กรณ์ จาติกวณิช เสนอแก้พิษโควิด เพิ่มงบกลางปี กู้ฉุกเฉิน-ช่วย 15,000 บาท/เดือน

สัมภาษณ์พิเศษ

กรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีคลังโลก-รัฐมนตรีคลังไทย ทิ้งเก้าอี้ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ก่อตั้ง “พรรคกล้า” ขึ้นเบอร์ 1 (ว่าที่) หัวหน้าพรรค

ใช้ประสบการณ์บริหารงบประมาณ “ฉุกเฉิน” มาแล้วในยุค “เช็คช่วยชาติ”

“ประชาชาติธุรกิจ” เจาะข้อเสนอ หากต้องเป็น “ตัวช่วย” ให้ประชาชนที่โดนพิษโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19)

เพิ่มมาตรการ-ทำทันที

เรื่องที่หนึ่ง การบริหารจัดการด้านสาธารณสุข การแยกตัว เป็นนโยบายที่ถูกต้องและสำคัญที่สุดในตอนนี้

ความชัดเจนในการสื่อสารมาตรการต้องส่งสัญญาณให้ชัด อะไรทำได้ ไม่ได้ เช่น ยกเลิกงานแต่งงาน-งานสัมมนาทุกงาน โดยคงรักษาสิทธิการคืนเงินมัดจำ มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ การส่งเสริม การทำงานที่บ้าน ส่งเสริมการค้าออนไลน์ บริษัทไปรษณีย์ไทย ช่วงนี้ส่งของฟรีได้หรือไม่ หรือลดราคาลงมาในระดับที่ไม่ขาดทุน

รัฐบาลควรมอบหมายเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบโดยตรง หรือผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้สื่อสารกับประชาชน กำหนดวอร์รูมให้ชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้สื่อสารแต่เพียงผู้เดียว ตามจังหวะเวลาที่แน่นอน รวดเร็ว เพื่อให้ประชาชนเข้าใจสถานการณ์ปกติและฉุกเฉินลดรายจ่ายเติมเงินสดให้ประชาชน-SMEs

ขณะนี้มาตรการเศรษฐกิจสำคัญมาก เพราะเกิดขึ้นในบริบทที่สภาวการณ์เศรษฐกิจหดตัวต่อเนื่องเป็นเวลานาน กระทบเศรษฐกิจค่อนข้างรุนแรง

ขณะนี้เงินออม เงินสด เงินในระบบทุนสำรองของผู้ประกอบการมีจำกัด ฉะนั้น รัฐบาลต้องคิดวิธีการต่อสายออกซิเจนต่อสายป่านให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็ก ผู้ค้ารายย่อย ประชาชนหาเช้ากินค่ำที่มีภาระค่าใช้จ่าย และกำลังสูญเสียรายได้ เช่น ถูกปลดออกจากงาน พักงาน ไม่มีเงินเดือน

โจทย์สำคัญ คือ เติม cash flow ทำให้ประชาชน ธุรกิจรายย่อยเข้าถึงแหล่งเงินทุนใหม่ ลดภาระค่าใช้จ่าย การเสริมรายได้ โดยตั้งธงว่า “ต้องเพิ่มเงินสดเพื่อหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ”

อันดับแรก การลดค่าใช้จ่าย รัฐต้องออกนโยบายเข้มข้น จริงจัง เชิงรุก จ่ายดอกเบี้ยสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กที่มีรายได้ไม่เกิน 100 ล้านบาท ระยะเวลา 3 เดือน

สอง รัฐจ่ายเงินสมบทกองทุนประกันสังคม ทั้งในส่วนของลูกจ้างและนายจ้าง รายละ 750 บาท ระยะ 6 เดือน เพื่อไม่ให้ลูกจ้างเสียสิทธิ ไม่ให้นายจ้าง lay off

แบงก์รัฐช่วยตรง-ตัดวงจรหนี้นอกระบบ

มาตรการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยธนาคารออมสินปล่อยตรงแก่ผู้ประกอบการขนาดเล็ก ไม่ต้องมีหลักประกัน รวมถึงพ่อค้าแม่ค้าให้เข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อไม่ให้เจ๊ง

มาตรการการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft lone) ยังไม่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการขนาดเล็กที่เดือดร้อนที่สุด เนื่องจากไม่เข้าเกณฑ์เงื่อนไขของธนาคารพาณิชย์

เรื่องที่ต้องทำทันที กระจายเม็ดเงินให้ตรงเป้าหมายรายย่อย เข้าถึงเงินได้โดยไม่ต้องพึ่งการกู้นอกระบบ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมไปถึงสินเชื่อส่วนบุคคลรายย่อยพิโกไฟแนนซ์ และนาโนไฟแนนซ์

ให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราปกติ และให้ปล่อยกู้ในรูปแบบสินเชื่อส่วนบุคคลระยะยาว

กรณีปิดสถานบันเทิง คนถูกปลดออกจากงานในจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ รัฐควรต้องชดเชย ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงให้เขาอยู่ได้ โดย “รัฐบาลไม่มีข้ออ้างที่จะไม่ทำ เพราะรัฐบาลมีเงิน”

ปลดล็อกเงินแผ่นดิน 3 ระดับ

ในจังหวะแบบนี้ต้องนำแผนการใช้เงินของประเทศมากางดูและทบทวนงบประมาณใหม่ ลำดับความสำคัญมี 2 เรื่อง หนึ่ง การเพิ่มความพร้อมการรักษาพยาบาล สอง เรื่องปากท้อง

ประชาชนต้องอยู่ได้ ผู้ประกอบการต้องไม่เจ๊ง ขณะนี้หากสามารถออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินฉุกเฉินได้ก็ต้องทำ หรือเรียกประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อแก้ไขปัญหาเพื่อปลดล็อกการใช้จ่ายงบฯกลางฉุกเฉินอย่างเป็นรูปธรรม

ระดับที่หนึ่ง การปรับแผนการใช้เงินในปัจจุบันตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณปี’63 ให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ จัดรื้อจัดลำดับความสำคัญใหม่ให้ตรงจุดปัญหาและความต้องการของประเทศ

“โจทย์งบประมาณที่เตรียมไว้ 1 ปีที่แล้ว ถ้าตอบเหมือนเดิมไม่สมควรอยู่ในตำแหน่ง เพราะความต้องการเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ควรต้องทบทวนทันที”

ตัดงบฯทุกกระทรวง ร้อยละ 10

การทบทวนปรับงบประมาณปี”63 ยังมีผลทางรัฐศาสตร์ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่ารัฐอยู่ในโลกของความเป็นจริง และยืดหยุ่นพอที่จะปรับ-ตัดงบประมาณทุกกระทรวง ร้อยละ 10 ในรายการสัมมนา-จัดงาน-งบฯ จัดซื้อที่รอได้

ระดับที่สอง การออก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายกลางปี หรืองบประมาณประจำปีเพิ่มเติม ในวงเงินที่จำเป็นต้องใช้เร่งด่วน ภายใต้กรอบหนี้สาธารณะตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ซึ่งนัยแห่ง พ.ร.บ.บริหารหนี้สาธารณะ กู้เงินสูงสุดได้ประมาณ 7 แสนล้านบาท ซึ่งขณะนี้กู้ไปแล้วตามพ.ร.บ.งบประมาณปี”63 จำนวน 3.7 แสนล้านบาทเพื่อชดเชยการขาดดุล ดังนั้น ยังเหลือเพดานกู้ได้อีกประมาณ 3.3 แสนล้านบาท

ระดับที่สาม การออก พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน จากตัวเลขหนี้สาธารณะขณะนี้เมื่อเทียบกับรายได้ประชาชาติ (จีดีพี) ประมาณร้อยละ 40 (กรอบหนี้สาธารณะไม่เกินร้อยละ 60) ยังเหลือช่องว่างอยู่มาก และช่วงนี้สามารถกู้เงินได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ-ต้นทุนต่ำมาก

ประกันรายได้ 1.5 หมื่นบาท/คน/3เดือน

ทั้งหมดมีลำดับขั้นตอน สิ่งที่ต้องทำเลย ยกตัวอย่าง มีคนตกงาน ถูกสั่งพักงาน ไม่มีเงินเดือน รัฐจะดูแลให้มีรายได้เดือนละ 15,000 บาท/คน/เดือน เนื่องจากอยู่ในสภาวะวิกฤต รัฐปล่อยให้อดตายไม่ได้

ในช่วงเกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2551 มีคนไทยถูกปลดออกจากตำแหน่งงานสูงสุดประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งมีความกังวลว่าจะสูงขึ้นถึง 2 ล้านคน “รัฐบาลอภิสิทธิ์” จึงต้องใช้ยาแรง เช่น โครงการไทยเข้มแข็ง เช็คช่วยชาติ

ดังนั้น 1 ล้านคนต้องใช้เงิน 1.8 แสนล้านบาทต่อปี รัฐต้องชดเชยรายได้ 15,000 บาท/คน/เดือน

“มาตรการนี้เป็นเรื่องการเยียวยาจิตใจด้วย ทำให้คนรู้สึกว่ามีหลักประกันในช่วงวิกฤต แต่เราไม่ร่ำรวยพอที่จะมีหลักประกันแบบนี้ได้อย่างถาวร”

“กรณ์” เสนอมาตรการเป็นรูปธรรม พร้อมแนวปฏิบัติชัดเจนเช่นนี้ จึงถูกถามว่า พร้อมแค่ไหนหากต้องใส่หัวโขน “นายกรัฐมนตรี”


คำตอบที่สั้น-หนักแน่น-มั่นใจ คือ “ถ้าประชาชนให้นะ…ผมพร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี”