เยียวยาเหยื่อกราดยิงโคราช กองทุนสำนักนายกฯ สมทบ เสียชีวิตรายละ 1 ล้าน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ที่จังหวัดนครราชสีมา ว่า กรณีผู้เสียชีวิต 27 คน จะได้รับเงินจากกระทรวงการคลัง ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สงเคราะห์ผู้ประสบภัย ซึ่งเป็นเงินเยียวยาจำนวนหลักหมื่นบาท ได้จากพ.ร.บ.การให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายจากการกระทำความผิดอาญาของกระทรวงยุติธรรมเป็นจำนวนหลักหมื่นถึงหลักแสนบาท สมทบไป และอาจจะได้จากระเบียบในการอุดหนุนผู้ประสบภัยของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นจำนวนหลักหมื่นบาท

ขณะที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีของกองทุนประสบสาธารณภัย หรือ กองทุนสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายกรัฐมนตรีมอบให้นายเทวัญเป็นประธาน โดยคณะกรรมการการกองทุนได้หารือในหลักการและจะมีการประชุมในวันพรุ่งนี้ (14 ก.พ.) และอาจจะมีมติจ่ายเงินให้แก่ผู้ที่เสียชีวิต 27 ราย รายละ 1 ล้านบาท สมทบ

กรณีได้รับบาดเจ็บ 58 คน แบ่งออกเป็นบาดเจ็บสาหัส 29 คน และบาดเจ็บไม่สาหัส 29 คน โดยจะให้ความช่วยเหลือนอกเหนือจากระเบียบกระทรวงการคลัง ระเบียบ พม. และระเบียบสำนักนายกรัฐ ให้กับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสรายละ 2 แสนบาท สำหรับผู้บาดเจ็บไม่สาหัสรายละไม่เกิน 1 แสนบาท

สำหรับความช่วยเหลือทางจิตใจ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข กรมสุขภาพจิต และ พม. มีความเป็นห่วงและเสนอแนะมาตรการติดตามและเฝ้าระวัง ดูแล และให้ความช่วยเหลือ กับผู้ที่ประสบเหตุโดยตรง คือ เหยื่อของเหตุการณ์ และให้ความช่วยเหลือทางสุขภาพจิตกับผู้ที่ไม่ได้ประสบเหตุโดยตรง แต่พบเห็น เช่น ถูกควบคุมตัวอยู่ในห้างสรรพสินค้าเทอร์มินัล 21 แม้ไม่ได้รับบาดเจ็บ แต่สุขภาพจิตมีปัญหา รวมถึงญาติผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับบาดเจ็บอยู่ที่ห้างได้รับผลกระทบทางจิตใจ รวมถึงคนที่ติดตามเหตุการณ์ทางสื่อโซเชียลมีเดียเกิดความกดดันทางจิตใจ ซึ่งกรมสุขภาพจะมีมาตรการช่วยเหลือต่อไป ทั้งนี้กรมสุขภาพจิตเรื่องพฤติกรรมเลียนแบบ ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาว่า เหตุการณ์ปล้นทองที่จังหวัดลพบุรีมีส่วนต่อการเกิดเหตุการณ์ในครั้งนี้หรือไม่ และจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อไปเพื่อเสนอแนะรัฐบาล

นายวิษณุกล่าวว่า ขณะที่การช่วยเหลือด้านทรัพย์สินของห้างสรรพสินค้าเทอร์มินัล 21 เบื้องต้นวงเงินทำประกันภัย 10 ล้านบาท และร้านค้าที่อยู่ภายใน เช่น Foodland รวมถึงทรัพย์สินผู้ประสบภัย เช่น รถยนต์ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการประกันภัย (คปภ.) ได้ไปสำรวจและได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือต่อไป โดยจะเร่งรัดให้จ่ายเงินกรมธรรณ์ต่อไป ไม่ให้เกิดการฉ้อโกง เบี้ยว จ่ายล่าช้า

รวมถึงประกันตามกฎหมายแรงงาน หรือ ประกันสังคม ซึ่งกระทรวงแรงงานมีตัวเลขผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บ ตามหลักเกณฑ์การประกันสังคม และเงินช่วยเหลือสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน เพื่อให้เกิดการจ่ายเงินให้ถูกต้อง เพราะมีพนักงานของห้างสรรพสินค้าที่เสียชีวิตหรือบาดเจ็บขณะปฏิบัติหน้าที่

นอกจากนี้ยังมี 4 สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ และธนาคารกรุงไทย มีมาตรการดูแลอันดับแรก คือ ลูกค้าธนาคารที่เสียชีวิตจะยกหนี้ให้ หากบาดเจ็บจะลดหย่อนดอกเบี้ยในอัตรา 0.01

“มาตรการระยะต่อไป เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ จิตใจและความเป็นอยู่ของประชาชนจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นจังหวัดสำคัญ เพื่อมีมาตรการเสนอแนะรัฐบาลต่อไป เช่น จัดกิจกรรม ฟื้นฟูการค้า มาตรการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกอบการลงทุนเพื่อให้จังหวัดนครราชสีมาบูมขึ้นในทางเศรษฐกิจและท่องเที่ยวอีกครั้งหนึ่ง”

นายวิษณุกล่าวว่า โดยรายละเอียดทั้งหมดจะรายงานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่ 18 ก.พ.ต่อไป โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาประสานงานในพื้นที่ต่อไป รวมถึงการเสียโอกาสจากการขาดรายได้ ทั้งนี้สามารถจ่ายเงินเยียวยาได้ภายในวันเสาร์ที่ 15 ก.พ.เป็นต้นไป

“หลักเกณฑ์การเยียวยาในเหตุการณ์โคราชครั้งนี้ จ่ายเงินเยียวยาตามนิยามสาธารณภัย ซึ่งครั้งนี้ใช้ชื่อหัวข้อในคำสั่งว่า เนื่องจากคนร้ายกราดยิงประชาชน เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยสาธารณภัย ปี 2542ซึ่งเคยใช้ในเหตุการณ์น้ำท่วม ตึกถล่ม อย่างไรก็ตามนิยามในระเบียบฯ ฉบับนี้ ที่เกิดจากมนุษย์ ธรรมชาติ ที่มีลักษณะเกิดกับคนหลายคน ซึ่งเคยให้ความช่วยเหลือลักษณะนี้มาแล้ว เช่น กรณีราชประสงค์ กรณีเกาะสมุย กรณีใต้ฝุ่นคาจิกิกับโพดุล

“ทุกอย่างจ่ายไปตามระเบียบ ไม่เหมือนกับการจ่ายเมื่อหลายปีมาแล้ว นั่นจ่ายนอกระเบียบนี้ ที่ไปจ่ายรายละ 5 ล้าน 7 ล้าน ซึ่งอยู่ระหว่างไต่สวนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยังไม่จบ ปัญหา คือ จ่ายเงินโดยไม่มีระเบียบ”