ประยุทธ์ ชิงลงมือ เคาะงบประชามติ แก้ไขรัฐธรรมนูญ 4,000 ล้านบาท

ครม.เคาะงบแก้รัฐธรรมนูญ 4 พันล้านบาท

คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การออกเสียงประชามติ เพื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ งบประมาณ 4 พันล้านบาท 

วันที่ 8 กันยายน 2563 ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัตติ (พ.ร.บ.) การออกเสียงประชามติ พ.ศ…. สาระสำคัญ 1.การออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 166 เรื่องที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ

2.การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 (8) ว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ประกาศ 3.คุณสมบัติ ผู้ออกเสียงประชามติต้องมีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ทั้งนี้จะนำส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสภาต่อไป

“งบประมาณในการออกเสียงประชามติประมาณ 3,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากต้องมีมาตรการป้องกันโควิด-19 ด้วย จึงต้องใช้งบประมาณในส่วนนี้ 1,000 ล้านบาท รวมเป็น 4,000 ล้านบาท”

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. ..เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการออกเสียงประชามติ ว่า เราก็ได้เร่งดำเนินการร่าง โดยตนได้ทราบจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชี้แจงวันนี้ หากมีทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญใช้ประมาณ 2 ครั้งเป็นอย่างน้อย ส่วนครั้งที่ 3 ถ้าสภารับรองก็ไม่เป็นไร เท่าที่ทราบจำนวนเงินปกติใช้ 3,000 ล้านบาท

แต่ในช่วงการระบาดของโควิด-19 จะใช้จำนวน 4,000 ล้านบาท เนื่องจากสถานที่ลงคะแนนต้องกระจายให้น้อยกว่าพันคน เหลือประมาณหกร้อย จำนวนจุดลงคะแนนต้องเพิ่มมากขึ้น ต้นทุนก็เพิ่มมากขึ้นทั้งของ กกต. เอกสาร รวมถึงสภา ดังนั้นตกเฉลี่ยแล้ว ประมาณครั้งละ 4,000 หรือ 5,000 ล้านประมาณนั้น

“ผมไม่ได้ว่า ผมเล่าให้ฟังเฉย อย่าหาว่าผมไม่สนับสนุนก็แล้วกัน ถ้าไม่สนับสนุน ผมก็ไม่ทำกฎหมายประชามติหรอก” นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวว่า ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น อันหนึ่งก็ 2,000-3,000 ล้านบาท ก็จะจัดให้ปีนี้อันใดอันหนึ่งก่อน เพราะทำพร้อมกันไม่ได้ ต้องเว้นระยะ 60 วัน มีขั้นตอนดำเนินการหลายอย่าง