สนช.ถอย เลื่อนพิจารณาพ.ร.บ.ข้าว ทบทวนเนื้อหา นัดถกอีกครั้ง 26 ก.พ. หลังถูกค้านหนัก

สนช.ถอย เลื่อนพิจารณาพ.ร.บ.ข้าว ทบทวนเนื้อหา นัดถกอีกครั้ง 26 ก.พ.นี้ หลังถูกค้านหนัก เครือข่ายเกษตรกรรมฯ บุกยื่นหนังสือประธานสนช. ขอชะลอการพิจารณา

เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา ผู้สื่อมีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีวาระเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ข้าว พ.ศ. …. ทั้งนี้ ก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมดังกล่าว ได้มีเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก โดยนายมงคล ด้วงเขียว ผู้ประสานงานฯ น.ส.ทัศนีย์ วีระกันต์ สมาชิกเครือข่ายฯ ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายพรเพชร วิชลชัย ประธานสนช. ผ่าน พล.อ.ศุภวุฒิ อุตมะ สมาชิกสนช.ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ. ข้าว พ.ศ…. เพื่อคัดค้าน และขอให้สนช.ชะลอการพิจารณา โดยนายมงคล กล่าวว่า เครือข่ายฯเห็นว่า พ.ร.บ.ข้าวต้องเป็นประโยชน์ต่อชาวนา ผู้ประกอบการในห่วงโซ่เศรษฐกิจข้าว และผู้บริโภค เป้าหมายของร่างกฎหมายดังกล่าว ต้องส่งเสริมศักยภาพของชาวนารายย่อย พัฒนาองค์กรชาวนาให้มีความเข้มแข็ง ภายใต้ระบบการผลิตที่ยั่งยืน ส่งเสริมการอนุรักษ์การแลกเปลี่ยนพันธุ์ และพัฒนาข้าวที่เหมาะสมกับภูมินิเวศน์ วิถีวัฒนธรรม และเศรษฐกิจชุมชน ทั้งเพื่อใช้เอง และการจำหน่าย โดยเกษตรกรและชุมชน

ด้าน น.ส.ทัศนีย์ กล่าวว่า เครือข่ายฯมีความเป็นห่วงในมาตรา 6 สัดส่วนของกรรมการจากผู้แทนองค์กรเกษตรผู้ปลูกข้าว จำนวน 4 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับกรรมการโดยตำแหน่งที่เป็นข้าราชการ และนักการเมือง ซึ่งมีถึง 14 คน มีอำนาจกำหนดนโยบาย และแผนพัฒนาข้าวทั้งหมด ฉะนั้น เมื่อสัดส่วนของเกษตรกรน้อยมากก็ไม่มีมีสิทธิ มีเสียงพอในการแสดงความเห็น หรือกรณีที่ต้องลงมติกันในเรื่องใด จึงอยากเสนอให้สัดส่วนของเกษตรกรมีจำนวนมากกว่านี้ ขณะที่ มาตรา 20 ระบบข้อมูลที่ตัวกฎหมายเขียนให้มีระบบส่งใบรับรองข้าวทางอิเลคทรอนิกส์ ซึ่งเป็นข้อจำกัดของเกษตรกร มาตรา 21 การจัดให้มีการทำเขตศักยภาพการผลิตข้าวของประเทศ เป็นลักษณะโซนนิ่งพื้นที่ปลูกข้าว ซึ่งไม่ควรพิจารณาเพียงแค่กายภาพของพื้นที่หรือวัตถุประสงค์เพื่อการค้าเท่านั้น เพราการผลิตข้าวเป็นความมั่นคงทางอาหารของคนในประเทศ

น.ส.ทัศนีย์ กล่าวว่า ขณะที่ มาตรา 27/2 เป็นการบัญญัติให้มีการส่งเสริมสนับสนุนเฉพาะพันธุ์ข้าวที่กรมการข้าวประกาศรับรองและเพาะปลูกในพื้นที่เหมาะสมตามเขตศักยภาพการผลิตข้าวเท่านั้น ทั้งๆที่สายพันธุ์ข้าวที่เกิดขึ้นโดยชาวนารายย่อย และชุมชนตามวิถีวัฒนธรรม ซึ่งควรได้รับการสนับสนุน ส่งเสริม แต่ไม่ถูกกำหนดไว้เลย เครือข่ายฯจึงเห็นว่า ไม่ควรรีบเร่งออกกฎหมายที่กระทบสังคมในวงกว้าง และควรรับฟังผู้เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน จึงขอเรียกร้องให้สนช.ชะลอการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ข้าว โดยให้เป็นหน้าที่ของรัฐสภาที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งทั้งนี้ ทราบว่ามีการรับฟังความเห็นผ่านศูนย์ข้าวชุมชนที่ผลิตข้าวให้กรมการข้าว และผ่านทางเว็บไซต์ แต่ในส่วนของชาวนาทั่วไปกว่า 1,000 แห่ง ไม่เคยได้รับฟังความเห็นเลย โดยกฎหมายฉบับนี้ไม่ตรงกับความต้องการ และไม่เอื้อประโยชน์ให้แก่ชาวนาให้มีอิสระ เข้มแข็งในการพัฒนาพันธุ์ข้าวของตัวเองได้ แต่เป็นการรวมศูนย์อำนาจให้กับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

ด้าน พล.อ.ศุภวุฒิ กล่าวว่า ขอยืนยันให้คลายความกังวล ว่าการดำเนินการเกี่ยวกับพันธุ์ข้าวต่างๆ ไม่มีผลกระทบกับชาวนาหรือเกษตรกรทั้งสิ้น รวมทั้งนักวิชาการที่ปรับปรุงพันธุ์พืช ที่ผ่านมาสนช.รับฟังความเห็นมาตลอด 2 ปี ทั่วทุกพื้นที่ และสมาคมชาวนาก็ไม่ได้คัดค้าน ทุกคนเข้าใจกันหมดแล้ว ซึ่งข้อห่วงใยของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ในครั้งนี้ เราได้ดำเนินการแก้ไขหมดสิ้นแล้ว ยืนยันว่าชาวนาได้รับสิทธิประโยชน์มากกว่าเดิม และจะทำให้ชาวนามีอาชีพที่มั่นคง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าตัวแทนเครือข่ายประชาชนปกป้องประเทศ ได้ร้องขอต่อพล.อ.ศุภวุฒิ เพื่อขอเข้าฟังการพิจารณา ร่างพ.ร.บ.ข้าว วาระสอง และวาระสาม ในห้องประชุมรัฐสภา แต่พล.อ.ศุภวุฒิ ระบุว่าขอให้ตัวแทนทำหนังสือร้องขอเข้าฟังการประชุมอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรและยื่นต่อเจ้าหน้าที่ก่อน โดยทางกลุ่มดังกล่าวขอให้สนช. ชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว แต่ พล.อ.ศุภวุฒิ ยืนยันว่า ไม่สามารถชะลอได้

เวลา 14.30 น. เมื่อกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ข้าว ตามระเบียบวาระ ปรากฏว่า นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุมสนช.ขณะนั้น สั่งปิดการประชุมทันที โดยพล.อ.มารุต ปัชโชตะสิงห์ ประธานคณะกมธ.วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ข้าว แถลงภายหลังปิดประชุมว่า เหตุที่มีการเลื่อนวาระการประชุมร่างพ.ร.บ.ข้าว ออกไปเป็นวันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์นี้ เพราะกมธ.เห็นพ้องว่า จะนำข้อเรียกร้องและคัดค้านจากฝ่ายต่างๆกลับไปทบทวนอีกครั้ง เช่น การซื้อขายข้าวตามวิถีชุมชน เป็นต้น ซึ่งร่างกฏหมายฉบับนี้ถือเป็นครั้งแรกที่ให้ตัวแทนชาวนาเข้ามาเป็นกรรมการระดับชาติถึง 4 คน รวมถึงอาจได้สัดส่วนของภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วย อย่างไรก็ตาม นายพรเพชร กล่าวในที่ประชุมขอให้กมธ.นำร่างพ.ร.บ.ข้าวไปทบทวนเนื้อหาตามประเด็นที่มีเครือข่ายชาวนายื่นหนังสือท้วงติงและเสนอความคิดเห็นขัดแย้ง เพื่อให้เกิดความรอบคอบและทำร่างกฏหมายที่เป็นประโยชน์กับชาวนาทุกลุ่ม

 

 

ที่มา  มติชนออนไลน์