พลิกปูมรัฐบาลปริ่มน้ำ อยู่ไม่ยืด “บิ๊กตู่” คุม 254 นักการเมืองเขี้ยวลากดิน

จำนวน 254 เสียง จาก 19 พรรคการเมือง ประกอบร่างเป็นรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ ได้ผู้นำประเทศชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย

แต่กลายเป็นรัฐบาล “เสียงปริ่มน้ำสุด ๆ” หลังเข้าสู่ยุคธงเขียวปฏิรูปการเมือง เมื่อปี 2540 ที่มีรัฐบาลเสียงข้างมากเข้มแข็ง แต่ภาพการเมืองปัจจุบันย้อนถอยหลังเข้าคลอง ภาพรัฐบาลปวกเปียก ไม่มีเสถียรภาพปรากฏชัดมากขึ้น เพราะมีแต้มห่างจากฝ่ายค้านที่มี 246 เสียง แค่ 8 เสียง

เพราะรัฐบาลผสม 19 พรรค ขั้วพลังประชารัฐ มีจำนวนพรรคร่วมรัฐบาลจำนวนมาก เป็นรองเพียงแค่ รัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อปี 2518 ซึ่งประกอบด้วย 23 พรรคการเมือง

ในครั้งนั้นเหตุการณ์รัฐบาล “ปริ่มน้ำ” เกิดขึ้น 2 รัฐบาลติดกัน เมื่อผลการเลือกตั้งครั้ง 26 ม.ค. 2518 อันเป็นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 10 ไม่มีพรรคใดได้เสียงในสภาเกินครึ่ง โดยมีพรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงมากเป็นอันดับ 1 มี ส.ส. 72 เสียง พรรคธรรมสังคม 45 เสียง พรรคชาติไทย 28 เสียง พรรคเกษตรสังคม 19 เสียง พรรคกิจสังคม 18 เสียง พรรคสังคมชาตินิยม 16 เสียง พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย 15 เสียง พรรคพลังใหม่ 12 เสียง พรรคแนวร่วมสังคมนิยม 10 เสียง พรรคสันติชน 8 เสียง

แต่กลายเป็นว่า แม้สภาผู้แทนราษฎรเสียงข้างมากจะโหวต ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นนายกฯ แต่ทันทีที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา กลับถูกคว่ำ-แพ้โหวตกลางสภา เมื่อ 15 มี.ค. 2518

“ม.ร.ว.เสนีย์” ได้เป็นนายกฯ ได้เพียง 1 เดือนเท่านั้น

ถัดมา 2 วัน วันที่ 17 มี.ค. 2518 “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช” หัวหน้าพรรคกิจสังคม ที่ได้เสียงในสภาแค่ 18 เสียง อยู่ในลำดับที่ 5 กลับได้รับเลือกให้เป็นนายกฯ เพราะสามารถรวมเสียงจากพรรคต่าง ๆ ได้ถึง 135 เสียง เป็นเสียงไว้วางใจให้เป็นนายกฯ 140 เสียงต่อ 124 เสียง

แต่รัฐบาลปริ่มน้ำของ “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์” ก็อยู่ได้เพียง 1 ปี เพราะปัญหาความขัดแย้งภายใน จนต้อง “ยุบสภา” ในที่สุด ต่อมาพรรคประชาธิปัตย์ของ “ม.ร.ว.เสนีย์” ได้รับการเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 อีกครั้ง และเป็นรัฐบาลกระทั่งเกิดเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519

หลังรัฐประหาร 6 ต.ค. 2519 การเมืองไทยเข้าสู่ยุคทหาร-ประชาธิปไตยครึ่งใบ นานนับทศวรรษ ด้วยกลไกรัฐธรรมนูญ 2521 ให้ ส.ว.มีบทบาทสนับสนุนนายกฯ เป็นผลให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกฯได้ถึง 8 ปี ไม่มีรัฐบาลถึงขั้น “ปริ่มน้ำ” ให้หนักใจนายกฯ

แต่สถานการณ์รัฐบาลผสมเกิดขึ้นอีกครั้งในยุค “ชวน หลีกภัย” แห่งพรรคประชาธิปัตย์ หลังการเลือกตั้ง 13 ก.ย. 2535 รัฐบาลผสมประกอบด้วยพรรคประชาธิปัตย์ พรรคความหวังใหม่ พรรคพลังธรรม พรรคกิจสังคม และพรรคเอกภาพ มีเสียงรวมกัน 207 เสียง จากจำนวนเสียงทั้งหมด 360 เสียง ในสภาผู้แทนราษฎร

แม้มีเสียงมากกว่าฝ่ายค้าน 153 เสียง แต่เมื่อถึงคราวที่พรรคประชาธิปัตย์ ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเรื่อง สปก.4-01 เมื่อ 19 พ.ค. 2538 พรรคพลังธรรม ซึ่งเป็นพรรคขนาดกลาง คุมเสียงในสภา 47 เสียง งดออกเสียงไม่โหวตให้ฝ่ายรัฐบาล ซ้ำรัฐมนตรีของพลังธรรมจะลาออกจากคณะรัฐมนตรี ขณะที่สมาชิกกลุ่ม 16 ในพรรคชาติพัฒนาที่มีสมาชิก 21 คน จะไม่ยกมือโหวตให้รัฐบาล ผลดังกล่าว ทำให้ “ชวน” ต้องประกาศยุบสภา เมื่อ 19 พ.ค. 2538

ขณะที่ในยุครัฐบาลชวน 2 ที่เข้ามาเสียบเป็นรัฐบาลแทนพรรคความหวังใหม่ ของ “ชวลิต ยงใจยุทธ” ที่ประกาศลาออกจากนายกฯ ทำให้ฟากรัฐบาล-ฝ่ายค้าน จัดตั้งรัฐบาลแข่งกัน โดยฝ่ายรัฐบาลความหวังใหม่ ได้ชู “พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ” แห่งชาติพัฒนา เป็นนายกฯ ขณะที่ขั้วฝ่ายค้าน ชู “ชวน หลีกภัย” เป็นนายกฯสมัยที่ 2

ผลปรากฏว่า การรวบรวมเสียงทั้งสองฝ่ายห่างกันแค่ 1 แต้ม เพราะข้างรัฐบาล ความหวังใหม่ มี 125 เสียง พรรคชาติพัฒนา 52 เสียง พรรคประชากรไทย 18 เสียง และพรรคมวลชน 2 เสียง รวม 197 เสียง

ฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ 123 เสียง พรรคชาติไทย 39 เสียง พรรคเอกภาพ 8 เสียง พรรคพลังธรรม 1 เสียง พรรคไท 1 เสียง พรรคกิจสังคม 20 เสียง พรรคเสรีธรรม 4 เสียง รวม 196 เสียง ซึ่งน้อยกว่าฝ่ายรัฐบาล 1 เสียง ทำให้เกิด “งูเห่า” ขึ้น เมื่อ ส.ส.พรรคประชากรไทย 12 คน แหกมติพรรค เข้าร่วมสนับสนุนชวน ทำให้มีเสียง 208 เสียง พลิกกลับมาเป็นรัฐบาลผสม ชวน 2 มีเสียงมากกว่าฝ่ายค้านแค่ 11 เสียง เท่านั้น

รัฐบาลชวน 2 บริหารประเทศด้วยเสียงปริ่มน้ำ แม้ภายหลังจะมีเสียงเพิ่มขึ้นอีก 8 เสียง มากกว่าฝ่ายค้าน 18 เสียง แต่อยู่รอดถึงปี 2544 ใกล้ครบวาระ จึงเปิดให้มีการเลือกตั้งใหม่ พรรคไทยรักไทยของ “ทักษิณ ชินวัตร” ชนะเลือกตั้ง เป็นอันเข้าสู่รัฐบาลเสียงข้างมากตามรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ดีไซน์ไว้ หมดยุครัฐบาลปริ่มน้ำ


กระทั่งรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ และขั้วพรรคพลังประชารัฐ มีเสียงมากกว่าฝ่ายค้านแค่ 7 เสียง ขึ้นอยู่กับผู้นำ “พล.อ.ประยุทธ์” จะพิสูจน์ฝีมือประคองรัฐบาลได้กี่เดือน-กี่ปี