3 แคนดิเดตนายก มองโอกาสประเทศ หลังโควิด

ภาวะโควิด-19 เป็นโอกาสที่ทำให้ “นักการเมือง” หยุดพักรบ หยุดชิงไหว-ชิงพริบ หันกลับมาระดมความคิดเห็นเพื่อพาประเทศให้พ้นช่วงวิกฤตไวรัสระบาด Workpoint today นำแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 3 คน จาก 3 พรรค ในศึกการเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 มาร่วมถกแถลง-หาทางออกวิกฤต ซึ่งทั้ง 3 คนมองตรงกันว่า หลังโควิด-19 จบลง จะเป็นโอกาสของประเทศไทย

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย แคนดิเดตนายกฯเพื่อไทย กล่าวว่า 1.โควิดอยู่กับเราอีกระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งจะยาวพอสมควร อัตราการตายน้อยก็จริง แต่การติดง่าย ทำให้เราต้องเรียนรู้ว่าจะมีชีวิตอยู่รอดจากโควิดอย่างไร รอดทั้งปลอดภัยไม่ติดเชื้อ และรอดจากเศรษฐกิจที่เราจะไม่อดตายจากพิษเศรษฐกิจ 2.บริบทของโลกหลังโควิดจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งสภาพการทำมาหากิน สภาพการใช้ชีวิตของคนทั่วโลก มุมมองต่าง ๆ เปลี่ยนไป ด้านความมั่นคง เราไม่ใช่รบกับศัตรูทางอาวุธ แต่เป็นการรบกับเชื้อโรคตัวเล็ก ๆ ประชาชนต้องปรับตัวบริบทใหม่ new normal ให้ได้

บริบทของโลกหลังโควิด-19 เศรษฐกิจแย่ทั้งโลก แต่มองบวก ประเทศไทยจะพลิกวิกฤตเป็นโอกาสได้ อย่างน้อย ๆ คนต้องสนใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น เราสามารถทำฐานที่แข็งแรง คือ ฐานด้านการเกษตร มาบวกเป็นฐานเกษตรแบบใหม่ อาหารปลอดภัยป้อนคนทั้งโลกได้ เรามีศักยภาพที่จะทำได้ โดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ขณะที่บริบทการท่องเที่ยว เรามีสาธารณสุขที่แข็งแรง เราอาจเป็น hub สร้างเสริมสุขภาพ และเป็น med-ical tourism

“พลิกวิกฤตสั้น ๆ ตอนนี้ เรื่องการท่องเที่ยวได้ หลังจากโควิดซาลงไป อาจเป็นปลายปี หรือต้นปีหน้า สร้างความมั่นใจ เที่ยวประเทศไทยปลอดภัยจากโควิด เพราะประเทศไทยมี 1 2 3 4 5 และตอนนั้นใช้ marketing เข้ามาช่วย จะเป็น grand sale ร่วมกับมาตรการด้านการปลอดภัยจากโควิด จะพลิกวิกฤตได้ ตอนนี้โชคดีทำให้ disruption เร็วขึ้น แต่อย่าท้อ อยู่ให้ได้โดยใช้เทคโนโลยีของโลกใหม่มาเป็นโอกาสของคนไทย”

ด้าน “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” อดีตแคนดิเดตนายกฯของพรรคอนาคตใหม่ เชื่อว่าหลังโควิด-19 จบ ต้องทำให้ประเทศไทยไปไกลกว่าเดิม

สำหรับผมคือโอกาสที่ดี และโอกาสที่จะทำให้ไปไกลกว่าเดิม คือ เงิน 2 ล้านล้านบาท ต้องเอามาสร้างงานที่มีคุณภาพ มีงานที่มีความหมาย ให้เขาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างภาคภูมิ สร้างรัฐสวัสดิการที่จะดูแลประชาชนได้ทั่วถึง ถ้วนหน้าได้ดีกว่านี้ เพราะความมั่นคงของประชาชน คือ ความมั่นคงของสังคม ไม่ใช่กลับกันอย่างที่รัฐบาลเชื่อมาตลอดว่า ต้องทำให้กลุ่มทุนมั่นคง กลุ่มทุนขนาดใหญ่ถึงดึงกลุ่มทุนขนาดกลาง และกลุ่มทุนขนาดกลางดึงทุนขนาดเล็กขึ้นไป นี่คือแนวคิดแบบประชารัฐ ซึ่งเราไม่ได้คิดแบบนั้น เราคิดจากการสร้างคนให้เข้มแข็ง ให้พวกเขาคิดไกลได้ ไม่ต้องคิดหากินวันต่อวัน มีแต่สวัสดิการเท่านั้นที่เป็นทางออก

“ถ้าเราเอาเงินมาสร้างอุตสาหกรรมใหม่ สร้างซัพพลายเชนใหม่ ไม่ต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีจากต่างชาติ ไม่ต้องพึ่งพิงเงินทุนจากต่างชาติ เรามีคนที่มีความรู้ความสามารถเพียงพอ สร้างเทคโนโลยี สร้างอุตสาหกรรมใหม่ ให้คนมีงานทำอย่างทั่วหน้า นี่จะเป็นการเปลี่ยนประเทศ การใช้วิกฤตให้เป็นโอกาส เพราะในวาระปกติจะทำต่าง ๆ แบบนี้ยากมาก ต้องสู้กับอนุรักษนิยมทางการคลังในระบบราชการ”

“อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” แคนดิเดตนายกฯจากพรรคประชาธิปัตย์ เป็นหนึ่งเดียวที่เคยสัมผัสตำแหน่ง “ผู้นำประเทศ” มาก่อน มองแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ว่า บทเรียนนี้เป็นบทเรียนราคาแพงพอสมควรของคนทั่วโลก คงทำให้ปรับเปลี่ยนอะไรหลายอย่าง ทำให้ภาวะไม่ปกติสอนให้เราคุ้นเคยในอีกหลาย ๆ เรื่อง คนพูดกันมากว่า ทำร้ายโลกน้อยลง ซึ่งไม่ค่อยสำเร็จเท่าไหร่ แต่พอมาเจอภาวะอย่างนี้ แต่ที่มีการถ่ายภาพดาวเทียม มลพิษทางอากาศหายไปเท่าไหร่ หรืออากาศในเมืองใหญ่ไม่เคยเห็นท้องฟ้าสีฟ้าเลย ก็ยังมีให้เห็น

ถ้าเราเปลี่ยนวิถีชีวิตบางด้าน บางอย่าง ทำได้ไม่ยากจนเกินไป การจราจรซึ่งพอคนเคลื่อนที่น้อยลงก็ชวนให้เราคิดว่า ต่อไประบบการทำงานเหลื่อมเวลา ทำงานจากบ้าน ต้องทำอย่างไร ส่วนเศรษฐกิจไทยต้องมองดูโอกาส โดยต้องพยายามเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น ถ้าเราคิดว่าเศรษฐกิจระหว่างประเทศยังไม่เข้มแข็งหรือเป็นโอกาสที่เพียงพอ

“ภาคเกษตร ภาคอาหาร ซึ่งเป็นจุดแข็งเดิมอยู่แล้ว น่าจะเป็นโอกาสนอกจากจะพลิกฟื้น แสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ทางข้างหน้า ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมภายในประเทศทำอย่างไรที่จะแสวงหาจุดแข็ง จากที่เราเห็นแล้วว่าพอห่วงโซ่อุปทานข้ามชาติเกิดปัญหาขึ้นแล้ว อะไรไปได้ อะไรไปไม่ได้

แม้กระทั่งการต่างประเทศ หรือการท่องเที่ยว แนวคิดต่อไปอนาคตการหารายได้แบบมีคุณภาพ มีมาตรฐาน ที่จะช่วยลดความเสี่ยงได้อย่างไร และประเทศไทยคงมีจุดแข็งต่อไปจากวิกฤตนี้ ทั่วโลกจะเห็นความเข้มแข็งด้านบริการสาธารณสุข และสุขภาพของไทย”