7 รัฐมนตรี 2 แผ่นดิน แหวกประเพณี ป.ป.ช.-โชว์บัญชีทรัพย์สิน

มื่อ “จุดสลบ” ของรัฐบาล “เสียงปริ่มน้ำ” แขวนอยู่บนรัฐบาลผสม 19 พรรค โดยเฉพาะรัฐมนตรี “โปรไฟล์สีเทา” ถูก 7 พรรคฝ่ายค้านซักฟอกตั้งแต่ยกแรกของการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

ยกต่อไปในการพิสูจน์ “ธรรมาภิบาล” ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา “สมัยที่สอง” คือ การยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) “ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีเต็มตัวหลังแถลงนโยบายรัฐบาล ข้อสำคัญย้ำไปแล้ว คือ ต้องไม่มีการทุจริตโดยเด็ดขาด” พล.อ.ประยุทธ์ประกาศตั้งแต่ “เริ่มงานวันแรก” ในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ

จึงเป็นพันธสัญญาที่ ครม.บิ๊กตู่ 2/1 ต้องปฏิบัติ และ 14 ก.ย. 62 คือ “เดดไลน์” 60 วัน ของการยื่นบัญชีทรัพย์สิน-หนี้สินของ 36 รัฐมนตรี ภายหลังเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนปฏิบัติหน้าที่ และขยายระยะเวลาได้อีก 30 วัน

ทว่ามี 7 “รัฐมนตรีหน้าเดิม” ใน “ครม.บิ๊กตู่ 2/1” ที่ พ.ร.บ. ป.ป.ช.ฉบับใหม่ มาตรา 105 วรรคสี่ “เปิดช่อง” ให้ไม่ต้องยื่น-ไม่เปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ! และเมื่อไม่ได้เป็น ส.ส. จึง “ไม่มีหน้าที่” ต้องยื่นบัญชีฯ ต่อ ป.ป.ช.  7 รัฐมนตรี “หน้าเดิม” ที่ “กฎหมายใหม่” ไม่ได้บังคับให้ยื่น ได้แก่

1.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี-รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

2.พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

3.นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี

4.นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี

5.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

6.นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการต่างประเทศ

7.พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม

“วรวิทย์ สุขบุญ” เลขาธิการ ป.ป.ช. ระบุว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายฉบับใหม่ ป.ป.ช. มาตรา 105 วรรคสี่ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน เนื่องจากปัจจุบัน ป.ป.ช.ตรวจคน ไม่ใช่ตรวจบัญชี

“สมัยก่อนระยะเวลาเพียง 1 ปี เข้าตำแหน่งนี้ ออกตำแหน่งนั้น กลายเป็นยื่นบัญชีฯ โดยไม่จำเป็น หลายบัญชีเป็นภาระทั้งผู้ยื่น เป็นภาระทั้งผู้ตรวจ”

เลขาธิการ ป.ป.ช. กล่าวว่า การตรวจสอบของ ป.ป.ช. ไม่ใช่การ monitor ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง แต่เป็นการ monitor คนคนนั้น ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งจนถึงพ้นจากตำแหน่งจนจบ และ monitor ตลอดเวลา ส่วนจะเป็น “ช่องโหว่” ของกฎหมายหรือไม่นั้น “วรวิทย์” ชี้แจงว่า ถึงแม้ 7 รัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งติดต่อกันเป็นสมัยที่สองจะไม่ได้เป็น ส.ส. แต่ ป.ป.ช.ได้ติดตามตรวจสอบความเคลื่อนไหวตลอด

“แหล่งข่าวจากที่ประชุม ครม.” เปิดเผยว่า รัฐมนตรีทุกคนเข้าใจถึงความจำเป็นในการยื่นบัญชีฯ โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ “ท่านนายก ฯ กล่าวใน ที่ประชุม ครม. ว่า ถ้ายื่นไว้ก็ดี เป็นหลักฐาน” ถึงแม้กฎหมายจะไม่บังคับก็ตาม

เป็นการส่งสัญญาณของ “พล.อ.ประยุทธ์” ในการ “สมัครใจ” ยื่นบัญชีฯ เพื่อโชว์ความโปร่งใส-สร้างบรรทัดฐานธรรมาภิบาลให้กับ 6 รัฐมนตรี-ครม.บิ๊กตู่ ที่มีข้อครหา “รัฐมนตรีสีเทา” 

ทว่าคำถามใหญ่คือ เมื่อกฎหมายป.ป.ช.ไม่บังคับให้ 7 รัฐมนตรีต้องยื่นบัญชีฯ การบังคับใช้กฎหมายเมื่อ “กระทำความผิด” กรณี ปกปิดทรัพย์สิน-หนี้สิน หรือ แสดงทรัพย์สินอันเป็นเท็จ ยังมีผลบังคับได้หรือไม่ เพราะถือว่าเป็นการยื่นบัญชี “โดยสมัครใจ”

และถึงแม้จะสมัครใจยื่นบัญชีฯ ต่อ ป.ป.ช. แต่ “ไม่เปิดเผย” ต่อสาธารณะ เฉกเช่นเดียวกับ 29 รัฐมนตรีที่เหลือ การลงโทษทางการเมือง-ทางสังคมจะถูกลดทอนลงไป ไม่นับรวมกรณี “แหวนแม่-นาฬิกา (ยืม) เพื่อน” ที่ ป.ป.ช. ชี้ว่า ไม่ต้องแสดงรายการทรัพย์สิน-หนี้สินในบัญชีต่อ ป.ป.ช.

“กรณียืมใช้คงรูป กรรมสิทธิ์ยังเป็นของผู้ให้ยืม เพียงแต่ผู้ยืมยังคงมีหน้าที่จะต้องคืนทรัพย์สินแก่เจ้าของตามข้อตกลงที่ให้ยืม หนี้ตามสัญญายืมใช้คงรูป จึงไม่ได้กำหนดไว้ในแบบบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินที่ต้องแสดงต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.” เลขาธิการ ป.ป.ช.ชี้แจง

นอกจากนี้ “กฎหมายใหม่” ยัง “ขยายความ” การยื่นบัญชีฯ ของ “คู่สมรส” ให้หมายความรวมถึง “ภรรยานอกสมรส” ผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสด้วย

“บุคคลซึ่งจดทะเบียนสมรสกับนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีและต่อมาได้จดทะเบียนหย่าขาดจากกันตามกฎหมายแล้ว แต่ยังแสดงให้ปรากฏหรือมีพฤติการณ์เป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปว่ามีสถานะเป็นสามีภริยากัน”

ความท้าทาย-โจทย์หินของ 9 อรหันต์ ป.ป.ช. ที่มี “พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ” เป็นหัวขบวน คือ การพิสูจน์ทรัพย์สิน “ภรรยานอกสมรส” ของรัฐมนตรี ว่า ไม่มีใคร “ซุกกิ๊ก” เอาไว้

โดยในที่ประชุม ครม. เลขาธิการ ป.ป.ช.-เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ให้ชี้แจงให้ 36 รัฐมนตรี-7 รัฐมนตรี “ติดต่อกันสองสมัย” ว่า หากพ้นจากตำแหน่งและแต่งตั้งใหม่ภายใน 1 เดือน “ไม่จำเป็นต้องยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินกรณีพ้นจากตำแหน่งและกรณีเข้ารับตำแหน่งใหม่ “แต่ไม่ต้องห้ามที่จะยื่นเพื่อเป็นหลักฐาน” 

โทษทัณฑ์ของการจงใจ “ปกปิดทรัพย์สิน-หนี้สิน” หรือ “แสดงทรัพย์สินอันเป็นเท็จ” ให้ผู้นั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองประทับรับฟ้อง

หากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวินิจฉัยว่าผู้ใดกระทำความผิด ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ และถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต-ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองและอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี หรือจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ