รอยอดีตรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ ปฐมบทกบฏ…ปฏิวัติ นายพลล็อกเก้าอี้นายกฯ

ไทยมีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 20 ฉบับ และส่อแววว่าจะมีฉบับที่ 21 ในอนาคตข้างหน้า เมื่อสภาผู้แทนราษฎรกำลังจะตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560
เป็นประเทศหนึ่งที่มีการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญบ่อยที่สุดในโลก

ตลอดเส้นทางการเมืองไทยในระบอบประชาธิปไตยที่มี “รัฐธรรมนูญ” เป็นกฎหมายสูงสุด เส้นทางของรัฐธรรมนูญเกือบทุกๆ ฉบับ มีเหตุการณ์สำคัญๆ ที่ควรจารึกไว้

@ ปฐมบทรัฐประหาร – กบฏ

เหตุการณ์สำคัญในรัฐธรรมนูญ 2475 กลายเป็นปฐมบทของการรัฐประหารครั้งที่ 1 นับแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 จนถึงวันพระราชทานรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรก 10 ธันวาคม 2475 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกใช้ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะถูกใช้ถึง 2 ช่วง ช่วงแรก 14 ตั้งแต่ 2475 – 2489 ช่วงที่ 2 รัฐธรรมนูญ 2475 ถูกนำมาใช้ใหม่อีกครั้ง ผ่านการแก้ไขเพิ่มเติมในยุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกฯ รอบ 2 ในปี 2495 กระทั่งถูกยกเลิกโดยคณะปฏิวัติ นำโดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2500 รวม 19 ปี

อย่างไรก็ตาม หลังรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ใช้ได้เกือบ 4 เดือน การรัฐประหารครั้งแรกก็เกิดขึ้น เมื่อวันเสาร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 โดยที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร พร้อมงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ภายหลังเกิดปมขัดแย้งเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจปกเหลืองของ “ปรีดี พนมยงค์” ที่ถูกวิจารณ์ว่าลอกมาจากเค้าโครงเศรษฐกิจของลัทธิคอมมิวนิสต์ กระทั่ง “ปรีดี” ต้องลี้ภัยไปอยู่ฝรั่งเศส

กระทั่ง พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฎร กระทำการรัฐประหารยึดอำนาจคืน ในเดือน มิถุนายน 2476 และเนรเทศ พระยามโนฯ ไปยังปีนังด้วยรถไฟ พร้อมกับเรียกตัว “ปรีดี” กลับมาจากฝรั่งเศส
เมื่อมีคณะรัฐประหารที่ “ปฏิวัติ” สำเร็จ ก็ย่อมมีฝ่ายแพ้ ภายหลัง “ปรีดี” กลับมาสู่สยามได้เพียง 10 วัน ก็เกิดเหตุการณ์ที่ “คณะกู้บ้านกู้เมือง” ที่ต้องการฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ นำโดย พลเอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม ใช้ “แผนล้อมกวาง” ด้วยการนำทหารจากหัวเมืองต่างจังหวัด ปิดล้อมทหารฝ่ายรัฐบาล แต่สุดท้ายพ่ายแพ้ พระองค์เจ้าบวรเดชต้องลี้ภัยไปต่างประเทศ

นำมาสู่ วันที่ 29 ตุลาคม 2476 รัฐบาลได้ตราพระราชบัญญัติ จัดตั้งศาลพิเศษ มีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการกบฏ และจลาจล ไม่ว่าผู้ต้องหาจะเป็นทหารหรือพลเรือน คำพิพากษาถือเป็นเด็ดขาด ไม่มีอุทธรณ์ฎีกา และผู้ต้องหาไม่มีทนายความแก้ต่าง สุดท้ายมีผู้ถูกจับ 600 คน มีการส่งฟ้อง 318 คน มีความผิดต้องโทษ 296 คน ประหารชีวิต 6 คน จำคุกตลอดชีวิต 244 คน

@ รัฐธรรมนูญ 9 ฉบับที่ถูกฉีกด้วยการยึดอำนาจ

หลังมีรัฐประหารครั้งที่ 1 ในปี 2476 ถึง 2557 ไทยมีรัฐประหารรวมแล้ว 13 ครั้ง ทั้งรัฐประหารตนเอง และรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เพียงแต่รัฐธรรมนูญที่ “ถูกฉีก” โดยคณะรัฐประหารรวมกัน 9 ฉบับ
ฉบับแรก คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 ถูกแทนที่ด้วยรัฐธรรมนูญ 2490 หรือ รัฐธรรมนูญตุ่มแดง หลังจากรัฐประหาร 2490

ฉบับที่ 2 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492 ถูกแทนที่ด้วย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 หลังจาก “จอมพล ป.” รัฐประหารตนเอง

ฉบับที่ 3 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ถูกฉีกหลังจาก “จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์” ยึดอำนาจเมื่อปี 2501 และถูกแทนที่ด้วย ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502

ฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511 ถูกแทนที่ด้วย ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515 จากการยึดอำนาจตนเองของ จอมพลถนอม กิตติขจร

ฉบับที่ 5 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2517 ถูกแทนที่ด้วย รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 โดยการยึดอำนาจของ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งมี พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้า หลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19

ฉบับที่ 6 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2519 ภายหลัง “พล.ร.อ.สงัด” ยึดอำนาจตนเองเพื่อเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี จาก “ธานินทร์ กรัยวิเชียร” มาเป็น “พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์” โดยประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2520 แทนที่

ฉบับที่ 7 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521 ถูกฉีกก็เพราะ “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” หรือ รสช. ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ แล้วประกาศใช้ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2534

ฉบับที่ 8 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2540 ถูกคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ยึดอำนาจรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” แล้วใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2549 แทน

ฉบับที่ 9 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 ต้องสิ้นสุดลง ด้วยการยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ยึดอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และบังคับใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แทน

@ ชื่อเล่น “รัฐธรรมนูญ” ไทย

ในประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 20 ฉบับ รัฐธรรมนูญถูกตั้งชื่อเล่น ให้จำง่ายๆ อย่างน้อยๆ ที่คนไทยคุ้นหู คือรัฐธรรมนูญ 2540 ที่มีชื่อเล่น – ชื่อเรียกว่า “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศผ่านตัวแทนจังหวัด ซึ่งรวมเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.)

โดย สสร.มาจาก 2 ส่วนแรก สสร. จากตัวแทนแต่ละจังหวัด ที่มาจากการประกาศรับสมัครในแต่ละจังหวัด 76 คน ถือว่าเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม ส่วนที่สอง สสร. จากตัวแทนผู้เชี่ยวชาญ ด้านต่างๆ ทั้ง นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ 23 คน รวม 99 คน

รัฐธรรมนูญ 2550 ถูกเรียกในหมู่คอการเมืองว่า “รัฐธรรมนูญฉบับหน้าแหลมฟันดำ” เพราะเรียกตามฉายา “น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ” ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เพียงแต่ “ฉบับหน้าแหลมฟันดำ” ไม่ใช่ชื่อเรียกในวงกว้างเท่านั้น หลังการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ จนถึงความพยายามผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่ยุคพรรคพลังประชาชน พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย กระทั่งถูกฉีกโดยการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ก็ไม่มีใครเรียกรัฐธรรมนูญ 50 ว่าเป็น “รัฐธรรมนูญฉบับหน้าแหลมฟันดำ” เท่าไหร่นัก

รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2490 ที่มีฉายาว่า “รัฐธรรมนูญใต้ตุ่ม” หรืออีกขื่อคือ “รัฐธรรมนูญตุ่มแดง” ก็เพราะก่อนการรัฐประหารที่นำทัพโดย พล.ท.ผิน ชุณหะวัณ เมื่อ 8 พ.ย.2490 ซึ่งอีกไม่กี่วันจะครบรอบ 72 ปี มีการเตรียมการร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวเอาไว้ คนร่างคือ น.อ.กาจ เก่งระดมยิง หรือ น.อ.กาจ กาจส่งคราม (รองหัวหน้าคณะรัฐประหาร) โดยมีคนรู้เห็นไม่กี่คน และเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ “ความลับ” การรัฐประหารรั่วไหล น.อ.กาจ จึงซ่อนไว้ใต้ตุ่มสามโคก เมื่อรัฐประหารสำเร็จจึงเอาออกจากตุ่ม แล้วมาประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราว

แล้วรัฐธรรมนูญใต้ตุ่มต้องถูกยกเลิก เพราะมีรัฐธรรมนูญ 2492 ขึ้นมาบังคับใช้แทน

@ ค้นต้นฉบับ ม.44 ในรัฐธรรมนูญ

มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่เป็นมาตราสารพัดนึกของ คสช. และถูกพูดถึงมากที่สุด แม้กระทั่งหลังเลือกตั้ง 24 มี.ค.2562 ยังมีความพยายามจากฝ่ายนิติบัญญัติที่จะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาผลกระทบมาตรา 44 รวมถึง คำสั่ง คสช. แต่ก็ไม่อาจตั้งได้ เพราะถูก “พิษงูเห่า” ฝ่ายค้าน ยกมือโหวตให้ฝ่ายรัฐบาล ที่ไม่อยากให้ตั้งคณะกรรมาธิการดังกล่าวขึ้นมา

ทว่า มาตรา 44 เป็นกฎหมายที่เสกคำสั่งคณะปฏิวัติให้มีอำนาจเหนือกว่าฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ วิวัฒนาการจาก มาตรา 17 ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อันเป็นที่มาวาทะประวัติศาสตร์ “ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว”

มาตรา 17 หายไปเมื่อมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ทว่า อีก 3 ปีต่อมาเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 และมีการรัฐประหารปี 2519 “พล.ร.อ.สงัด ชะลออยู่” หัวหน้าคณะปฏิวัติก็นำมาตรา 17 มาปัดฝุ่นใช้อีกครั้ง อยู่ในมาตรา 21 รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2519

ในปี พ.ศ.2520 พล.ร.อ.สงัด ก็ปฏิวัติตัวเองอีกครั้งเพื่อเปลี่ยนตัวนายกฯ จาก “ธานินทร์ กรัยวิเชียร” มาเป็น “พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์” มาตรา21 ก็ขยับตัวเลขมาอยู่ในมาตรา 27 ของธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2520

หลังธรรมนูญการปกครอง 2520 ถูกยกเลิกด้วยรัฐธรรมนูญ 2521 มาตรา 27 อันเป็นมรดกของมาตรา 17 ยุคจอมพลสฤษดิ์ก็มลายหายไป

กระทั่ง “พล.อ.ประยุทธ์” เข้าควบคุมอำนาจ และนำมาปัดฝุ่นใช้ใหม่อีกครั้งเมื่อเวลาผ่านไปเกือบ 4 ทศวรรษ ในรูปมาตรา 44

@ ส.ส.ร.ครั้งแรก จากรัฐประหาร 2490

สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เป็น 1 ในมรดกที่เกิดขึ้นช่วงรัฐประหาร ส.ส.ร. เกิดขึ้นครั้งแรกในยุคคณะปฏิวัติที่มีจอมพลผิน ชุณหะวัณ เป็นหัวหน้า ได้ตั้ง ส.ส.ร.ชุดที่ 1 จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 (แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 2) เมื่อวันที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2491 ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ สภาร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้ประกอบด้วยสมาชิก 40 คน

ส.ส.ร.ชุดที่ 2 ก็ยังอยู่ในห้วงเวลาปฏิวัติ โดยจัดตั้งขึ้นตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2502 ประกอบด้วยสมาชิกผู้ทรงคุณวุฒิที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจำนวน 240 คน ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญและให้มีฐานะเป็นรัฐสภาทำหน้าที่นิติบัญญัติ แต่กว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะร่างเสร็จก็ใช้เวลา นานถึง 9 ปี 4 เดือน (3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 ถึง 20 มิถุนายน พ.ศ. 2511)

ส.ส.ร.ชุดที่ 3 ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2539 สมาชิกมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละหนึ่งคน รวมกับผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ จำนวน 23 คน เป็น 99 คน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ภายใน 240 วัน กลายเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

ส.ส.ร.ชุดที่ 4 ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 หลังการยึดอำนาจ 19 กันยายน 2549 ที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นผู้นำรัฐประหาร โดยมีจำนวนสมาชิก 200 คน แล้วให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ทำการคัดเลือกเหลือ 100 คน เพื่อไปเป็นสภาร่างรัฐธรรมนูญ และ คมช.เลือกผู้ทรงคุณวุฒิอีก 10 คน ทำหน้าที่ร่วมเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กลายเป็นที่มาของ รัฐธรรมนูญ 2550

@ 1 นายพัน 3 นายพล สืบทอดเก้าอี้นายกฯ

เกือบทุกครั้งที่มีการยึดอำนาจ – ฉีกรัฐธรรมนูญ – ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ – เลือกตั้ง ในจำนวนรัฐประหาร 13 ครั้ง มีผู้นำยึดอำอาจ ที่เปิดให้มีการเลือกตั้งและตัวเองได้รับเลือกกลับมาเป็นนายกฯ สมัยที่ 2 ถึง 4 คน

1.พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา ที่ยึดอำนาจจากพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และเปิดให้มีการเลือกตั้งในปี 2476

2.จอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ยึดอำนาจตัวเองในปี 2494 เปิดการเลือกตั้งใหม่ปี 2495

3.จอมพลถนอม กิตติขจร ที่เปิดการเลือกตั้งปี 2511 ได้กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง

4. พล.อ.ประยุทธ์ เปิดการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 และกลับมาเป็นนายกสมัยที่ 2
แม้รัฐธรรมนูญผ่านมาแล้ว 20 ฉบับ แต่ยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดเป็นฉบับถาวร