4 พรรค พลิกตำราสู้พิษหุ้นสื่อ 65 ส.ส.ถอดชนักศาลรัฐธรรมนูญ

สงครามถอด ส.ส.ถือหุ้นสื่อ ยังคงบานปลายเป็นหนังดราม่า ฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้านต่างแลกหมัดยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยปม ส.ส.หุ้นสื่อทำบาดเจ็บกันเกือบทุกพรรค

กับล่าสุดที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลถือหุ้นสื่อ โดย “คัดกรอง” จากที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นไป 41 คน เหลือ 32 คนที่ต้องเข้าสู่กระบวนการ “พิสูจน์” ความจริง โดยต้องหอบหลักฐานชี้แจงภายใน 15 วัน ซึ่งตรงในช่วงกลางเดือน ก.ค.

ใน 32 คน มีพรรคพลังประชารัฐ 21 คน พรรคประชาธิปัตย์ 8 คน พรรคชาติพัฒนา 1 คน พรรครวมพลังประชาชาติไทย 1 คน พรรคประชาภิวัฒน์ 1 คน มีแคนดิเดตรัฐมนตรีรวมอยู่ 4 คน

ว่าที่ 4 รมต.ในบ่วงหุ้นสื่อ

ประกอบด้วย 1.นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แคนดิเดต รมว.ศึกษาธิการ ถือหุ้นบริษัท แปซิฟิค เอ็กซ์คลูซิฟ ซิตี้ คลับ จำกัด 2.นายสาธิต ปิตุเตชะ ส.ส.ระยอง รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แคนดิเดต รมช.สาธารณสุข ถือหุ้นบริษัท พี.ที.รุ่งเรืองคอนกรีต จำกัด 3.ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรครวมพลังประชาชาติไทย แคนดิเดต รมว.ต่างประเทศ ถือหุ้นบริษัท เจ.ซี.ฟู๊ด คอร์ทส จำกัด และ 4.นายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี พรรคพลังประชารัฐ แคนดิเดต รมว.แรงงาน ถือหุ้นบริษัท อรินสิริ แลนด์ จำกัด (มหาชน)

ส่วน 9 คนที่ “รอดตัว” มีจากพรรคพลังประชารัฐ 6 คน ประกอบด้วย1.นายศาสตรา ศรีปาน ส.ส.สงขลา 2.นายสุรศักดิ์ ชิงนวรรณ์ ส.ส.สระแก้ว 3.น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี 4.นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 5.นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ส.ส.กทม. 6.น.ส.ภริม พูลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ และพรรคประชาธิปัตย์ 3 คน 1.นายกรณ์ จาติกวณิช ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2.นายประมวล พงศ์ถาวรเดช ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ 3.นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี

ทว่า ผ่านไปไม่ถึง 24 ชั่วโมง พรรคพลังประชารัฐ นำโดย “ทศพล เพ็งส้ม” ส.ส.นนทบุรี หัวหน้าทีมสู้คดี ประกาศเอาคืนฝ่ายค้าน ยื่นเรื่องผ่านประธานสภา ให้ส่งชื่อ 33 ส.ส.ฝ่ายค้านที่เข้าข่ายถือหุ้นสื่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เข้าตำรา “หนามยอกเอาหนามบ่ง”

แต่พรรคพลังประชารัฐต้องปรับกลยุทธ์ 360 องศา จากเดิมที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ ส.ส.ฝ่ายค้าน 55 คนต้องเหลือเพียงแค่ 33 คน

เพราะเดิมทีทุกพรรค-ทุกข้าง เก็งกันว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจยึดแนวคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ที่ยึดแนวพิจารณาถือหุ้นในบริษัทที่ประกอบกิจการสื่อ โดยรวม “การประกอบกิจการค้า กระดาษ เครื่องเขียน แบบเรียน แบบพิมพ์ หนังสืออุปกรณ์การพิมพ์ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์” เข้ากับกิจกรรมประเภทสื่อมวลชนด้วย

แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้อง 32 ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลเข้าข่ายถือหุ้นสื่อ โดยตั้งบรรทัดฐานใหม่ขึ้นมาตีกรอบการรับคำร้องให้แคบขึ้น ไม่นับ “การค้าอุปกรณ์การพิมพ์ สิ่งพิมพ์ หนังสือพิมพ์” เป็นการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ

ทำให้จาก 55 คน เหลือ 33 คน หายไป 20 คน ใน 33 คน เป็น พรรคอนาคตใหม่ 21 คน พรรคเพื่อไทย 4 คน พรรคประชาชาติ 1 คน พรรคเสรีรวมไทย 3 คน และพรรคเพื่อชาติ 4 คน ชื่อสำคัญ ๆ ฝ่ายค้านที่ถูกร้อง อาทิ “สงคราม กิจเลิศไพโรจน์” หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ “พล.ท.พงศกร รอดชมภู” รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ “วิสาร เตชะธีราวัฒน์” ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย

เฉือนฝ่ายค้านแค่ 7 เสียง

อย่างไรก็ตาม หากผลจากสงครามถอด ส.ส.ถือหุ้นสื่อ เท่ากับว่าจะมีชื่อทั้ง ส.ส.ฝ่ายค้าน 33 คน-ฝ่ายรัฐบาล 32 คน ไปกองรวมกันที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อรอขึ้นเขียงทั้งสิ้น 65 คน

ใน scenario การเมือง “เลวร้าย” ที่สุด หาก 32 ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลถือหุ้นสื่อจริง จะทำให้เสียง ส.ส.ในสภาของซีกรัฐบาลลดเหลือ 221 คน จากทั้งหมด 253 คน (หักชวน หลีกภัย ประธานสภา)

ขณะที่ฝ่ายค้าน 244 เสียง (ไม่นับธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่) หากต้องมีอันเป็นไปพ้นจาก ส.ส. 33 คน จะทำให้ฝ่ายค้านเหลือเสียง 211 คน สถานการณ์เช่นนี้ยังทำให้ฝ่ายรัฐบาลมี ส.ส.มากกว่าฝ่ายค้าน 10 เสียง

แต่เมื่อถึงคิวโหวตกฎหมายในสภา จะต้อง “หักเสียง 3 เสียง” ของประธานสภา และรองประธานสภา 2 คนทำให้ฝ่ายรัฐบาลมีเสียงเฉือนฝ่ายค้าน 7 เสียง

แต่ที่สุดแล้ว ขึ้นอยู่กับ “ฝีมือ” ในการสู้คดีของทั้งฝ่ายรัฐบาล-ฝ่ายค้านว่าจะอุ้ม ส.ส.ในซีกของตัวเองรอดพ้นพิษหุ้นสื่อได้หรือไม่

อนค.โชว์งบฯบริษัทไม่ได้ทำสื่อ

เทียบฝีมือนักกฎหมายมหาชนที่ต่อสู้คดีหุ้นสื่อของแต่ละพรรค “อนาคตใหม่” หนีไม่พ้น “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการพรรค อดีตนักวิชาการกฎหมายมหาชน จาก ม.ธรรมศาสตร์ ปริญญาตรีนิติศาสตรบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ปริญญาโท สาขากฎหมายมหาชนและกฎหมายสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัย Nantes ประเทศฝรั่งเศส ปริญญาเอก เกียรตินิยมดีมาก โดยมติเอกฉันท์จากมหาวิทยาลัย Toulouse ประเทศฝรั่งเศส

“ปิยบุตร” พบช่องทางการ “ต่อสู้” ล่าสุดหลังศาลรัฐธรรมนูญให้เกณฑ์เพิ่มเติมว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะตรวจสอบแบบแสดงรายการการประกอบธุรกิจของห้างหุ้นส่วนบริษัท (สสช.1) หรือต้องดูแบบนำส่งงบการเงินของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทด้วยว่ามีรายได้จากการประกอบกิจการใด จะใช้เอกสารนี้ต่อสู้ว่าคนของพรรคไม่ได้ถือหุ้นสื่อจริง

อย่างไรก็ตาม กรณีแรกที่พรรคอนาคตใหม่ต้องเผชิญ คือ กรณีของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรค ซึ่งถูกร้องเรื่องถือหุ้นสื่อก่อนใครเพื่อน ซึ่งจะครบกำหนดที่ขอขยายระยะเวลาชี้แจง 30 วัน ในวันที่ 8 ก.ค.ที่จะถึงนี้

ปชป.งัดเจตนารมณ์ รธน.สู้

ฟากประชาธิปัตย์ มี “ราเมศ รัตนะเชวง” โฆษกพรรค ในฐานะหัวหน้าทีมสู้คดีถือหุ้นสื่อ มีดีกรีอยู่ในทีมกฎหมายที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์รอดคดียุบพรรคเมื่อปี 2553 จากปมใช้เงินบริจาค 258 ล้านผิดวัตถุประสงค์ จบนิติศาสตรบัณฑิต รามคำแหง เนติบัณฑิตไทย และเป็น “สายตรง” คนหนึ่งของ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาผู้แทนราษฎร

“ราเมศ” จะต่อสู้ในเรื่องเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ว่า กรณีการห้ามถือหุ้นสื่อเป็นการป้องกันการได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขัน เพราะหากมีผู้ลงสมัครเป็นเจ้าของสื่อก็จะได้เปรียบ จึงเขียนมาตรานี้เพื่อป้องกันให้ทุกคนแข่งขันกันอย่างเท่าเทียม

“นอกจากนี้ จะมีการชี้แจงวัตถุประสงค์ในหนังสือบริคณห์สนธิว่าเข้าข่ายประกอบกิจการสื่อจริงหรือไม่ รวมถึงจะนำเอกสารยืนยันให้เห็นว่าไม่เคยมีการยื่นเรื่องเพื่อขออนุญาตดำเนินกิจการสื่อสารมวลชน อีกทั้งไม่มีรายได้ที่เกิดจากการประกอบกิจการสื่อสารมวลชนด้วย ซึ่งแต่ละบริษัทจะมีการจัดทำงบดุลแสดงรายได้ที่ชัดเจนอยู่แล้ว”

เขียนคำแก้ต่างรายตัว

ส่วน “ทศพล เพ็งส้ม” ส.ส.นนทบุรี เป็นหัวหน้าทีมสู้คดีให้ 21 ส.ส.พลังประชารัฐ จบนิติศาสตรบัณฑิต รามคำแหง ประกาศนียบัตรสาขากฎหมายมหาชน รุ่น 15 จากธรรมศาสตร์ เมื่อครั้งอยู่พรรคประชาธิปัตย์ เป็นมือกฎหมายอยู่ในทีมสู้คดียุบพรรคเช่นเดียวกับ “ราเมศ”

เขากล่าวถึงแนวสู้คดีให้ ส.ส.ทั้ง 21 คน ว่า จะยกร่างจากสำเนาคำร้องที่ไปยื่นขอคัดมาจากศาลรัฐธรรมนูญ จากนั้นจะนำมาปรับแก้ไขรายละเอียดตามแต่ละบุคคล และจะนำคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีของนายภูเบศวร์ เห็นหลอด ผู้สมัคร ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ และคดีนายคมสัน ศรีวนิชย์ ผู้สมัคร ส.ส.พรรคประชาชาติ มายื่นขอให้ศาลวินิจฉัย เพราะข้อเท็จจริงทั้ง 2 คดีไม่เหมือนกัน จึงจำเป็นต้องนำรายละเอียดมาวิเคราะห์เพื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา

พท.ไร้กังวลไม่เข้าข่ายกิจการสื่อ

ด้านเพื่อไทย มี “ชูศักดิ์ ศิรินิล” ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย นักกฎหมายมหาชนระดับเทพ ไม่ต้องเอ่ยถึงสรรพคุณเพราะเคยเป็นถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ไม่มีความกังวลกับปม ส.ส.ถือหุ้นสื่อ

“สำหรับพรรคเพื่อไทยได้ตรวจดูหลายครั้งหลายหน เป็นบริษัทร้าง ไม่ได้ประกอบกิจการ หรือเลิกกิจการแล้ว หรือเป็นการเขียนวัตถุประสงค์ไว้กว้าง ๆ ไม่อาจจะตีความได้ว่าเป็นเจ้าของ หรือถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชน เพราะการเขียนวัตถุประสงค์ไม่ได้หมายความว่าจะประกอบกิจการสื่อได้เลย ซึ่งเราไม่ได้วิตกกังวลอะไร”