14 ตุลา : การต่อสู้เชิงอุดมการณ์ เปลี่ยนโครงสร้าง และฉากจบใหม่

3 ปัญญาชน วิเคราะห์ 14 ตุลาคม 2563 การเคลื่อนไหวของ “คณะราษฎร 2563” ประกาศ 3 ข้อเรียกร้องใหม่พร้อมปักหลักชุมนุมยืดเยื้อ จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปถึงทำเนียบรัฐบาล

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ครบรอบปีที่ 47 ขบวนการนักศึกษ 2 ยุค 2 สมัย ที่ตั้งขบวน-อุดมการณ์ และเป้าหมายที่ต่างกัน

ความเคลื่อนไหวการเมืองครั้งใหม่ กำลังจะปรากฏขึ้น ในนามของ “คณะราษฎร 2563” ประกาศนัดชุมนมปลดแอกอำนาจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

โดยยื่นข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และองคาพยพ ลาออก 2. รัฐสภาต้องเปิดประชุมวิสามัญทันทีเพื่อรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย

เทียบกับเมื่อ 47 ปีก่อน “กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ” 10 คน นำโดย ธีรยุทธ บุญมี ในฐานะผู้ประสานงานกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่

  1. เรียกร้องให้รัฐบาลเร่งร่างรัฐธรรมนูญ และประกาศใช้โดยเร็วที่สุดด้วยสันติวิธี
  2. ให้การศึกษาทางการเมืองเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยแก่ประชาชน
  3. กระตุ้นเตือนให้ประชาชนเกิดความสำนึกและหวงแหนในสิทธิ เสรีภาพของมนุษยชน

จุดเริ่มต้นของกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ สู่การแจกใบปลิวรณรงค์เรียกร้องรัฐธรรมนูญ กระทั่งมีนักศึกษา อาจารย์ นักการเมือง ถูกจับรวมกัน 13 คน

กลายเป็นหนึ่งในชนวนแตกหักที่ทำให้คนนับแสนมาชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว 13 ขบถรัฐธรรมนูญ นำไปสู่เหตุการณ์ การชุมนุมนักศึกษา ประชาชน ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

14 ตุลาคม 2516 จบด้วยชัยชนะของนักศึกษา ทำให้ระบอบผู้นำทหาร “สฤษดิ์-ถนอม” จบสิ้นลง เครือข่ายผู้มีอำนาจต้องเดินทางออกนอกประเทศ มีนายกพระราชทาน คือ “สัญญา ธรรมศักดิ์”

14 ตุลาคม 2563 ที่มุ่งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจการเมือง-สังคม-ต่อสู้เชิงอุดมการณ์ ถอด-รื้อภูเขาน้ำแข็ง ผ่านข้อเรียกร้องทะลุเพดาน ทั้ง 3 ข้อ

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ 3 ปัญญาชน ทั้งด้านประวัติศาสตร์-รัฐศาสตร์ ที่เกาะติดขบวนการนักศึกษา ผ่านการทำงานวิจัย-เจาะลึก รอบด้าน ประเมินขบวนการนักศึกษา “คณะราษฎร 2563” และนี่คือข้อค้นพบที่เห็นแจ้ง-แทงทะลุ

ต่อสู้เปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง

“ศ.ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์” อ่านสถานการณ์ การต่อสู้ของขบวนการนักศึกษา ใน พ.ศ. 2563 ว่า…

“เมื่อดูการต่อสู้ของเขาแล้ว คิดว่าการต่อสู้เปลี่ยน คนรุ่นผมรู้ไม่เท่าทันความเปลี่ยนแปลงเท่ากับคนรุ่นใหม่หรอก แม้ว่าจะเตือนอะไรก็แล้วแต่ บางคนเตือนว่าการเคลื่อนไหวโดยแฟลชม็อบ ทำแป็บ ๆ แล้วหยุด ไม่มีทางชนะ ต้องยึดตลอด อยู่ยาว จริงหรือเปล่าก็ไม่รู้”

“ถ้าเอาประสบการณ์ในอดีตที่ผ่านมา..ใช่ เป็นอย่างที่ว่า 14 ตุลา 16 ไม่จบง่าย ๆ จริง ๆ เกือบจะจบด้วยซ้ำ เพียงแต่เกิดเรื่องตีกันที่หน้าพระราชวังสวนจิตรลดาเสียก่อน นักศึกษาจึงชนะ แต่ในโลกปัจจุบันวิธีการต่อสู้คือวิธีนั้นอย่างเดียวเหรอ… ไม่แน่ใจ โลกเปลี่ยนไปเยอะ ดังนั้น ไม่ว่าจะคิดคำแนะนำอะไรก็แล้วแต่ ต้องถามตัวเองว่าจริงเหรอที่โลกเป็นอย่างที่คุณรู้จัก หรือโลกเปลี่ยนไปแล้ว”

“ไม่ทราบว่า ให้จบในรุ่นเรา จะจบได้ไหม แต่มีความสำคัญ ที่ผ่านมาทั้งหมด ทุกครั้งที่สู้กับเผด็จการ คือการต่อสู้ที่จะขับไล่เผด็จการที่อยู่บนยอดภูเขาน้ำแข็งออกไป ซึ่งไม่มีวันที่จะวันจบหรอก แต่คำว่าจบในรุ่นเราหมายความว่าต้องรู้ทั้งภูเขาน้ำแข็ง ถามว่าจะสำเร็จไหม…ผมไม่ทราบ แต่เป็นตัวความคิดที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง”

“เลิกเสียทีกับการต่อสู้เพียงเพื่อไล่ จอมพลถนอม จอมพลประภาส ไล่โน่น ไล่นี่ มันไม่ใช่เรื่องไล่คน มีนักศึกษาบอกว่าเราไม่ได้ต่อสู้กับคน แต่เราต่อสู้กับโครงสร้างทั้งหมด”

“ผมไม่ได้มั่นใจว่าเขา (นักศึกษา) จะชนะ เขาอาจแพ้อีกก็ได้ แต่ทุกๆ ครั้งที่มีการแพ้มันเกิดความก้าวหน้าขึ้นด้วย ความพ่ายแพ้ของคนเสื้อแดงทำให้คนในชนบท ต่างจังหวัด สำนึกอะไรได้มากขึ้นแยะทีเดียว ไม่ใช่น้อย ยิงคนได้อย่างมาก 100-200 คน”

14 ตุลา 63 ฉากจบที่ต่างจาก 14 ตุลา 16

 “ผศ. ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ” รองคณบดีรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เจ้าของวิทยานิพนธ์ดีเด่น “ก่อนจะถึง 14 ตลาฯ’ : ความเคลื่อนไหวทางการเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร (พ.ศ. 2506-2516)” มองว่า ฉากจบของม็อบยุคปัจจุบัน จะไม่ซ้ำร้อย 47 ปีที่แล้ว

อาจารย์ผู้บรรยายวิชารัฐศาสตร์ ทั้งในห้องเรียน และให้ความเห็นต่อญัติสาธารณะ ทางการเมือง แบบเกาะติดสถานการณ์ เห็นว่า “ข้อเรียกร้องของนักศึกษาจะสุดที่ตรงไหน….ก็สุดที่ 1 ความฝัน (ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างแท้จริง) ข้อเรียกร้องนี้เป็นตัวร้อยเรียงทุกอย่างเอาไว้ หมายความว่าเขาปักหลักตรงนี้เป็นเป้าหมายสำคัญ แต่จะจบอย่างไรมันตอบยาก”

“การเคลื่อนไหวของนักศึกษาครั้งนี้เป็นเรื่องใหม่ ไม่มีการนำแบบรวมศูนย์ ใช้เทคโนโลยีใหม่ มีพันธมิตรข้ามพรหมแดน อย่างพันธมิตรชานมไข่มุก นักศึกษาศตวรรษที่ 21 แต่วิธีคิดรัฐบาลยังอยู่ในยุคสงครามเย็น ไม่ต่างกับยุคจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม รวมถึงกองทัพด้วย ดังนั้น การสู้กันคนละระดับ รัฐบาลยังตามไม่ทันนักศึกษา”

“ผศ.ดร.ประจักษ์” เปรียบเทียบ “ตุลา 3 สมัย” คือ 14 ตุลา 16 , 6 ตุลา 19 และ 14 ตุลา 63 ว่า…

“ขบวนการนักศึกษา 14 ตุลา และ 6 ตุลา มีข้อจำกัดมาก โดนสกัดง่าย รัฐบาลเซนเซอร์สื่อ หรือ ปลุกระดมผ่านหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์หาว่านักศึกษาเป็นคอมมิวนิสต์ แต่ปัจจุบัน ตุลา 63 สมรภูมิสื่อก็เปลี่ยนไป จะไปกล่าวหานักศึกษาแล้วป้ายสีเขาเพื่อสร้างความชอบธรรมในการปราบก็ไม่ได้ เพราะมีข่าวอื่นๆ เยอะแยะที่ทำให้เห็นว่านักศึกษาไม่เป็นแบบนั้น”

“และที่ต่างไปมากคือ network monarchy เลยคาดเดาฉากจบไม่ได้ แต่โมเดล 14 ตุลา และ พฤษภา 35 มันจบแล้ว จะไม่เกิดขึ้นแล้ว คือเกิดปะทะรุนแรงแล้วความขัดแย้งยุติด้วย 2 ฝ่ายมาคุยกันภายใต้พระบารมี ปัจจุบันนักศึกษาก็เปลี่ยน มี 1 ความฝันขึ้นมา ซึ่งพฤษภาทมิฬ ไม่มี 1 ความฝัน และ 14 ตุลา เป็นราชประชาสมาสัย  ตอนนั้นนักศึกษาอยู่ภายใต้เพดานอุดมการณ์คือราชาชาตินิยม มาสู้กับเผด็จการทหาร ตอนนี้ไปพ้นแล้วและเขามองเห็นว่าต้องปฏิรูป”

“จึงคิดว่าไม่จบรูปแบบเก่า ซึ่งพอมองแบบนี้ก็น่ากลัวเหมือนกัน ความรุนแรงไม่เกิดง่าย แต่ถ้าเกิดก็จะจบยากเหมือนกัน ไม่มีเสียงสุดท้ายที่มาทำให้ยุติได้ง่ายๆ โดยทุกฝ่ายยอมรับ”

แก้รัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย คือทางออก

นักรัฐศาสตร์ผู้เคี่ยวกรำวงการเคลื่อนไหวการเมือง ระบุว่า “ทางออก” ของขบวนการชุมนุมทางการเมือง การต่อสู้เชิงอุดมการณ์ “ตุลา 63” มีเพียงประตูบานเล็ก ๆ

“เป็นประตูเล็กๆ ที่จะเป็นทางออก คือ การแก้รัฐธรรมนูญในรัฐสภา โดยยึดโยงกับประชาชนมากที่สุด มีเนื้อหาประชาธิปไตยมากที่สุด อย่างน้อยถ้าปลดล็อกข้อนี้ได้ ก็จะไปตอบโจทย์ 1 ใน 3 ข้อเรียกร้องที่สำคัญของนักศึกษา หมายความว่ารัฐบาลต้องไปไกลกว่านี้ ในแง่การแก้ไขรัฐธรรมนูญ”

กุญแจที่จะไขรหัส-ชี้ขาดทางออก อีกกลุ่มที่สำคัญคือ “ปัญญาชนฝ่ายอนุรักษนิยม” กับกลุ่ม Royalist

“ทางออก อีกทางหนึ่ง เป็นการมองโลกในแง่ดีมาก ๆ แต่ถ้าประตูนี้เปิดจะช่วยเลี่ยงการเผชิญหน้า การปราบปราม และการนองเลือด คือ การออกมามีบทบาทของกลุ่มคนที่เรียกว่า royalist ที่มีสติ และปัญญา ถ้าจะหยุดม็อบชนม็อบ ต้องหยุดเสียงของอนุรักษนิยมสุดขั้ว ไม่ให้ส่งเสียงดัง ดังนั้น ต้องหยุดยั้งกลุ่มอนุรักษนิยมสุดขั้ว ขวาจัด เพราะถ้าดูข้อเสนอของกลุ่มนี้สุดโต่งกว่ารัฐบาลอีก royalist ที่มีสติ และปัญญา ต้องส่งเสียงให้ดังกว่านี้”

พลังนักศึกษา ปัญหาเศรษฐกิจ จุดปะทุการเมือง 2 ยุค

อีกมุมหนึ่ง ในสายตานักประวัติศาสตร์ “ผศ. ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์” นักรัฐศาสตร์  มหาวิทยาลัยรังสิต มองเหตุที่เกิดในปัจจุบัน โดยใช้อดีต 47 ปีที่แล้วมาเปรียบเทียบว่า

ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มีการรัฐประหารรัฐบาลตนเองของจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นคณะรัฐประหารที่ครองอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ 13 เดือน ซึ่งนานที่สุดที่คณะรัฐประหารครองอำนาจมาโดยไม่ม “รัฐธรรมนูญ”

“ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์” อธิบายปรากฏการณ์นั้นว่า “แต่ด้วยความจำเป็นที่ต้องมีการแต่งตั้งมกุฏราชกุมาร ซึ่งเป็นพิธีที่เกี่ยวพระมหากษัตริย์ จึงทำให้คณะรัฐประหารต้องประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ปลายปี 2515 และการมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว เป็นรัฐธรรมนูญตามแบบของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปี 2502 โดยมีมาตรา 17 ให้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแก่นายกรัฐมนตรี”

“จึงไม่มีพื้นที่การต่อสู้คัดค้านการตรวจสอบของกลไกสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีรูหายใจของประชาชน ดังนั้น การปะทุการคัดค้านรัฐบาลจึงเป็นพลังที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน เป็นภาพที่ชัดเจนว่าพลังประชาชนจะต้องทลายปราการนี้ไปให้ได้”

แต่ความต่างใน 14 ตุลาคม 2563 แม้รัฐบาลปัจจุบันสืบทอดอำนาจจากคณะรัฐประหาร แต่รัฐธรรมนูญ 2560 เปิดให้มีการเลือกตั้ง 2562 ยังมีพื้นที่การตรวจสอบของรัฐบาลในเวทีสภาผู้แทนราษฎร ทำให้พลังที่อัดอั้นของประชาชนยังมีความหวังว่าจะแก้ปัญหาในระบบสภา ระบบพรรคการเมือง แม้ว่ารัฐบาลไม่ทำตามสัญญาที่หาเสียงไว้

“สิ่งที่เหมือนกันในด้านเศรษฐกิจ 14 ตุลาคม 2516 เป็นเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำอย่างต่อเนื่อง ในบริบทโลกที่ราคาน้ำมันแพงขึ้น กระทบกระบวนการขนส่งสินค้า การใช้ชีวิต รวมถึงค่ารถเมล์ที่กำลังทะยานขึ้น ข้าวยาก หมากแพง มีการขนย้ายข้าวในประเทศไปขายต่างประเทศ เพราะข้าวสารในต่างประเทศราคาแพง ทำให้ข้าวในประเทศขาดแคลน ภาวะเศรษฐกิจจึงเป็นตัวชี้ความสามารถของรัฐบาลเผด็จการ”

“ส่วนในปัจจุบัน เศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่องตั้งแต่รัฐประหาร 2557 ถูกระหน่ำโดยโควิด -19  เป็นตัวชี้ที่แสดงให้เห็นว่าการรัฐประหารล้มเหลว ไม่สามารถทำให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญรุ่งเรืองได้ เพราะการรัฐประหารจะดำรงอยู่ได้ต่อเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น”

ขณะที่พลังนักศึกษา ยุค 14 ตุลาคม 2516 เป็นพลังของคนหนุ่มสาว คนรุ่นใหม่ในยุค Baby boomer  มาประจบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทำให้ไม่เห็นอนาคตต่ออาชีพการงาน และปัจจัยทางการเมือง คือรัฐบาลเผด็จการไม่สามารถสร้างชีวิตที่เป็นอยู่ที่ดีขึ้นในทุกด้านได้

จึงนำไปสู่การเติบโตความคิด ประกอบกับการอ่านวารสารใหม่ๆ ฟังนักวิชาการใหม่ๆ เห็นโลกใหม่ แม้ถูกจำกัดด้านการสื่อสารแต่ก็เป็นการเติมเชื้อแห่งความฝันเข้าไปว่าเขาต้องการประเทศที่ดีกว่านี้

พลังนักศึกษาในปี 2563 แม้ไม่มีอัตราการเกิดแบบ Baby boomer แต่ในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา องค์ความรู้ชุดใหม่ที่คนเรียนจบมาแล้วไปประกอบอาชีพต่างๆ มีชุดอธิบายใหม่ว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ทำชีวิตดีขึ้นในทุกด้าน

“แต่กลุ่มคนที่เป็นปราการหยุดยั้งประชาธิปไตย และหันไปสนับสนุนเผด็จการคือคนยุค Baby boomer คนที่เติบโตก่อนยุค 14 ตุลา 16 ซึ่งเป็นคนที่ประสบความสำเร็จในสังคม การเมือง จึงยึดมั่นสถานะเศรษฐกิจสังคมของตัวเอง จึงกลายเป็นการปะทะระหว่างคน 2 รุ่น”

ตุลา 63 จุดเริ่มต้นของจุดจบ

“ธำรงศักดิ์” เชื่อว่า 14 ตุลา 2563 จะยังไม่ใช่จุดจบของรัฐบาลเผด็จการทหารเหมือน 47 ปีก่อน แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่คนรุ่นใหม่ จะหยั่งรากความคิดไปยังคนกลุ่มต่างๆ ทั่วประเทศ ฉากการเผชิญหน้าระหว่าง “ขบวนการนักศึกษา” กับ “รัฐทหาร” ในฉากที่ฝ่ายทหารไม่คาดคิดได้ ทหารไม่อาจตามยุทธวิธีของนักศึกษาได้ทันในสมรภูมิ กทม.อีกต่อไป ทหารกับเป็นฝ่ายเพลี้ยงพล้ำ

ฉากจบของรัฐเผด็จการท้ายที่สุดแล้วจะค่อยๆ ถอยตัวและหลบทางออกไป ต่อให้ยื้อโดยการรัฐประหารซ้ำ แต่ถ้ารัฐประหารซ้ำก็จะยิ่งกลับไปฉาก 14 ตุลา 2516 ยิ่งเด่นชัดว่า เผด็จการคืออุปสรรคของประเทศ

แต่ถ้าไม่รัฐประหารซ้ำ ฉากการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาก็จะกลายเป็นแรงกดดันที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสภาผู้แทนราษฎร เพราะการสร้างประชาธิปไตยต้องสร้างด้วยบัตรเลือกตั้ง และเสียงของสภาผู้แทนราษฎร คือฉากจบอีกฉากหนึ่ง…อย่างไรก็ต้องจบ