกิจบนแนวคิดเดิมได้ ไม่ยึดติดอยู่กับตัวเลขจีดีพี ต้องมีรัฐบาลที่พร้อมเปลี่ยนประบวนทัศน์การบริหารเศรษฐกิจ โดยการกระจายอำนาจ 2.การจัดทรัพยากรต้องยึดแนวทางการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เช่น พลังงาน ไม่คิดราคาก๊าซหุงต้มกับประชาชนในราคาตลาด

3. การผูกขาด ในภาคเอกชนและภาครัฐ เอกชนต้องบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า ภาครัฐ โดยรัฐวิสาหกิจต้องมองประโยชน์ส่วนร่วมเหนือองค์กร 4.ระบบสวัสดิการ การประกันรายได้ ไม่แทรกแซงตลาด ขยายจากภาคเกษตรสู่ภาคแรงงาน เบี้ยยังชีพ สนับสนุนการออม 5.บริหารพื้นฐานด้านการศึกษาและสาธารณสุขให้เป็นธรรมมากขึ้น เช่น เรียนฟรี ควบคุมโรงพยาบาลเอกชน 6.ระบบภาษีก้าวหน้า คนมีกำลังจ่ายจ่ายมากขึ้น และ 7.การบังคับใช้กฎหมาย ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม การเมืองไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน

@ เพื่อไทย…เจ้าตำรับประชานิยม ราคาข้าวไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นบาท/เกวียน-ปรับโครงสร้างหนี้กยศ.-

นายนพดล ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า แนวคิดของ พท. คือ สร้างรายได้ สร้างโอกาส สร้างอนาคต พท.ให้ความสำคัญกับราคาพืชผลทางการเกษตร เช่น ราคาข้าวไม่ควรต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อเกวียน เกษตรกรหันมาปลูกพืชราคาสูง ใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิ์ภาพต่อไร่ให้สูงขึ้น ปัจจัยการผลิต เช่น ที่ดิน ส.ป.ก.เปลี่ยนการครอบครองเพื่อนำไปค้ำประกันเป็นเงินทุนได้ ปลูกไม่มีค่า-ป่าพารวย เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 60 ล้านไร่ ผู้ใช้แรงงาน ค่าแรงขั้นต่ำ 350 บาทต่อคน การท่องเที่ยว นโยบายรถไฟความเร็วสูงนำมาปัดฝุ่น การศึกษา เด็กอยากเรียนต้องได้เรียน เพิ่มประสิทธิ์ภาพในการใช้งบประมาณ 5 แสนล้าน ปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์เด็กอ่อน 2 หมื่นแห่ง ลดการเรียนในห้องเรียนลง กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ต้องปรับโครงสร้างนี้เพื่อให้น้อง ๆ ไปสู้ชีวิต

@ อนาคตใหม่…อาสาดึงอำนาจผูกขาดจากข้างบนคืนประชาชน

นายธนาธร หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) กล่าวว่า ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน ต้องดูว่าปัญหาเกิดจากอะไร มีคนบอกว่า คนไทยจนเพราะโง่ หรือ จนเพราะขี้เกียจ แต่ความเป็นจริงไม่ใช่ เป็นปัญหาโครงสร้าง โครงสร้างที่ทำให้สังคมก้าวหน้าไม่ได้ ทำให้สังคมไทยล้าหลัง คือ กลุ่มทุนผูกขาดทางเศรษฐกิจมาช้านาน กองทัพ ข้าราชการระดับสูง ชนชั้นนำอนุรักษนิยม เป็นกลุ่มคนที่รวมตัวกันเพื่อผูกขาดอำนาจทางการเมืองและผูกขาดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของไทยมาอย่างช้านาน ถ้าไม่สามารถแก้ปัญหาโครงสร้างได้จะแก้ปัญหาอื่นไม่ได้เลย

“ไอเดียหลักของ อนค. หลัก คือ การตั้งพรรคนี้ขึ้นมาเพื่อรวมตัวของประชาชนเพื่อไปต่อรองกับคนกลุ่มเพียงน้อยนิดที่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาของประเทศไทย เพื่อดึงอำนาจทางการเมืองลงมา ดึงผลประโยชน์การพัฒนาเศษรญกิจที่อยู่ในมือเพียงไม่กี่คนลงมาและกระจายออกมาไปให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยของประเทศ ดึงมันออกมาอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจข้างบนลงมากระจายให้กับประชาชน”

@ รวมพลังประชาชาติไทย…ชูพัฒนาภาคเกษตร-ท่องเที่ยว

นายเอนก ตัวแทนจากพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) กล่าวว่า ประชาธิปไตยจะไปได้ดีเมื่อรายได้และชีวิตความเป็นอยู่ใกล้เคียงกัน เช่น การศึกษา ทำอย่างไรให้ความเหลื่อมล้ำลดลง ทำอย่างไรให้เพิ่มคนชั้นกลางและเพิ่มเป็นคนชั้นกลางระดับบน คนที่จะเป็นนายกฯรัฐมนตรีที่เราไว้ใจให้มากที่สุดในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ รัฐบาลนี้ต้องทำเรื่องลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาความยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำตอนนี้เพราะประชาชนรู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดี ประชาชนบ่นกันมาก เพราะเรากำลังเปลี่ยนยุคสมัยจากยุคเทคโนโลยีจากหน้ามือเป็นหลังมือ

ถ้าเราเป็นรัฐบาลทำเท่าที่ทำได้ เน้นเรื่องการเกษตรให้เป็นหลัก พัฒนาภาคการเกษตรและภาคท่องเที่ยวชุมชนเชิงเกษตร เราไม่สามารถทำได้เก่งเท่ากับการพัฒนาทางเทคโนโลยีแต่เราจะสามารถทำได้ดีในภาคการเกษตรและธุรกิจท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่เราถนัด

@ ไทยรักษาชาติ…เพิ่มรายได้-ลดรายจ่าย

ร.ท.ปรีชาพล หัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กล่าวว่า ระบบอุปถัมภ์ เล่นพรรคเล่นพวก กลุ่มอภิสิทธิ์ชน กลุ่มอีลีท กลุ่มเล็ก ๆ ของสังคม คนกลุ่มน้อยที่มีพลัง มักได้รับสิทธิ์และประโยชน์ เชื่อมโยงเป็นเครือข่าย โดยเฉพาะ 4-5 ปีที่ผ่านมา รวยกระจุกจนกระจาย เช่น โครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน มีผู้ยื่นซองประมูลเพียง 2 รายเท่านั้น ซึ่งเป็นกลุ่มทุนที่เห็นถึงความเชื่อมโยงกับผู้มีอำนาจนี้ จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่าผู้มีอำนาจปกป้องประโยชน์ของนายทุนทั้งไทยและต่างชาติ

ทษช. จะเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เช่น ภาคเกษตรกร ช่วงต้นแน่นอนต้องไปช่วยในเรื่องการดึงราคา พยุงราคา กลาง-ยาวจะช่วยให้ยืนด้วยขาของตัวเองด้วยเทคโนโลยี เช่น อีคอมเมิรซ์ SMEs และ สตาร์ทอัพ ต้องให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน

@ ภูมิใจไทย…ลดอาจรัฐ-เพิ่มอำนาจประชาชน

นายสิริพงศ์ ตัวแทนจากพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่สำคัญที่สุด และการแก้ไขปัญหา คือ โอกาส โอกาสทางการศึกษา การประกอบอาชีพที่ถูกต้องโดยไม่ผิดกฎหมาย การได้รับบริหารทางสาธารณสุข การเข้าถึงโอกาสที่เท่าเทียมกัน แนวทางแก้ปัญหาของพรรคมี 3 แนวทาง ได้แก่ 1.ปรับแนวคิดของภาครัฐ เช่น การออกกฎหมาย นโยบายภาครัฐ 2.การกระจายอำนาจอย่างแท้จริง 3.ความเหลื่อมล้ำของหน่วยงานราชการเอง ลดอำนาจรัฐและเพิ่มอำนาจประชาชน

นพ.วรรณรัตน์ ตัวแทนจากพรรคชาติพัฒนา (ชพ.) กล่าวว่า เมื่อช่องว่างระหว่างคนรวยคนจนมากขึ้น ปัญหาทางสังคมจะเกิดขึ้นตามมา เช่น การศึกษา รายได้ เพราะฉะนั้น จะกระจายอำนาจอย่างไร โดยเฉพาะส่วนใหญ่ คือ เกษตรกร รัฐต้องลงทุนทางการพัฒนาทางการเกษตรอย่างจริงจัง ดิน น้ำ ต้นทุนทางการเกษตร เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำ 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศและแหล่งน้ำเล็ก ๆ เพื่อให้เกษตรกรทำเกษตรกรได้ แม้จะต้องลงทุนมหาศาลก็ตาม รวมถึงการแปรรูปสินค้าเกษตรให้มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น

@ ชาติไทยพัฒนา ชู ตั้งสภาการศึกษาแห่งชาติ

นายวราวุธ ตัวแทนจากพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) กล่าวว่า การแก้ไขความเหลื่อมทางสังคมมี 4 แนวทางหลัก 1.การเกษตร รายได้เกษตรกร ปัญหาของภาคการเกษตรมี 2 เรื่อง คือ ผลิตได้ขายไม่ได้ ต้องติดอาวุธให้เกษตรกร เช่น การค้าออนไลน์ 2. ต้นทุนการผลิต ต้องลดต้นทุนการผลิต แนวทาวที่ 2 – 4 คือ เรื่องการศึกษา กระทรวงศึกษาธิการต้องหลุดออกจากการเมือง ตั้งสภาร่างพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติใหม่ สมาชิกสภามาจากทุกภาคส่วน นักศึกษา ผู้ปกครอง อายุเฉลี่ยต้องน้อยกว่า 60 ปี

นายสงคราม ตัวแทนจากพรรคเพื่อชาติ (พ.พ.ช.) กล่าวว่า ความเหลื่อมล้ำเกิดจาก สาเหตุที่สำคัญ คือ การผูกขาดตัดตอนทางเศรษฐกิจ ธุรกิจถูกผูกขาดจากเจ้าสัวเป็นเวลานาน รายเล็กถูกกฎระเบียบของรัฐบาลจนอยู่ไม่ได้ กลายเป็นผู้ที่อำนาจเป็นคนหยิบยื่นให้ธุรกิจขนาดใหญ่เพียงไม่กี่เจ้า การต่ออายุสัมปทานโครงการต่าง ๆ เช่น สนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมขึ้น ถ้า พ.พ.ช.เป็นรัฐบาลจะยกเลิกการผูกขาดตัดตอนนี้ แต่ถ้าเพื่อประโยชน์ส่วนรวมเราจำเป็นต้องผูกขาด เช่น กิจการของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง

นายสงคราม กล่าวยกตัวอย่าง เช่น ความเหลื่อมล่ำในด้านการศึกษา วิธีแก้จะต้องให้โอกาสคนเก่ง คนเรียนดี มีความรู้ไปสอนต่างจังหวัดบาง โดยให้สวัสดิการที่ดี การรักษาพยาบาล ข้อจำกัดของโครง 30 บาทรักษาทุกโรค คือ ระยะทางการเดินทางไกล ดังนั้น ต้องมีโรงพยาบาลตำบล เป็นการลงทุนน้อยได้ประโยชน์มาก ต้องมีห้องขนาดเล็ก หมอประจำ มีอุปกรณ์ทางการแพทย์พื้นฐาน

นายอนุกูล ตัวแทนจากพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า เกิดจากการผูกขาด ถ้าพรรคการเมืองเป็นพรรคการเมืองของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เป็นพรรคการเมืองของกลุ่มทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มีการคอรัปชั่นทางนโยบายเอื้อให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จากสามารถแก้ปัญหาได้