‘ประยุทธ์’ ขาขึ้น เศรษฐกิจขาลง ตีเช็คเงินกู้ 1 ล้านล้านชี้ชะตารัฐบาล

รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เทกออฟเหนือนักการเมือง “สหพรรค” พิชิตศึกซักฟอกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท แก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) อยู่หมัด ปรากฏการณ์ “ไทยชนะ” แสลงหูพรรคฝ่ายแค้นที่ตีไพ่หน้าเดียว-โจมตีการบริหารเศรษฐกิจผิดพลาด กระทบชิ่งการสืบทอดอำนาจพิเศษ-พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่เห็นหัวคนตัวเล็กตัวน้อย ชาวบ้านร้านตลาดเดือดร้อนทุกเส้นหญ้า

ทว่าวาทกรรม “ตีเช็คเปล่า” และ “ชัยชนะบนซากปรักหักพัง” ของพรรคพันธมิตรฝ่ายค้าน ไม่สามารถยัดเยียดความปราชัยให้กับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์และพวกให้ระคายผิว แม้จะเป็นการใช้เงินกู้วิกฤตครั้งมโหฬารที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทย-ทุบสถิติการกู้วิกฤตเศรษฐกิจ จนหนี้สาธารณะเหลืออีก 2 เปอร์เซ็นต์ จะติดเพดาน พลพรรคฝ่ายค้าน-ฝ่ายค้านในพรรครัฐบาล เดินยุทธศาสตร์ 2 ขา แต่เป้าหมายเดียวกัน คือ การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญตรวจสอบการใช้เงินกู้ ขอมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน

“วันนี้สถานการณ์คลี่คลายลงได้ด้วยการบริหารจัดการให้ดีขึ้น อย่าได้คิดว่ารัฐบาลจะใช้แต่เงินอย่างเดียว ขอให้มั่นใจกลไกการตรวจสอบ นอกเหนือจากคณะกรรมการที่ตรวจสอบแล้ว รัฐสภา และหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบภายในระบบ ทั้ง สตง. ปปง. ป.ป.ช. ป.ป.ส. สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมด และย้ำมาตลอดว่า

การเสนอโครงการต่าง ๆ จะต้องผ่านกลไกของพื้นที่ คือ กนจ. และต้องมีการพิจารณาการตั้งกรอบวงเงินมาก่อน ทั้งสิ้น” พล.อ.ประยุทธ์ดักทางข้อหาหนัก ถึงแม้ว่า “วัคซีนเข็มแรก” จะทดลอง กับคนในเดือนสิงหาคมปีนี้ แต่เศรษฐกิจไทยยังต้อง “ซมพิษโควิด” ไปอีกอย่างน้อย1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง หรือสิ้นปี 2564 “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี เชื่อว่าทันทีที่มีวัคซีน จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น และยอมรับว่า เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่เตรียมไว้เยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ต้องใช้แบบกระเบียดกระเสียร

“ขณะนี้เงินลงไป 4 แสนล้านแล้ว แต่เงินที่หายไป คือ ภาคการท่องเที่ยว 4.8 แสนล้านบาท ถ้าเอาเงินที่คนไทยใช้เที่ยว เที่ยวในประเทศก็จะดี แต่ต้อง unlock จังหวัดที่คิดว่า save และ unlock ให้กรุงเทพฯไปได้ อำนาจซื้ออยู่ที่เมืองใหญ่”

“เงินที่กู้มาถ้าเป็นไปตามแผน อย่างน้อยมีเงินหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจช่วงนี้ไปถึงเดือนตุลาคม ถ้าโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ 4 แสนล้านบาท เดินได้ ไม่เป็นไม้ไอติม ไปถึงชาวบ้านได้ จะช่วยไม่ให้ลำบากเกินไป เป็นตัวช่วยพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส”

“3-4 เดือนข้างหน้าจะกระตุ้นให้เกิดเศรษฐกิจท้องถิ่น มีงานทำ มีรายได้ มิ.ย.จะเริ่มโครงการ ทำทันทีพร้อมกันทั่วประเทศ เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และกองทุนหมู่บ้านฯ (กทบ.) แต่ไม่ใช่ขอ 100 ได้ 100”

“หลักการ คือ ทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง แต่ต้องโปร่งใส ทุกกระทรวงจะถูกส่องกล้อง ถ้าทำดี 4 แสนล้านมีประโยชน์มาก งานนี้ตัดนักการเมืองออกไปเลย ไม่มีรัฐมนตรีมาเกี่ยวข้อง”

ขณะที่ “กรณ์ จาติกวณิช” หัวหน้าพรรคกล้า งัดประสบการณ์สมัยพ.ร.ก.ไทยเข้มแข็ง เสนอ “4 กำแพงกั้นโกง” ฉีดวัคซีนต้านโกง-ภูมิคุ้มกันโรคแทรกซ้อนล้มรัฐบาล ใช้เงินภาษีประชาชนให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด

กำแพงชั้นที่ 1 รัฐบาลต้องให้ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ACT) ส่งตัวแทนอย่างน้อย 2 คน มาร่วมทำหน้าที่เป็นกรรมการกลั่นกรองโครงการ มีอำนาจในการออกเสียงเท่ากันกับกรรมการ สายราชการ (ที่ปกติจะทำตามฝ่ายการเมือง)

กำแพงชั้นที่ 2 ทำ website เสนอข้อมูลต่อสาธารณะ ระบุรายละเอียดโครงการที่ทุกหน่วยราชการนำเสนอ และทุกโครงการที่ได้รับการพิจารณา รวมไปถึงรายชื่อผู้เสนอโครงการ ราคากลาง และราคาประมูลของผู้ประมูลทุกราย

กำแพงชั้นที่ 3 จัดงบประมาณเพื่อสนับสนุนการเปิดรับเบาะแสการทุจริตการใช้เงินกู้ พร้อมเงินรางวัล และกำแพงชั้นที่ 4 รายงานผลการใช้งบฯทุก 3 เดือน

“การใช้เงินที่มีกติกาการใช้เงินที่กว้าง และสุ่มเสี่ยงต่อการรั่วไหล เพราะการใช้อำนาจ พ.ร.ก.นั้นไม่มีสภากลั่นกรองความเหมาะสมของโครงการเหมือนการใช้เงินงบประมาณปกติ”

สำหรับ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผล
กระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท เฉพาะในส่วนของวงเงินฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาทนั้น แบ่งออกเป็น 4 ด้าน

ด้านที่ 1 แผนงาน-โครงการลงทุนและกิจการการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพ และยกระดับการค้า การผลิต และการบริการในสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยครอบคลุมภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้าและการลงทุน ท่องเที่ยวและบริการ

ด้านที่ 2 แผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ผ่านการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ โดยการส่งเสริมตลาดสำหรับผลผลิต และผลิตภัณฑ์ของธุรกิจชุมชนที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว หรือภาคบริการอื่น
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน การจัดหาปัจจัยการผลิตและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน รวมทั้งการสร้างการเข้าถึงช่องทางการตลาด พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานคุณภาพและมูลค่าเพิ่มของสินค้าและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นและชุมชน อาทิ พัฒนาทักษะอาชีพเกษตรและอาหาร ด้านการจัดการน้ำชุมชน ท่องเที่ยวชุมชน ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP)

ด้านที่ 3 แผนงานหรือโครงการเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคครัวเรือนและเอกชน รวมถึงการลงทุนต่าง ๆ ของเอกชน เพื่อให้สภาวะการบริโภคและการลงทุนกลับเข้าสู่ระดับปกติโดยเร็ว อาทิ มาตรการด้านภาษีและไม่ใช่ภาษี สนับสนุนให้เกิดการซื้อและใช้สินค้าและบริการจากผู้ประกอบการรายย่อยภายในประเทศ

ด้านที่ 4 แผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน และสนับสนุนกระบวนการผลิตเพื่อการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป อาทิ ลงทุนพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำและระบบชลประทานขนาดกลางและขนาดเล็ก น้ำบาดาล ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์สนับสนุนให้ภาครัฐและเอกชนวิจัยและพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มของประเทศด้านการศึกษาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการประกอบอาชีพระดับครัวเรือน วิสาหกิจชุมชน SMEs รวมถึงธุรกิจภาคการผลิต-บริการรูปแบบใหม่ (5G) และพัฒนาระบบการค้าออนไลน์ภายในประเทศที่เชื่อมโยงกับระบบโลจิสติกส์ภายในประเทศเม็ดเงิน 4 แสนล้านบาท คือ หัวใจฟื้นเศรษฐกิจ หากทำไม่ดี มีทุจริต ชีวิตชาวบ้านไม่ดีขึ้น รัฐบาลอาจถึงเวลานับถอยหลัง