เปิดเก๊ะแก้ PM 2.5 ในลิ้นชักประยุทธ์ คนกรุงระทม สำลักฝุ่นพิษ

ภาพ : มติชน

ปัญหา “ฝุ่นจิ๋ว” PM 2.5 เกินมาตรฐาน จากเรื่อง “ขี้ผง” ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กำลังจะกลายเป็นปัญหาที่ กองเท่า “ภูเขา”

ที่ผ่านมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 1 – ยุค คสช. ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ในมือ แม้จะออกมามาตรการแก้ปัญหา “ฝุ่นพิษ” ทั้งระยะเร่งด่วน-ระยะกลางและระยะยาว ถึงขั้นประกาศเป็น “วาระแห่งชาติ” ทว่าไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ย้อนกันไปเปิดเก๊ะมาตรการการแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ผ่านข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี-หัวหน้าคสช. และมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทว่าข้อสั่งการที่เทียบเท่ากฎหมาย-มติครม.ไม่สามารถนำมาขับเคลื่อนได้อย่างจริงจัง-เข้มข้น

เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2561 พล.อ.ประยุทธ์-หัวหน้าคสช.มีข้อสั่งการ ว่า โดยที่ในช่วงที่ผ่านมาสภาพอากาศในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีการถ่ายเทน้อย และมีฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน สูงเกินกว่ามาตรฐาน ซึ่งส่งผลกระทบแก่สุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม ซึ่งในเบื้องต้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานครได้เร่งดำเนินการควบคุมดูแลเพื่อบรรเทาปัญหาเฉพาะหน้าไปแล้ว

“สำหรับในระยะต่อไป ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหน่วยงานในฝ่ายตำรวจ ทหาร เร่งรัดกำหนดมาตรการเพื่อดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหามลภาวะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐานให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืนต่อไป ทั้งนี้ ให้ขอความร่วมมือภาคเอกชน องค์กร และประชาชนทุกภาคส่วน โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้ร่วมกันกวดขัน ดูแล และดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกัน/ลดการก่อมลภาวะในรูปแบบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องต่อไป”

ข้อสั่งการวันที่ 15 มกราคม 2562 ระบุว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25ธันวาคม 2561 ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเร่งรัดกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหามลภาวะ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองเกินมาตรฐานให้เกิดผลเป็นรูปธรรมและมีความยั่งยืนต่อไป นั้น

“มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ) กำกับดูแลและเร่งรัดการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหามลภาวะดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่ของกรุงเทพมหานครและในจังหวัดที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) เกินมาตรฐาน ทั้งนี้ ในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ให้เป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชน รวมทั้งผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วย”

ข้อสั่งการวันที่ 22 มกราคม 2562 ใจความว่า โดยให้กระทรวงพลังงานเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงคมนาคม กระทรวงศึกษาธิการ กรมประชาสัมพันธ์ เป็นต้น เร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำมันไบโอดีเซลเกรดพิเศษ B20 แทนน้ำมันดีเซลให้มากยิ่งขึ้นเพื่อลดภาวะการเกิดมลพิษและฝุ่นละอองขนาดจิ๋วในอากาศ รวมทั้งให้เร่งรัดจัดให้มีจุดบริการประชาชนในการปรับแต่งเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลให้สามารถรองรับน้ำมันไบโอดีเซลเกรดพิเศษ B20 ได้ โดยให้นักเรียนอาชีวศึกษาที่มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในด้านเครื่องยนต์ดีเซลมาทำหน้าที่ให้บริการดังกล่าว ทั้งนี้ ให้ขอความร่วมมือสถานีบริการน้ำมันต่าง ๆ ทั่วประเทศในการจัดตั้งจุดบริการดังกล่าวให้ทั่วถึงด้วย

ข้อสั่งการวันที่ 29 มกราคม 2562 ย้ำว่า ตามที่นายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการในคราวประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25ธันวาคม 2561 และวันที่ 15 มกราคม 2562 มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไขปัญหามลภาวะ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) เกินมาตรฐานให้เกิดผลเป็นรูปธรรม นั้น

“มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) กำกับติดตามการดำเนินการดังกล่าว โดยให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการกำหนดมาตรการในการแก้ไขปัญหามลภาวะดังกล่าวให้ชัดเจนทั้งในระยะสั้น (มาตรการเร่งด่วน) ระยะกลาง ระยะยาว และให้ขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว ทั้งนี้ ให้พิจารณาถึงความจำเป็นและเหมาะสมในการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เหมาะสม เพื่อให้สามารถป้องกัน ควบคุม และแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างเป็นระบบและมีความยั่งยืนต่อไปด้วย”

ขณะที่มติครม.วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2562 เห็นชอบแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ในกรุงเทพมหานคร/ปริมณฑล และในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ซึ่งเป็นการเตรียมการป้องกันและลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง (พ.ศ. 2562-2564) และระยะยาว (พ.ศ. 2565-2567) เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในการ “สร้างอากาศดี เพื่อคนไทย และผู้มาเยือน” ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ

ทั้งนี้ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงแนวทางและมาตรการฯ ให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น โดยในส่วนของมาตรการระยะเร่งด่วน ขั้นปฏิบัติการ ระดับที่ 2 [ระดับที่ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) มีค่ามากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร] ให้พิจารณากำหนดแนวทางและมาตรการเพิ่มเติมเพื่อขอความร่วมมือให้ประชาชนใช้รถยนต์ดีเซลเป็นเชื้อเพลิงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เนื่องจากไอเสียของเครื่องยนต์ดีเซลเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) รวมทั้งให้ปรับเพิ่มแนวทางและมาตรการฯ ให้ครอบคลุมถึงการดำเนินการด้านสาธารณสุขในการป้องกันและดูแลสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ด้วย

ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการสร้างความเข้าใจแก่ประชาชนให้ถูกต้องและชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินการตามแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ดังกล่าว รวมทั้งมาตรการเร่งด่วนต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น กรณีการปิดสถานศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการและกรุงเทพมหานคร มิใช่เป็นการแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) หรือลดสาเหตุของการเกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กโดยตรง แต่มีเจตนารมณ์สำคัญที่จะปกป้องคุ้มครองเด็กที่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีความเปราะบางและอาจเกิดผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว และกรณีการฉีดพ่นละอองน้ำในอากาศจากอาคารสูงและโดยเครื่องบินในพื้นที่ต่าง ๆ อาจไม่สามารถลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ได้โดยตรง แต่เป็นการดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับมาตรการอื่นอีกหลายมาตรการที่หน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการอยู่ ซึ่งจะช่วยให้ลดปริมาณฝุ่นละอองในภาพรวมลงได้

ซ้ำด้วยมติครม.วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 เห็นชอบเรื่องการกำหนดให้การแก้ไขปัญหามลภาวะด้านฝุ่นละอองเป็น “วาระแห่งชาติ” เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหาในเรื่องดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นกลไกหลักร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติดังกล่าวให้เกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป

ทั้งข้อสั่งการ-มติครม. เป็นเพียง “เสือกระดาษ”