บอส อยู่วิทยา : ในสปอร์ตไลท์ 3 คณะกรรมการ ย้อนศร “ความยุติธรรม”

คดีของ “บอส อยู่วิทยา” ทายาทมหาเศรษฐีอันดับ 2 ของประเทศไทย เหมือนเป็นไฟที่ใกล้จะมอด เงียบหายไปจากสังคมไทยไปแล้วกว่า 8 ปี แต่จู่ ๆ กองไฟที่ใกล้จะดับ กลับมามีควันประทุเป็นกองเพลิงอีกครั้ง หลังจากสื่อต่างประเทศได้นำเสนอว่าเขารอดพ้นคดี ผู้ต้องสงสัยขับรถชนเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นเหตุให้เสียชีวิต ต่อมาอัยการสั่งไม่ฟ้องทุกข้อหา

หลังจากข่าวถูกนำเสนอไปทั่วโลก สร้างความสั่นสะเทือนในกระบวนการยุติธรรม และเขย่าทุกโครงสร้างอำนาจ ทั้งฝ่ายบริหาร ตุลาการ และนิติบัญญัติ เป็นที่มาของการตั้งคณะกรรมการ “พิเศษ” เพื่อตรวจสอบสวนย้อนหลังทุกขั้นตอนแห่งคดี

อีก 1 สัปดาห์ และ ภายใน 1 เดือน ถัดจากนี้จะเห็นผลแห่งคดี และพิสูจน์กระบวนการยุติธรรมอีกครั้ง…

นายกฯ ตั้ง 10 อรหันต์ สั่งบี้ให้จบภายใน 30 วัน

วันที่ 29 กรกาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกรทรวงกลาโหม ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี แต่งตั้งคณะตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกรณีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาที่อยู่ในนายวรยุทธ์ อยู๋วิทยา หรือ บอส อยู่วิทยา โดยใหรายงานตรงต่อนายกรัฐมนตรีภายใน 30 วันนับตั้งแต่คำสั่งมีผลบังคับใช้ พร้อมทั้งให้คณะกรรมการการรายงานผลเบื้อตั้นต่อต่อนายกรัฐมนตรีเป็นระยทุก 10 วัน คณะกรรมการทั้ง 10 คน ประกอบด้วย

  1. ศาสตราจารย์พิเศษ วิชา มหาคุณ ประธานกรรมการ
  2. ปลัดกระทรวงยุติธรรม กรรมการ
  3. เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการ
  4. ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมาย กรรมการ
  5. ประธานคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม กรรมการ
  6. นายกสภาทนายความแห่งประเทศไทย กรรมการ
  7. คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการ
  8. คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรรมการ
  9. คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรรมการ
  10. ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ย.ป. กรรมการและเลขานุการ

กระบวนการยุติธรรมสะเทือน “อัยการ-ตำรวจ” ตั้งคณะทำงานสอบ

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2563 นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด ได้มีคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุดที่พิเศษ / 2563 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบการพิจารณาสั่งคดี “บอส อยู่วิทยา” มีการพิจารณาสั่งสำนวนคดีโดยมีคำสั่งไม่ฟ้องและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเห็นชอบแล้วในการตรวจสอบเบื้องต้นปรากฏว่าเป็นสำนวนส. 1 เลขรับที่ 107/2556ของสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 1 เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงปรากฏชัดอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 19 ประกอบมาตรา 27 จึงแต่งตั้งคณะทำงานดำเนินการตรวจสอบว่าการพิจารณาสั่งสำนวนคดีดังกล่าวเป็นไปตามหลักกฎหมายระเบียบที่เกี่ยวข้องและมีเหตุผลในการพิจารณาสั่งคดีอย่างไร โดยคณะทำงานมีองค์ประกอบดังนี้

  1. นายสมศักดิ์ ติยะวานิช รองอัยการสูงสุด หัวหน้าคณะทำงาน
  2. นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา
  3. นายชาติพงษ์ จีระพันธุ อธิบดีอัยการสำนักงานคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร
  4. นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญาธนบุรี
  5. นายชาญชัย ชลานนท์นิวัฒน์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา เป็นคณะทำงาน
  6. นายอิทธิพร แก้วทิพย์ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีอาญา เป็นคณะทำงาน และเลขานุการ
  7. นายประยุทธ เพชรคุณ อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 เป็นคณะทำงานและผู้ช่วยเลขานุการ

ในวันเดียวกัน (26 ก.ค.63) พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้มีคำสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้ทราบข้อเท็จจริง รวมถึงทำใหเ้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายเกี่ยวกับการดำเนินการของข้าราชการตำรวจว่าเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และคำสั่งที่เกี่ยวข้องหรือไม่ รายชื่อคณะกรรมการทั้ง 10 ราย มีดังนี้

  1. พลตำรวจเอกศตวรรษ หิรัญบูรณะ ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการ
  2. พลตำรวจโทจารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นรองประธานกรรมการ
  3. พลตำรวจโทสมชาย พัชอินโต ผู้บัญชาการสำนักงานกฎหมายและคดี
  4. พลตำรวจโทกฤษณะ ทรัพย์เดช จเรตำรวจ
  5. พลตำรวจตรีปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในฐานะตัวแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล
  6. ตัวแทนผู้บัญชาการตำรวจนครบาล 5
  7. พันตำรวจเอก อมร ศรีทุนะโยธิน รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสระบุรี
  8. พันตำรวจเอกดนุ กล่ำสุ่ม รองผู้บังคับการกองกฎหมาย สำนักงานกฎหมายและคดี
  9. พันตำรวจโทเจริญศักดิ์ ลีสนธิไชย รองผู้กำกับการกลุ่มงานผู้เชี่ยวชาญคดีอาญา กองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี
  10. พันตำรวจโทหญิงวิมลทิพย์ บุรี สารวัตรฝ่ายอำนวยการ 1 กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล

ทั้งนี้ให้คณะกรรมการทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันที่รับทราบคำสั่ง พร้อมรายงานผลให้ทราบเพื่อดำเนินการตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องต่อไป

ฝ่ายนิติบัญญัติ เรียก รองผบ.ตร.และรองอสส. ชี้แจง

ขณะที่ นายสิระ เจนจาคะ ประธานกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่าในวันนี้ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรองอัยการสูงสุด จะเดินทางมาชี้แจงต่อกรรมาธิการ  พร้อมทั้งจะอนุญาตให้สื่อมวลชนสามารถร่วมรับฟังได้ตลอดการประชุมและสามารถถ่ายทอดสดการประชุมออกไปได้ เพื่อให้ประชาชนได้ติดตามการประชุมอย่างใกล้ชิด และหากประชาชนมีคำถาม หรือข้อสงสัยประการใดสามารถส่งคำถามมายังกรรมาธิการเพื่อให้สอบถามต่อผู้ที่เกี่ยวข้องได้