นฤมล : พูดแทน “ประยุทธ์” อย่าโทษทหาร…อย่าทำการเมืองเพราะแค้น

สัมภาษณ์พิเศษ

โดย ปิยะ สารสุวรรณ

 

“นฤมล ภิญโญสินวัฒน์” เข้าป้ายโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในช่วงโค้งสุดท้าย เธอแซง “ธนกร วังบุญคงชนะ” แคนดิเดต “โฆษกร่วมพรรค” อีกคน ชนิด “ไร้คู่แข่ง”

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “โฆษกรัฐบาล” คำถามที่อื้ออึงทั้งในพรรค-นอกพรรค “ตำแหน่งนี้ได้แต่ใดมา” คำตอบซ่อนอยู่ระหว่างบรรทัดจากนี้

บิ๊กตู่อยากได้คนชี้แจง

“ไม่รู้จักท่านนายกฯเป็นการส่วนตัว ไม่ได้ใกล้ชิด เข้าใจว่า ท่าน (พล.อ.ประยุทธ์) อยากได้คนที่สามารถชี้แจงนโยบายรัฐบาลให้ชาวบ้านฟังเข้าใจง่าย ๆ เพราะเป็นอาจารย์มาก่อน และเป็นตัวแทนของพรรคในการขึ้นเวทีดีเบตนโยบายในช่วงหาเสียง”

“สาเหตุที่ลาออกจากนิด้า จากข้าราชการประจำ ออกจากความสะดวกสบายในชีวิต เพราะเป็น passion อยากทำเพื่อช่วยเหลือคนยากจน การทำงานการเมืองสามารถเอาแนวคิด ทำนโยบายและผลักดันให้เกิดขึ้น เกิดผลกับคนที่ขาดโอกาส”

เมื่อก้าวเข้ามาทำงานการเมืองเต็มตัว “ทางสามแพร่ง” คือ การเลือกระหว่างเป็น ส.ส.-เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังต่อ-โฆษกรัฐบาล เธอบอกว่า “อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้” 

“เดิมทีถูกวางให้ไปอยู่ในสภาก่อน เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 5 หลายคนก็มองว่า อาจารย์ควรจะไปช่วยที่กระทรวงการคลัง ซึ่งก็พร้อมที่จะไปช่วยงานอาจารย์อุตตม (รมว.คลัง) ที่กระทรวงการคลัง” 

ปลดพันธสัญญาอุตตม-สมคิด

“เผอิญว่าทางนี้อยากจะให้มาเป็นโฆษกรัฐบาล ทาบทามมา จึงเรียนอาจารย์อุตตมว่า เขาติดต่อมา ท่านเห็นว่าอย่างไร ก็ขออนุญาตท่านก่อน เพราะเรามีสัญญาใจว่าจะไปช่วยท่านที่กระทรวงการคลัง และอาจารย์สมคิด (รองนายกรัฐมนตรี)”

“จึงเรียนอาจารย์อุตตมและอาจารย์สมคิดว่า แบบนี้ OK ไหม ท่านก็บอกว่า มันก็ช่วยรัฐบาลได้ และเป็นตำแหน่งที่ดี จะได้มาช่วยในภาพใหญ่ ท่านก็ไม่ได้ขัดข้องอะไร ก็เลยขออนุญาตท่านและมาช่วยงานท่านนายกฯ”

“ท่านนายกฯเลือก แสดงว่าท่านไว้ใจ ไม่ควรปฏิเสธ และเชื่อว่าการเข้ามาช่วยตรงนี้จะสามารถเชื่อมประสานทั้ง 3 ส่วน คือ พูดแทนท่านนายกฯ ต้องประสานกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) การทำงานในสภาให้ร้อยเรียงเป็นเรื่องเดียวกัน เป็นเอกภาพ มีเสถียรภาพ”

“การเปลี่ยนแปลงในชีวิตครั้งสำคัญไม่ได้วางแผนในชีวิตไว้เอง ว่าอยากจะเป็นอะไร อาจจะมีอะไรนำทางในชีวิต มี destiny ของตัวเองให้ไปทำอะไรบางอย่าง ถ้ากลัวก็คงไม่ลาออก พร้อมยอมรับและมีเส้นทางเดินต่อไป” 

มีวันนี้เพราะ “ผู้ใหญ่”

การตัดสินใจครั้งสำคัญบนเส้นทางชีวิตการเมือง 3 ครั้ง เธอใช้เวลาตัดสินใจเพียงช่วงสั้น ๆ เพราะ “อยากจะพ้นจากความยากจน” และ “ความท้าทายที่จะทำอะไรเพื่อส่วนรวม” เป็นเครื่องนำทาง

เมื่อถามว่าการตัดสินใจครั้งสำคัญ 3 ครั้งทางการเมือง “ติดหนี้บุญคุณ” ใครบ้างหรือไม่ ? “เรียกว่าเป็นหนี้หรือเปล่า…เขาให้โอกาสก็อาจจะเป็นบุญคุณกัน ความเมตตาที่แต่ละท่านให้โอกาส”

“มีหลายคนอยากทำงานการเมือง พยายามหาทางเข้าก็เข้าไม่ได้ บางคนไม่อยากจะเข้าก็จำเป็นต้องเข้า ส่วนของตัวเองไม่ถึงขั้นว่าไม่อยาก แต่ไม่ได้วางแผนที่จะเข้า เส้นทางชีวิตพาเข้ามา”

“ที่เดินเข้ามาได้เพราะผู้ใหญ่ให้โอกาส เมตตามาตลอดทาง โชคดีเพราะส่วนใหญ่ผู้ใหญ่ที่ไปรับใช้หรือสัมผัสด้วย ท่านเมตตา เราก็เป็นตัวของเรา อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้ เมื่อไรที่ทำไม่ได้ก็พร้อมที่จะออกมา” 

โฆษกไม่ใช่ Passion

passion ต่อไปของเธอจากตำแหน่งโฆษกรัฐบาล จะทะลุไปถึงเก้าอี้รัฐมนตรีหรือไม่ ไม่มีหมุดหมาย เพราะเธอมีคติพจน์ประจำใจ “อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้”

“ไม่มี ตำแหน่งโฆษกก็ไม่ใช่ passion ไม่ได้วางแผน ไม่ได้คิดว่าจะเกิดขึ้น จากนี้ไปก็ไม่มีแผน ไม่เคยดูหมอ ไม่รู้อนาคตจะเป็นอย่างไร เป็นอะไรก็ได้ ขอให้ได้ทำงาน ไม่มีสิทธิ์เลือก ส่วนตัวถนัดการเงินการคลัง”

ด้วยบุคลิกนักวิชาการ-ไม่ตอบโต้ประเด็นทางการเมือง จนถูกมองว่าเป็น “จุดอ่อน” เมื่อต้องเข้า “มุมการเมือง” แต่เธอมองมุมบวก

“การทำหน้าที่โฆษกรัฐบาล เป็นเหมือนตัวแทนท่านนายกฯและคณะรัฐบาลทั้งหมด เป็นภาพลักษณ์ที่ทำให้ประชาชนสบายใจ มั่นใจว่าจะไม่สร้างความขัดแย้งเพิ่มเติมในสังคมอีก ชี้แจงเฉพาะประเด็นการเมืองที่จำเป็น”

โฆษกประยุทธ์-ไม่ต้องพูดเยอะ

เมื่อ “โฆษกหน้าใหม่” ต้องรับบท “พูดแทน” พล.อ.ประยุทธ์-คณะรัฐมนตรีทั้งคณะ โดยเฉพาะเรื่องคอขาดบาดตาย การพูดขอโทษ ครม.-รับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวกรณีถวายสัตย์ จนถูกตีความว่า “ถอดใจ-ลาออก” เธอจึงต้องขอคำคอนเฟิร์มจากปาก พล.อ.ประยุทธ์ก่อน

“ถามท่านก่อน คอนเฟิร์มก่อนว่า จะปฏิเสธนะ ท่านก็บอกว่า ปฏิเสธเลย ในช่วงเริ่มต้นคงต้องถามท่านก่อน เพราะไม่เคยทำงานกับท่านโดยตรง จนกว่าจะถึงวันที่ท่านไว้วางใจ ซึ่งท่านก็เริ่มบอกให้พูดแทนท่านได้บ้างแล้ว”

“ท่านนายกฯให้สื่อสารโดยใช้ภาษาชาวบ้าน เน้นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เรื่องไร้สาระไม่ต้องพูดเยอะ โดยเฉพาะท่านเป็นห่วงเรื่องเศรษฐกิจฐานราก ปัญหาปากท้อง ทำอย่างไรให้เงินลงไปฐานราก เศรษฐกิจหมุนเวียนหลายรอบ”

ชี้แจงทันใจ-ไม่ออฟไซด์

รัฐบาลที่ผ่านมาในยุค คสช. โฆษกรัฐบาลจะเป็นนายทหาร-ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่เป็นผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเข้ามาเป็น “โฆษกรัฐบาล (หญิง) พลเรือน”

เธอพยายามปรับตัวให้รู้มือ มองตา-รู้ใจ โดยใช้ “ความจริงใจ” เข้าแลก เพราะรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์เมื่อภาคแรก ใช้โฆษกรัฐบาลเปลืองรัฐบาลหนึ่ง

“ยังไม่ถึงมองตาก็รู้ใจ (ยิ้ม) ต้องจริงใจ ใช้ความจริงใจที่มีทำงานกับท่าน จริงใจกับรัฐมนตรีทั้งหมด พร้อมจะทำทุกอย่างที่ท่านมอบหมายให้เป็นประโยชน์กับประชาชน”

บทบาทโฆษกรัฐบาลของเธอหลังจากนี้ แม้จะยังไม่ต้องปรับตัว แต่ดูทางทิศทางลม-ไม่ล้น ไม่พูดเกินหน้าที่ ชี้แจงรวดเร็วทันใจ-ไม่ออฟไซด์ พล.อ.ประยุทธ์

แจงสี่เบี้ย ประชารัฐ-แก้ รธน. 

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ภาคสอง ในยุคที่มี “นฤมล-โฆษกหญิง” แห่งตึกนารีสโมสร 4 ปีนับจากนี้ ต้องรับบทหนักทั้งการแถลงข่าวสร้าง “ภาพลักษณ์”-ลบ กู้ “ภาพลบ” ผ่านมติ ครม.

ทั้งวาระเศรษฐกิจประชารัฐ-การแก้ปัญหาปากท้อง ไม่เว้นแม้กระทั่งวาระการเมืองร้อน จากการบรรจุการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ในนโยบายรัฐบาล 12 เรื่องเร่งด่วน

“เศรษฐกิจฐานรากเป็นเรื่องใหญ่ นโยบายของรัฐบาลนี้ คือ การกระจายรายได้ และการแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนผ่านกลไกสวัสดิการ ค่าแรงและโอกาสทางการศึกษา เพราะการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำไม่สามารถแก้ได้เพียงข้ามคืน”

“นโยบายประชารัฐไม่ใช่การแจกเงินอย่างเดียว การแก้ปัญหามีทั้ง 4 มิติ ได้แก่ มิติที่หนึ่ง การบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น มิติที่สอง การพัฒนาฝีมือแรงงาน หางานให้ทำ มิติที่สาม แก้ปัญหาหนี้สิน หนี้นอกระบบ มิติที่สี่ การเข้าถึงแหล่งเงินทุน”

วาทะโจมตีรัฐบาล-พลังประชารัฐเอื้อทุนใหญ่ คนจนจนไม่จริง-คนจนมีแต่เพิ่มไม่มีลด รวมถึงข้อครหาหนักว่า “ขายชาติ” ของนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

“เรื่องอีอีซีมีกระทรวงหลักชี้แจงอยู่แล้ว โฆษกรัฐบาลทำหน้าที่ประสานข้อมูลว่า ใครจะเป็นคนชี้แจง ฝ่ายค้านก็ทำหน้าที่ของเขา ขุด แคะ ภาพลบของโครงการ ซึ่งรัฐบาลมีข้อมูลสามารถชี้แจงได้ ประชาชนมีส่วนร่วม”

“ต่างประเทศมองว่าประเทศไทยไม่ได้เป็นเพียงประเทศไทย แต่เป็นไข่แดงของเอเชีย”

ฝันเห็นการเมืองใหม่

“ถ้ามองในแง่บวก รักประเทศไทย ต้องการให้ประเทศไทยเจริญ ขอให้คิดถึงประโยชน์ประเทศเป็นที่ตั้ง รัฐบาลพร้อมแก้ไข แม้รัฐบาลกับฝ่ายค้านจะเดินคนละทาง แต่ปลายทางคือจุดเดียวกัน อยากให้ประเทศเจริญ คนในชาติมีความหวัง”

ความฝันที่อยากจะเห็น-ความหวังที่อยากจะเจอของเธอมองโลกสวย คือ “วันหนึ่งจะรักกัน หวังว่าความขัดแย้งจะหมดไป เป็นการเมืองใหม่” โดยการนับ 1 จากการแก้รัฐธรรมนูญ

“รัฐบาลบรรจุไว้ในนโยบายเร่งด่วนข้อสุดท้าย ท่านนายกฯเปิดกว้าง เป็นไปตามกระบวนการ ไม่เคยบอกเลยว่าแก้ไม่ได้ รัฐบาลอาจจะ (เป็นเจ้าภาพ) ต้องดูว่า โครงสร้างไหนเหมาะสมในการศึกษา หรือมีภาคส่วนอื่นเข้ามามีส่วนร่วมเพิ่มเติม”

“อยากเห็นนักการเมืองใหม่ ๆ คนรุ่นใหม่ มองคนเห็นต่างทางการเมืองด้วยการให้เกียรติ ถ้าสวมเสื้อคนละพรรค อยู่คนละฝั่งพรรคที่พูดผิดหมด ไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่เป็นการสร้างความขัดแย้งในสังคม”

“หากศึกษาประวัติศาสตร์ตั้งแต่ 2475 จะเข้าใจเหตุผลว่า ทำไมเราถึงเดินมาถึงจุดนี้ ทำไมต้องมีการรัฐประหารปี”49 และปี”57 ไม่มีใครพูด พูดถึงแต่การยึดอำนาจ ต้อง fair จะมาโทษทหารอย่างเดียวไม่ได้ เป็นเพียงปัจจัยทางการเมืองที่ใช้โจมตีรัฐบาล ทุกคนมีส่วนร่วมทำให้เดินมาถึงจุดนี้ อย่าลากกลับไปที่เดิมอีกเลย”

“รัฐธรรมนูญฉบับนี้ คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุด คือ ใคร ใครก็รู้ การนับทุกเสียงทำให้บางพรรคมี ส.ส.เข้ามามากกว่าที่คาด แต่รัฐบาลไม่ได้ปิดกั้น ไม่ต้องไประดมชาวบ้านแล้วบอกว่ารัฐบาลไม่แก้ ไม่มี เชื่อว่า ส.ส. 500 คน ที่เข้ามาตั้งใจดีกับประเทศ แต่เชื่อคนละอย่าง ถึงวันหนึ่งสิ่งที่เราเชื่อไม่ได้ถูกทั้งหมด ขอให้ทำการเมืองที่คิดว่าประชาชนจะได้อะไร อย่าทำการเมืองเพราะความคับแค้น สะใจ”

“งานหนัก” ของทีมโฆษกรัฐบาลชุดนี้ คือ การสื่อสารผลงานรัฐบาล ให้จับต้องได้-ไม่มีการทุจริต