“จรุงวิทย์” หนังหน้าไฟ กกต. เคลียร์ใบส้ม 66 เขต พลิกคะแนน 3 ขั้ว

สัมภาษณ์พิเศษ โดย ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

 

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กลายเป็น “ตำบลกระสุนตก” ถูกไล่ต้อน-ไล่บี้จากพรรคการเมือง-นักการเมือง จากผู้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ทั้งในโลกความจริง และโลกออนไลน์ จนแทบหลังพิงฝา

“ข้อบกพร่อง-ผิดพลาด” เกิดขึ้นหลายจุด ทั้งที่เป็นการเลือกตั้งครั้งสำคัญที่สุดในรอบ 8 ปี

ปรากฏแฮชแท็กในโลกออนไลน์มากมาย ทั้ง #กกต.โป๊ะแตก #โกงเลือกตั้ง ฯลฯ นำไปสู่การล่ารายชื่อถอดถอน 7 กกต. เกือบจะทุกภาคทั่วประเทศ ไม่นับข้อสงสัยถึง “สูตรคำนวณ” ปาร์ตี้ลิสต์กลายเป็นข้อถกเถียงทุกวงการเมือง

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา” เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในฐานะ “พ่อบ้าน กกต.” มีส่วนร่วมจัดการเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี 2547 ในตำแหน่งรองเลขาฯ กกต.ด้านการสืบสวนสอบสวน

รับตำบลกระสุนตก

แต่เหตุใด กกต.กลายเป็นผู้ถูก “จับผิด” เสียเอง

“พ.ต.อ.จรุงวิทย์” ตอบว่า ในการเลือกตั้งทุกครั้ง กกต.เป็นตำบลกระสุนตกมาตลอดโดยเฉพาะช่วงเลือกตั้ง ทางพนักงาน กกต.รู้ดีว่าต้องเกิดอะไรบ้าง เคยถูกปิดล้อมอาคารหลังเลือกตั้งปี 2550 ส่วนปี 2557 มีการปิดล้อม กกต. เราจัดเลือกตั้งไม่ได้เลย ต้องไปสัญจรข้างนอก ยิ่งกว่ากระสุนตกอีก

“การเลือกตั้งที่ผ่านมา กกต.ได้นำบทเรียนมาปรับแก้ไขในการเลือกตั้งครั้งนี้ค่อนข้างเยอะ พยายามที่สุดแล้ว แต่ยังมีข้อบกพร่องบ้าง โดยรวมแล้วไม่ทำให้การเลือกตั้งเสียไปทั้งหมด แต่น้อยกว่าเมื่อก่อนไหม… น้อยกว่าเมื่อก่อน”

ยันไม่โกงเลือกตั้ง

กับข้อสงสัยว่า กกต.โกงเลือกตั้งหรือไม่ “พ.ต.อ.จรุงวิทย์” ตอบทันที “ผมพูดตลอดว่า เรายืนยันทำตามกฎหมาย ถ้าไม่ทำตามกฎหมายคงอยู่ไม่ได้ กฎหมายว่าอย่างไรก็ต้องทำอย่างนั้น และต้องมีความเป็นกลาง ไม่เอนเอียงเข้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง วันนี้ก็ยังพูดถึงความเป็นกลาง กระบวนการจัดเลือกตั้งต้องเที่ยงธรรม เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ยึดหลักตรงนี้ตลอด ยังยืนยันอย่างเดิม”

นักเลือกตั้งอย่าง “จาตุรนต์ ฉายแสง”โพสต์เฟซบุ๊กถึง กกต. 12 ข้อ ในจำนวนนั้นระบุว่า กกต.ชุดปัจจุบันมาจากการแทรกแซงของ คสช. และมักมีข่าวทำนองว่า ผู้นำ คสช.และผู้นำรัฐบาลมอบเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้ กกต.ไปทำอยู่บ่อย ๆ กกต.ก็ไม่เคยทักท้วงว่า มอบไม่ได้ สั่งไม่ได้ เท่ากับยอมรับว่า ทำตามคำสั่งของ คสช.และรัฐบาล

“จรุงวิทย์” ชี้แจงคำถามนั้นว่า “ถ้ามาจากตามนั้น (คสช.) แล้ว เรื่องต่าง ๆ จะเป็นอย่างที่คิดหรือเปล่า ต้องดูเองว่าตรงไปตรงมาไหม เป็นกลางไหม ดูผลของงานด้วย ไม่ใช่ไม่ดูผลงาน”

รับผิดพลาดบางเรื่อง

“พ.ต.อ.จรุงวิทย์” น้อมรับว่าการจัดการเลือกตั้งของ กกต.ยังมี “ข้อบกพร่อง” ที่ต้องไป “ขันนอต” ในอนาคต
“เช่น เคสบัตรเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรของนิวซีแลนด์ ที่มาถึงหน่วยเลือกตั้งไม่ทันเดดไลน์ จนกลายเป็น “บัตรที่นำมานับเป็นคะแนนไม่ได้” ต้องเอาไปปรับปรุงแม้เกิดขึ้นแล้ว จะมีผู้รับผิดหรือไม่ก็ตาม กกต.ต้องปรับปรุงระเบียบต่าง ๆ ให้รัดกุมมากขึ้น”

“กรณีแรพพิทรีพอร์ต ก็เป็นอุปสรรคทั้งที่เป็นการอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้รู้ผลคะแนนเร็ว แต่มีประเด็นที่ตีความว่าหยุดนับคะแนนแล้ว กกต.ถูกโดนโจมตีหนัก ซึ่งความเป็นจริงหยุดนับคะแนนไม่ได้ ถ้าหยุดติดคุกทันที นับคะแนนที่หน่วยไม่มีหยุดหรอก แต่เขาไม่ได้คีย์ข้อมูล 93,000 หน่วยเข้ามา หรือมี error นิด ๆหน่อย ๆ ก็เพี้ยนแล้ว จึงทำให้เกิดปัญหา ผลลบกลับเกิดขึ้นมาที่เราทันที ทั้งที่ กกต.จัดเลือกตั้งอย่างนี้ตลอด ไม่มีบิดเบี้ยวไปจากเดิม ไม่ได้สร้างระบบใหม่”

“ทุกวันนี้เราชี้แจงตลอด ชี้แจงจนเหนื่อย กระทั่งมีทีมชี้แจงที่ตั้งขึ้นมาเพื่อตอบทันที กกต.ยึดมั่นทำตามกฎหมาย ยอมรับผิดในส่วนที่ผิด ที่บกพร่องในเรื่องการจัดการ ซึ่งไม่ทำอะไรให้การเลือกตั้งเสียไป แต่พอกล่าวหารุนแรง ต่างชาติรู้ก็เกิดความไม่เชื่อมั่น จนผมเองรู้สึกว่า… เอ๊ะ เราโกงเหรอ แต่เราไม่ได้ทำเพื่อกลุ่มใด พรรคใด พรรคหนึ่ง ถ้าทำอย่างนั้น กกต.มีสิทธิที่จะถูกดำเนินคดี คนไม่ยอม”

ติดกับดักโซเชียล

“พ.ต.อ.จรุงวิทย์” ยอมรับว่า การเลือกตั้งครั้งนี้อิทธิพลของ “โซเชียลมีเดีย” ทำให้ กกต.ตกเป็นฝ่ายตั้งรับ จนตั้งตัวไม่ทัน “กระแสโซเชียลมีเดียค่อนข้างจะเยอะมาก พอกระแสแรงขึ้นมา ทำให้เกิดการถล่มทลายลงได้เลย เช่น หากมีการยกประเด็นอะไรขึ้นมาตอนที่ กกต.เป็นตำบลกระสุนตกอยู่แล้ว พอยกขึ้นมาอย่างหนึ่งแทบจะขย้ำเราให้ตาย ทั้ง ๆ ที่มันเกิดขึ้นได้ และชี้แจงได้ด้วย”

“ความรุนแรงของโซเชียลมีเดียก็เป็นส่วนหนึ่งทำให้คิดว่า มันหนักขนาดนี้เลยหรือ การไปถ่ายภาพมาภาพหนึ่งแล้วโพสต์ในสิ่งที่ไม่เป็นความจริง ภาพกับข้อความไม่ใช่ แต่เป็นการกล่าวหาให้ร้ายกันเต็ม ๆ ถ้าชี้แจงข้ามวัน กระแสไปแล้ว คนเชื่อไปอย่างนั้นแล้ว”

กกต.แตะต้องได้

ภายหลังถูกถล่มในโซเชียลอย่างหนัก ปรากฏข่าวว่า กกต.เริ่มดำเนินคดีกับ “นักเคลื่อนไหว-นักเลงคีย์บอร์ด” พ.ต.อ.จรุงวิทย์ย้อนว่า กกต.วิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่ควรอยู่บนพื้นฐานความจริง

“สมมุติผมไปวิพากษ์วิจารณ์คนนี้โดยไม่รู้ข้อเท็จจริง เช่น ไปกล่าวหาว่าคนแก่คนนั้นเป็นผีกระสือ ไปพูดกับชาวบ้านว่าคนแก่เป็นผีกระสือ แล้วเอาไม้ไปตีคนแก่คนนั้นตาย รู้หรือยังเขาเป็นผีกระสือ ก่อนที่จะกล่าวหาใคร ต้องมีความเป็นธรรมเหมือนกันว่า เขาทำอะไรผิด ข้อบกพร่องเป็นอย่างไร ไม่ใช่วิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้นะ แต่ไม่ใช่ไปใส่ร้าย ดูหมิ่นเกลียดชัง ข้อเท็จจริงก็ไม่ฟัง”

“พ.ต.อ.จรุงวิทย์” ไม่กลัวว่าเป็น “น้ำผึ้งหยดเดียว” บ้านเรามีเหตุผล เป็นนิติรัฐ ใช้กฎหมาย ถ้าใส่ร้ายว่า กกต.โกง ไปพิสูจน์กันในศาลว่าโกงอย่างไร ภาระการพิสูจน์อยู่ที่คนพูด นี่คือกระบวนการยุติธรรม ถ้าพิสูจน์ไม่ได้ว่าเราโกงจริงก็โดนลงโทษ

สูตรปาร์ตี้ลิสต์มีแค่สูตรเดียว

ขณะที่ “สูตรคำนวณ” ปาร์ตี้ลิสต์ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายเลือกตั้งถูกตีความไปคนละทางสองทาง ทั้งพรรคการเมือง-นักวิชาการ จึงเรียกร้องให้ กกต.เปิดสูตรคำนวณของ กกต.ถึงขั้นขู่ว่า “พ.ต.อ.จรุงวิทย์” ตอบเหตุผลว่า ทำไมจึงไม่เปิดเผยสูตร !

“กฎหมายเขียนไว้อยู่แล้ว เขียนชัดอยู่แล้ว แต่คิดว่ากระแสเวลานี้เกิดจากผลการเลือกตั้งของ 2 กลุ่มที่คะแนนไล่เลี่ยกันมากกว่า จึงมีการจุดประเด็นเรื่องสูตรจนเป็นกระแสในสังคม”

“จุดเริ่มต้นของสูตร กกต.ไม่ได้คิด คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บอกต้องเอาระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม แล้วเอาเจ้าหน้าที่ กกต.ไปเป็นอนุกรรมาธิการร่วมกับ กรธ.ว่า ถ้าจะเอาระบบนี้ ไปลองคำนวณมาให้ดูสิ กกต.จึงเป็นอนุฯ แต่ กรธ.เริ่ม”

“ดังนั้น จึงมีสูตรเดียวของ กรธ. ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่ใช่ของ กกต.ด้วย คือ สูตรในกฎหมายที่เขียนไว้ ขั้นตอนการร่างจะมีเพลตสูตรที่เขียนขึ้นมาก่อน ว่าคำนวณอย่างไร จึงจะเอามาเขียนกฎหมาย แต่พอเขียนแล้วอาจมีบางถ้อยคำ หรืออนุฯนี้ข้ามมาอนุฯนี้ทำให้ยอกย้อนแล้วงง พอเอา ส.ส.ไปให้กับพรรคเล็กก็เกิดปัญหาการตีความ บางคนบอกว่าตีความก็ตีความตามลายลักษณ์อักษร ไม่ใช่ตีความตามสูตร โอเค..เราก็รับฟังทุกความเห็น”

สูตรคำนวณของ กกต.จะต้องเกลี่ยที่นั่ง ส.ส.ให้แก่พรรคเล็ก แม้คะแนนไม่ถึงจำนวน ส.ส.พึงมีหรือไม่ ?? เขาตอบว่า ก็อยู่ในการตีความในมาตรา 128 ข้อสรุปของสำนักงาน (เบื้องต้น มีพรรคการเมืองที่ได้รับการจัดสรร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อไม่น้อยกว่า 25 พรรคการเมือง) ก็คือข้อสรุปที่ไปเป็นกรรมาธิการร่วมกับ กรธ. แต่ไม่ทราบว่า กกต.จะเห็นว่าอย่างไร แต่สำนักงาน กกต.ยังเชื่อมั่นในกรอบ

เฉพาะสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ก็มีเสียงขู่จากนักเลือกตั้งว่า ถ้าให้ ส.ส.พรรคเล็กจะขัดรัฐธรรมนูญ และจะยื่นถอดถอน กกต. เขาแย้งทันที…

“เราทำตามกฎหมาย ไม่ได้คิดมาเพราะคะแนนออกมาอย่างนี้จึงมาคิดสูตรทีหลัง แต่สูตรนี้มีมาตั้งแต่ กรธ. สนช. ไม่กังวล เป็นเรื่องปกติที่ช่วงเลือกตั้งจะต้องเจอ”

แม้ว่าขาข้างหนึ่งจะไปอยู่ในคุกก็ยังถือว่าเป็นเรื่องปกติ ? เขาย้ำว่ากกต.สุจริต ถ้าตั้งกติกาหลังจากเลือกตั้งแล้ว…ไม่ได้ แต่กติกานี้มีมาก่อนการเลือกตั้ง มีสูตรตั้งอยู่แล้ว

ในเวลาเดียวกัน กกต.กำลังพิจารณาสำนวนร้องคัดค้านผลเลือกตั้ง 66 เขตเลือกตั้ง ซึ่งว่าที่ ส.ส.เป็นผู้ถูกร้อง หากถูกแจก “ใบส้ม” จะถูกระงับสิทธิเลือกตั้ง 1 ปี และจะลงเลือกตั้งใหม่ไม่ได้

“พ.ต.อ.จรุงวิทย์” กล่าวถึงการพิจารณาสำนวนดังกล่าวว่า คำว่าถูกกล่าวหาต้องไปดูในสำนวนด้วยว่ามีพยานหลักฐานแค่ไหนเพียงใด ข้อเท็จจริงแค่ไหนอย่างไร

“ซึ่งผลกระทบจากการเลือกตั้งใหม่ ทุกคะแนนมีค่า แม้แต่ผู้สมัครที่ไม่ได้รับเลือก หากทำผิดคะแนนหาย คะแนนถึงไม่นิ่ง ผู้ที่ได้รับที่ 3 ที่ 4 ถ้าถูกใบแดง คะแนนเขาก็หายต้องคำนวณใหม่ ถ้าผู้สมัครที่มีคะแนนจะได้เป็น ส.ส.ถูกใบส้ม แล้ว กกต.สั่งให้เลือกตั้งใหม่ คะแนนทุกพรรคในเขตเลือกตั้งก็จะถูกรีเซตไปด้วย”

จะทำให้มีผลต่อการจัดตั้งรัฐบาล 3 ขั้ว 1 ขั้วเพื่อไทย 2 ขั้วพลังประชารัฐ และ 3 ขั้วตัวแปรประชาธิปัตย์ หรือไม่ เลขาฯ กกต.ตอบว่า เราถึงยังไม่คิดไง แค่รายงานผลคะแนนเบื้องต้น ดังนั้นที่กกต.สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในบางหน่วย ก็ทำให้คะแนนเปลี่ยน แต่จะไม่กระทบต่อภาพใหญ่ เว้นแต่ถ้าเลือกตั้งใหม่ทั้งเขตเลือกตั้ง กระทบภาพใหญ่แน่

ถามคำถาม “พ.ต.อ.จรุงวิทย์” เป็นคำถามสุดท้าย ถึงกระแสข่าวการเลือกตั้งอาจโมฆะในท้ายที่สุด เขาตอบไม่ลังเล


“ยังไม่เห็นว่าอะไรที่จะทำให้โมฆะ ยังไม่มี ถ้าโมฆะจะต้องเป็นเรื่องระดับใหญ่จริง ๆ เช่น วันเลือกตั้งไม่เป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร เหมือนปี 2557 หรือการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยตรงและลับ แต่ปัจจุบันยังไม่มี อยู่ในกระบวนการตามข้อกฎหมาย เราระมัดระวังอยู่แล้ว”