ศาล รธน. รับวินิจฉัย ชุมนุมปราศรัย 10 ส.ค. ล้มล้างการปกครองหรือไม่

รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ภาพ: ข่าวสด
รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ภาพ: ข่าวสด

ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องวินิจฉัย กรณีกิจกรรมชุมนุมปราศรัย “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ที่ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต ล้มล้างการปกครองหรือไม่ หลัง “ณฐพร” ยื่นคำร้อง

วันนี้ (16 ก.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งรับคำร้องเพื่อวินิจฉัยกรณีที่ นายณฐพร โตประยูร เป็นผู้ยื่นคำร้องต่ออัยการสูงสุดขอให้พิจารณาเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง เกี่ยวกับการจัดการชุมนุมปราศรัยของคณะบุคคลในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

นายณฐพร ร้องว่าการชุมนุมดังกล่าว รวมถึงกิจกรรมชุมนุมอื่นๆ ของกลุ่มบุคคลต่างๆ ระหว่างวันที่ 3-30 สิงหาคม เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรมนูญ มาตรา 49 หรือไม่

คำร้องดังกล่าวระบุว่า การชุมนุมปราศรัยในวันดังกล่าวมีผู้กล่าวปราศรัย 3 คน ที่มีการกระทำตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง คือ อานนท์ นำภา ภานุพงศ์ จาดนอก และ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทนายอานนท์ นำภา และ ภานุพงศ์ จาดนอก
ทนายอานนท์ นำภา และ ภานุพงศ์ จาดนอก หลังถูกปล่อยตัวจากเรือนจำเมื่อวันที่ 7 ก.ย. ที่ผ่านมา

ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งรับคำร้อง การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสามที่ชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ไว้พิจารณาวินิจฉัย และแจ้งให้ผู้ร้องทราบ

ทั้งนี้ นายณฐพร โตประยูร เคยปฏิบัติหน้าที่ที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และเป็น 1 ใน 14 ผู้ถูกกล่าวหาคดีฟอกเงิน กรณีการขายที่ดินนายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์คลองจั่นฯ 477 ล้านบาท ตามข้อมูลจากสำนักข่าวอิศรา

นอกจากนี้ นายณฐพรยังเป็นที่รู้จักในฐานะผู้ร้องคดี “คดีอิลลูมินาติ” ที่เขากล่าวหาว่า พรรคอนาคตใหม่ กระทำการล้มล้างการปกครอง ตามมาตรา 49 แห่งรัฐธรรมนูญ จนนำไปสู่การยุบพรรคเมื่อต้นปีที่ผ่านมา