ปิยบุตร : ล้มระบอบ คสช. ดัน “ประยุทธ์” ออกไป รื้อใหญ่รัฐธรรมนูญ

ม็อบราษฎร 2563 ขยายตัวเป็นไฟลามทุ่ง นัดชุมนุมดาวกระจายทุกวันต่อเนื่อง ทั่วประเทศ

รัฐบาล – ฝ่ายความมั่นคง ตกอยู่ในสภาพ “ตั้งรับ” หลังจากรุกคืบสลายการชุมนุมกลางเมือง ที่อ้างว่าทำตามยุทธวิธี

จุดยืน ธงข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ดันทะลุเพดานมากกว่ากรอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่รัฐบาลพยายามจะผลักดัน ลดกระแส

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “ปิยบุตร แสงกนกกุล” เลขาธิการคณะก้าวหน้า พิเคราะห์ปัญหาโครงสร้างอำนาจประเทศไทย

Q : คิดมาก่อนไหมว่าแฟลชม็อบหลังจากยุบ อนค. จะพัฒนาจะมาถึงวันนี้

การยุบอนาคตใหม่ เป็นส่วนหนึ่งของการสะสมความไม่พอใจต่อระบอบประยุทธ์ ที่สืบทอดอำนาจมาจากการรัฐประหาร คงไม่ใช่เหตุใดเหคุเดียว แต่เป็นส่วนหนึ่งของหลายเหตุการณ์ แต่อาจเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ระเบิดอารมณ์ขึ้นมาได้

ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ตั้งแต่ก่อนยุบพรรค วันยุบพรรค และหลังยุบพรรคว่า การยุบ อนค.จะกลายเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่มองว่า นี่คือการประกาศสงคราม ความขัดแย้งกับตัวพวกเขา เพราะตั้งแต่เริ่มตั้งพรรค รณรงค์หาเสียงทั่วประเทศ เราได้เห็นสถานการณ์หน้างานจริงว่า นักเรียน นักศึกษา เยาวชนให้ความสนใจเรื่องการเมืองมาก

เหมือนเขาฝากความหวังไว้กับเรา จัดเวทีปราศรัยที่ไหนก็มีคนอายุน้อยๆ ไปตามฟัง บางคนยังไม่มีสิทธิเลือกตั้ง อายุยังไม่ถึง 18 ปีก็ตามไปฟัง หลายคนตกใจว่าการชุมนุมวันนี้มีเด็กมัธยมต้น มัธยมปลายมาร่วมชุมนุม แต่ตอนหาเสียงผมเห็นปรากฏการณ์นี้ตั้งแต่แรก เพราะเด็กใส่ชุดนักเรียนมาฟังปราศรัยและต่อแถวขอถ่ายรูป
สิ่งที่สำคัญที่เป็นส่วนหนึ่งวิกฤตการเมืองรอบใหม่นี้

เพราะทุกๆ สังคมมีการเมืองในระบบ สถาบันการเมือง รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล พรรคการเมืองต่างๆ เราก็เดินหน้าตามกรอบรัฐธรรมนูญ เมื่อไหร่ก็ตามที่สถาบันการเมืองตอบสนองต่อข้อเรียกร้องต่างๆ ของประชาชนได้ การชุมนุมก็จะไม่ค่อยมี แต่เมื่อใดก็ตามที่สถาบันการเมืองในระบบไม่สามารถตอบสนองข้อเรียกร้องของประชาชนได้ก็เป็นธรรมดา ที่การชุมนุมจะขึ้น เช่น เวลารัฐบาลมีที่มาไม่ชอบธรรม คนเห็นตั้งแต่วันแรก สักพักก็มีการเรียกร้องให้ยุบสภา

เช่นเดียวกัน การต่อต้านรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มมีมาตั้งแต่ช่วงปลายสมัย คสช.แล้ว แต่บังเอิญใช้กลไกพิสดารสืบทอดอำนาจได้อีก พอเข้ามาแล้วก็เอาเปรียบทุกอย่าง ฝ่ายตนเองไม่โดน ฝ่ายตรงข้ามโดนหมด คนก็เห็นมากขึ้น มีการให้ประโยชน์ดึงคนเข้าไปอยู่ฝ่ายตัวเอง เป็นอย่างนี้มาตลอด แล้วมาระเบิด

อนาคตใหม่เปรียบเสมือนยานพาหนะลำหนึ่งที่ เยาวชน นิสิต นักศึกษา ฝากความหวังไว้กับเรา เขาทราบดีว่าการต่อสู้ในระบบรัฐธรรมนูญ 2560 เปลี่ยนแปลงยากมาก แต่ให้เราไปสู้ในระบบรัฐสภา และรู้ว่าเปลี่ยนแปลงช้ามาก เขาก็อดทน แต่พออนาคตใหม่ถูกยุบ ก็เหมือนฟางเส้นสุดท้าย การเมืองประเทศนี้ ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้ต้องการกันถึงขนาดนี้ใช่ไหม เป็นที่มาของแฟลชม็อบ

Q : การยุบพรรคโดยศาลรัฐธรรมนูญเป็นตัวเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างหรือไม่

เล็งเห็นไว้ตั้งมีคดีความ ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไล่บี้ อนค. หนัก วิเคราะห์ว่าเป็นไปเช่นนั้น แต่ผู้อาวุโส ผู้มีอำนาจในบ้านเมืองอ่านสังคมไทยปัจจุบันไม่ออก อ่านความต้องการ การเรียกร้องของเยาวชนไม่ออก เวลาเขาอ่านก็จะมองว่าพวกนี้เป็นเด็ก…ไม่รู้เรื่อง ถูกล้างสมองมา เดี๋ยวก็มีปะรท้วงนิดๆ หน่อยๆ เขาคุมกลไกรัฐอยู่ ก็จัดการได้อยู่หมัด
แต่สิ่งที่เขาอ่านไม่ออกคือเวลาคนถูกกด ถูกทับ ถูกกดขี่ ต่อเนื่องยาวนาน จากรุ่นสู่รุ่น จนรุ่นใหม่ขึ้นมาแล้วเขาไม่เห็นอนาคตเหลืออยู่แล้ว ปล่อยไว้ไม่ได้ ก็คือการบีบเขาเข้าข้างฝา แล้วก็จะระเบิดอย่างที่เห็นกัน

Q : ก้าวไกล – ฝ่ายค้านไม่สามารถตอบสนองโหวตเตอร์ได้ อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ม็อบระเบิดนอกสภาหรือเปล่า

คิดว่าเขาทำหน้าที่ได้อย่างดี ช่วงแรกหลังจากที่ อนค.ถูกยุบ แล้วย้ายไปก้าวไกล คนพูดว่าก้าวไกลไม่เหมือนเดิม จะประนีประนอมมากขึ้น แต่ลองฟังการอภิปรายในสภาของ ส.ส.ก้าวไกล ไม่ได้ตกลงไปจากเดิม ประเด็นเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ พรรคกก้าวไกลก็นำไปพูดในสภา เขายืนยันว่ารัฐธรรมนูญแก้ไขได้ทุกหมวด ทุกมาตรา และจำเป็นต้องเปิดทางตรงนี้ด้วย เพราะเสียงเรียกร้องข้างนอกสภาเขาอยากจะแก้ หมวด 2
แต่อาจมาถึงจุดที่เยาวชน คนหนุ่มสาว เลิกหวังกับระบบรัฐสภาในภาพใหญ่ ไปทำอะไรให้ตายในนั้นก็ไม่มีประโยชน์

เพราะ 1. กลไกอิสระคลุมไว้อยู่ 2. เสียงของฝ่ายค้านน้อยมาก โหวตกี่ทีก็แพ้ขาด เพราะเขาดึงคนไปหมดแล้ว 3.ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระก็ยังมีอยู่ ดังนั้น มองออกอยู่แล้วว่าต่อให้สู้ไปก็โหวตแพ้ หรือ ต่อให้สู้จนเพดานทะลุทะลวงไปขนาดไหนก็ตาม ก็ไม่รอดเงื้อมมือองค์กรอิสระ หรือ ศาลรัฐธรรมนูญอีกก็ได้ เพราะเขาเห็นมากับตาว่าโดนยุบ

เยาวชนอาจมองว่า ถ้าพรรคการเมืองแหลมอีกเรื่อยๆ ก็อาจจะโดนยุบอีก เมื่อองค์กรในระบบไม่ฟังก์ชั่นแล้ว เลยบีบบังคับว่าเหลือทางเดียวที่ต้องออกมาบนท้องถนน

Q : พรรคการเมืองในสภา ต้องระวังตัวจึงไม่กล้าแหลมเพราะบทเรียนยุบพรรคค้ำคออยู่

ถูกต้อง….ระบบการเมืองไทย จะมากจะน้อย ระบบพยายามทำให้คนที่มีความคิดก้าวหน้า Radical หรือ อนุรักษนิยมแบบ Radical เวลาเข้าไปอยู่ในถังนี้ จะถูกทำให้ประนีประนอม เพราะมีระเบียบของสภา ต้องเป็นไปตามวาระการประชุม เสนอญัตติวาระอันแหลมคมไปกว่าจะได้เข้าสภาก็เป็นปี ยิ่งเป็นฝ่ายค้านยิ่งทำยาก ไหนจะเจอประท้วง ไหนจะต้องมีความสัมพันธ์พรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาล ต้องเจรจากันในระบบสภา

แต่รอบนี้มากยิ่งขึ้นอีกเพราะมีรัฐธรรมนูญ 2560 มาทำให้คิดว่าถ้าขยับมากอาจจะเสี่ยงโดนองค์กรอิสระเล่นงาน การเมืองไทยจึงกลายเป็นระบบที่ทำลายความสร้างสรรค์ของคนที่สุด วันที่เข้าสู่การเมืองอยากใช้อำนาจรัฐทำประโยชน์ให้ประชาชนอย่างสร้างสรรค์ แต่วันที่เข้ามาถึงปุ๊บ ต้องคิดว่า ทำอันนี้จะโดนไหม ทำอันนั้นจะโดนไหม จึงทำลายสมองส่วนที่สร้างสรรค์ ให้ใช้แต่สมองส่วนเฝ้าระวัง ไม่กล้าคิด คิดแล้วเดี๋ยวผิด

Q : การไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ของพรรครัฐบาล และพรรคเพื่อไทย ตอบสิ่งที่พยายามอธิบายเรื่องข้อจำกัดหรือไม่

ข้อจำกัดที่ผมว่า ต้องแยกแยะ บางเรื่องอาจไม่ใช่ข้อจำกัด แต่เราไปคิดเองว่าเป็นข้อจำกัด เราไปกลัวล่วงหน้าเอง บางคนเซ็นเซอร์ตัวเองต่างกัน อย่างผมเข้าไปสภา ผมอภิปรายซัดศาลรัฐธรรมนูญ กกต.เลย แต่อภิปรายในถ้อยทีถ้อยอาศัยต่อกันว่า กกต. ศาลรัฐธรรมนูญมีปัญหาอย่างไร แต่ลองดูการอภิปรายในสภาไม่มีใครกล้าแตะศาล เพราะลึกๆ เขากลัวว่า อย่างน้อยๆ คดีหมิ่นประมาท ยังไม่นับคดีทางการเมืองเต็มไปหมด ทุกคนจะรู้สึกว่าวันหนึ่งเรื่องของตัวเองไปอยู่ในมือศาลแล้วจะซวยเอา…

เป็นการกลัวไปล่วงหน้า กลัวในสิ่งที่ไม่เกิด กลัวเพราะจินตนาการไปเองว่าถ้าทำแล้วจะโดน เช่น หมวด 1 หมวด 2 รัฐธรรมนูญไทย แก้ได้ทุกหมวด ทุกมาตรา มาโดยตลอด เว้นแต่แก้ไปเปลี่ยนระบอบการปกครอง แก้แล้วเปลี่ยนจากรัฐเดี่ยวเป็นสหพันธรัฐ หมวด 1 และหมวด 2 แก้มาหลายครั้งหลายหน ดังนั้น จึงแก้ได้
แต่ที่กังวลกันก็เพราะว่าไปคิดว่าถ้าแก้ปุ๊บคนจะออกมาต่อต้านว่า…คุณแก้เพื่ออะไร มันเหมือนกับร้อนตัวกันขึ้นมา ทั้งๆ ที่ปล่อยราบเรียบไปก็ไม่มีใครคิด แต่พอวันหนึ่งไปพูดว่า ผมไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 ปั๊บ แสดงว่า..ไอนี่หรือ บอกว่าแก้ได้ทุกมาตราก็โดนว่า จะแก้เหรอ..

เวลาเราบอกว่าไม่ต้องเขียนล็อกหรอกว่าห้ามแก้ หมวด 1 และหมวด 2 เขาอาจจะไม่แก้ก็ได้ แต่คนดันไปคิดแล้วว่าการที่ไม่ล็อกเอาไว้แสดงว่าจะแก้ใช่ไหม… นี่คือการวาดภาพให้กลัวไปก่อน เวลาอยู่รวมกันเยอะๆ ทุกคนก็จะคิดว่าเดี๋ยวโดนยุบ ผมไม่โทษนักการเมืองและพรรคการเมือง แต่โทษโครงสร้างนี้ที่ออกแบบมาให้มีองค์กรอิสระ ศาลรัฐธรรมนูญ ไว้คอยจัดการนักการเมือง จึงทำให้คนฉุกคิดว่าทำอย่างนี้เดี๋ยวโดน แต่ถ้าเราไม่ขยับเลย เราก็จะถูกกดไปเรื่อยๆ

เมื่อก่อนปี 2489 ปี 2492 อภิปรายในสภาอย่างเต็มที่ พูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ชัดเจน วงอำนาจกว้างมาก แล้วฝ่ายโน้นรุกคืบมา และฝ่ายสภากลัวด้วยจึงถอยร่นจนเหลือนิดเดียว ดังนั้น ถ้าวันหนึ่ง ส.ส.ร่วมมือกัน ไม่ต้องคิดว่าพรรคใดพรรคหนึ่งร่วมกันทั้งหมด อย่างน้อยก็จะวงอำนาจก็จะกว้างขึ้น

เช่น ถ้าทุกคนจับมือกันไม่โหวตให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ เตะเขาออกไปก่อน แล้วค่อยเป็นรัฐบาลก็ได้ แต่ก็ไม่มีใครยอมเตะ แต่กลับเข้าไปอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ หรือ เรื่องรัฐธรรมนูญ ถ้าเรายืนยันว่าจะแก้เพื่อจัดการสิ่งตกค้างจากระบอบ คสช.ออกไปก่อน แล้วเดี๋ยวนักการเมืองก็จะได้กลับมาเล่นในระบบนี้ต่อ แต่กลับไม่ทำ กลับไปอยู่ฝ่ายเขา เพียงเพราะประโยชน์ซึ่งหน้า อย่างนี้มันน่าเศร้ากว่า

Q : เมื่อสภาไม่กล้าแตะการแก้รัฐธรรมนูญหมวด 1 หมวด 2 เท่าไหร่ ฝ่ายไหนควรจะออกมาช่วยลดแรงกดดัน

ฝ่าย Royalist ที่มีเหตุมีผลต้องออกมาช่วยกันพูด ถ้าเงียบกันหมดอยู่อย่างนี้สังคมจะไปอย่างไร เพราะต้องยอมรับความจริงก่อนว่า เยาวชน คนหนุ่มสาวที่อยู่บนท้องถนน และอีกมากในโลกอินเตอร์เน็ต เขาคิดอย่างไรกับสถาบัน ต้องยอมรับก่อน ถ้าไม่ยอมรับเรื่องนี้ก็จะแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องยอมรับก่อนว่าเขาคิดเรื่องสถาบันไม่เหมือนคนรุ่นคุณอีกแล้ว

เมื่อยอมรับเสร็จจะทำยังไง…ไม่อยากให้พูด ปราบให้หมด ปิดเน็ตให้หมด อย่างนั้นเหรอ แล้วแก้ปัญหาได้ไหม ก็แก้ไม่ได้ สังคมเดินมาจนกลับไปเหมือนเดิมไม่ได้อีกแล้ว เหลือทางเดียวต้อง Reform ไม่ใช่ด่าว่าพวกนี้ถูกล้างสมอง ชังชาติ รับเงินต่างประเทศ วิธีการแก้แบบนี้ทำได้แค่ปลอบใจตัวเองไปวันๆ ไม่ได้แก้ปัญหาแน่ ดังนั้น ต้องรับว่าปัญหานี้มีแล้ว และมานั่งคิด

ถ้าไม่อยากให้ตะโกนด่าบนท้องถนน รู้สึกรับไม่ได้ ระคายหู ต้องสร้างพื้นที่มาคุยกันจริงๆ ว่าจะ Reform อะไรบ้าง เช่น ข้อเสนอ 10 ข้อของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม หลายข้อผมก็ไม่เห็นด้วย และมีคนจำนวนมากที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ดังนั้น ต้องสร้างเวทีแบบนี้ขึ้นมา เพื่อเอาข้อเสนอเหล่านี้มาคุยกันแล้วจะผลักดันอย่างไร

ถ้าวันใดก็ตามที่ฝ่ายอนุรักษนิยมยอมรับว่าประเด็นสถาบันมีอยู่จริง ต้องได้รับการปฏิรูปจริงแค่นี้ก่อน ไม่ใช่เป็นเรื่องแตะต้องไม่ได้ แค่นี้ผู้ชุมนุมนักเรียน นักศึกษาก็รู้สึกว่า..โอเค สิ่งที่เกิดขึ้นได้รับการนำไปพิจารณาแล้ว แม้การแก้นั้นอีกยาวนานก็ตาม อุณหภูมิก็จะลดลงทันที แต่ถ้าบอกว่าพวกนี้ล้มเจ้าอย่างเดียว ไม่มีทางแก้ไขได้เลย

ดังนั้น ถ้าสร้างพื้นที่มาคุยกันอย่างมีวุฒิภาวะด้วยกันทุกฝ่าย จะส่งผลให้การตะโกนด่าทอกัน ก็จะลดลง ถึงเสนอให้ สภาฯ ตั้ง กมธ.วิสามัญปฏิรูปสถาบัน เชิญทั้งฝ่ายอนุรักษนิยม ฝ่ายก้าวหน้า นักศึกษาที่ยื่นข้อเสนอมาแสดงความคิดเห็นถายใต้กรอบให้สถาบันพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขอยู่ แต่จะปฏิรูปให้สถาบันอยู่กับประชาธิปไตยต่อไปได้

Q: ในสภาปิดไฟเรื่องนี้ แต่ข้อเรียกร้องของนักศึกษาไปไกล ยังหาจุดลงตัวได้หรือไม่

ข้อเสนอนักศึกษาไม่ได้ไปไกล ต้องแยกเนื้อหากับท่าที คนจำนวนอาจรู้สึกอึดอัดกับท่าทีการแสดงออกมากกว่าเนื้อหา ดังนั้น ถ้าตะขิดตะขวงใจกับท่าทีของเขา ยิ่งต้องสร้างพื้นที่ในการคุย เช่น เพนกวิน (นายพริษฐ์ ชิวารักษ์) หรือรุ้ง (ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) ปราศรัยบนเวที กับท่าทีบนเวทีสัมมนาก็ไม่เหมือนกัน เพราะการปราศรัยต้องมีความดุเดือดนิดหนึ่ง

ถ้าสร้างเวทีที่เอาข้อเสนอเขาไปคุยจริงๆ ที่อำนาจรัฐเอาเรื่องนี้ไปคุยด้วย ผมมั่นใจล้านเปอร์เซ็นต์ว่า เพนกวิน รุ้ง ทนายอานนท์ นำภา ไม่ใช่ท่าทีแบบบนเวทีปราศรัยแน่นอน เพราะนี่คือการคุยกันแล้วว่าจะแก้อย่างไร ดังนั้น ถ้ากังวลกับท่าทางของเขาเวลาเขาปราศรัย สร้างเวทีนี้ขึ้นมาเลยครับ สิ่งที่ตะขิดตะขวงใจกับท่าทีก็จะลดลง และบางทีอาจจะรู้จักพวกเขามากขึ้นด้วย

Q : แกนนำม็อบต้องลดท่าที เพื่อนำไปสู่การเจรจาด้วยหรือเปล่า

เวลามีการเรียกร้องอะไรเกิดขึ้น คนมักเรียกร้องกับผู้ชุมนุมให้ถอย แต่จริงๆ ต้องเรียกร้องผู้มีอำนาจรัฐให้ถอย เพราะที่ผมดูการชุมนุมยังอยู่ในกรอบ ภายใต้ระบอบการปกครองปัจจุบัน ยังสงบเรียบร้อย ไม่มีการบุกสถานที่ราชการ ทำลายทรัพย์สินเสียหาย ค้างคืนไปไกลที่สุดแค่คืนเดียวที่ท้องสนามหลวง เขาอยู่ในกรอบหมด
แต่แทนที่จะเรียกร้องเขาให้ลดท่าที ในทางกลับกันทำไมผู้มีอำนาจไม่สร้างพื้นที่ให้มาคุยเรื่องสถาบันกับคุณ แต่ถ้าสร้างเวทีแล้วเขายังเย้วๆ อยู่ คุณสามารถเรียกร้องเขาได้แล้ว แต่ปัญหาคืออำนาจรัฐแบบทั้งหมดจงใจไม่พูดถึงข้อเสนอเรื่องปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ มีแต่พูดว่าจะแก้รัฐธรรมนูญแล้ว แต่ข้อเสนออีกข้อหนึ่งจงใจไม่พูดถึง และพล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ลาออก

Q : มีความหวังมากน้อยแค่ไหน กับความหวังตั้ง กมธ.ปฏิรูปสถาบัน และก้าวไกลจะหยิบไปเดินหน้าต่อหรือไม่

ไม่ทราบว่า ส.ส.ก้าวไกลจะคิดอย่างไร จะอภิปรายสนับสนุนหรือไม่ แต่ทั้งพรรคก็ไม่พอ โหวตในสภาครึ่งหนึ่งถึงจะตั้งได้ แต่ที่ผมเสนอเพื่อให้เป็นความคิดที่โยนออกไป เผื่อ พล.อ.ประยุทธ์ คิดได้ แต่เท่าที่ดูปฏิกิริยา แทบไม่มีความหวัง แต่อยากจะฝากไว้ว่า เวลามีอำนาจมีข้อเสนอ จะต้องเปลี่ยน ต้องปรับให้เยอะหน่อย แต่จะเตะทิ้งหมดแล้วบอกว่าไม่ทำ แต่ถ้าสถานการณ์ไปไกลมากขึ้น จนหลุดจากอำนาจไป เกิดสถานการณ์ที่คาดไม่ถึง ควบคุมไม่ได้แล้ว แล้วจะมาคิดย้อนหลังว่า….รู้อย่างนี้วันนั้นทำดีกว่า ผมอ่านสถานการณ์นี้ว่าการตั้ง กมธ.ปฏิรูปสถาบันคือเวทีลง

Q : ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ยอมยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และแก้รัฐธรรมนูญ จะพอเป็นทางลงได้หรือไม่

ขั้นต่ำที่สุดคือ พล.อ.ประยุทธ์ต้องออก ยกเลิก พ.ร.ก.แค่เฉพาะหน้า เพราะคุณไม่ชอบธรรมตั้งแต่แรกแล้วที่ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เรื่องแก้รัฐธรรมนูญ ต่อให้ไปเปิดสภารับวาระ 1 ก็อีกเป็นปีกว่าจะแก้สำเร็จ
พล.อ.ประยุทธ์ ต้องออกก่อน เพราะอยู่ในสถานะที่ความชอบธรรมของการปกครองประเทศไม่เหลืออีกแล้ว จะปกครองประเทศอย่างไร คนจำนวนมากไม่เอาคุณแล้ว แล้วตัวคุณฐานความชอบธรรมต่ำมาตั้งแต่แรก เพราะรัฐประหาร และคนที่เคยสนับสนุนการยึดอำนาจยังไม่เอาคุณเลย หมดความชอบธรรมอย่างสิ้นเชิง
และทัศนคติไม่เป็นคุณต่อการรักษาสถานการณ์การพูดคุยกับผู้ชุมนุม พูดแต่ละทีก็ไฟลุกที ไปต่อไม่ได้ ต้องออกไปก่อน

Q :คนตั้งคำถามว่าออกแล้วจะทำอย่างไรต่อ จะดีไซน์ทางลงให้ พล.อ.ประยุทธ์ อย่างไร

คุณจะลาออก หรือ ยุบสภาไปตัดสินใจเอาเองเลย แต่ถ้าออกไปก่อนระบบก็ทำงานต่อ สมมติลาออกก็ไปโหวตในสภา ใครจะมาเป็นนายกฯ แต่คนที่ขึ้นมาใหม่ ก็ต้องรู้อยู่แก่ใจว่าเข้ามารับตำแหน่งนายกฯ ต่อจาก พล.อ.ประยุทธ์ คือเข้ามาแก้สถานการณ์ จัดการเรื่องรัฐธรรมนูญ แล้วไปเลือกตั้งใหม่ เด็กอมมือที่ไหนก็รู้ว่าใครที่มาแทน พล.อ.ประยุทธ์จะต้องทำเรื่องนี้ คงไม่มีใครที่มาต่อ พล.อ.ประยุทธ์แล้วทำเหมือนพล.อ.ประยุทธ์เปี๊ยบเลย

ดังนั้น คนที่เข้ามารับตำแหน่งต่อ ต้องรู้ว่าเข้ามาเฉพาะกิจ แก้รัฐธรรมนูญให้จบ พูดคุยกับผู้ชุมนุมให้จบ ปีเดียวก็ออกได้เลย

Q : จะเป็นนายกฯ คนนอกได้หรือไม่

ใช้ช่องทางการโหวตในสภา เรามีแคนดิเดตนายกฯ อยู่ในบัญชีพรรคการเมือง ถ้าใช้สิ่งที่เรียกว่ารัฐบาลแห่งชาติ เคยคุยกับเพื่อน ส.ส.ตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่แล้วว่า ถ้ามีรัฐบาลแห่งชาติจริงๆ เราขอเป็นฝ่ายค้านพรรคเดียว คิดว่าถ้าเกิดขึ้นพรรคก้าวไกลก็คิดไม่ต่างจากอนาคตใหม่ ไม่มีฝ่ายค้านไม่ได้ แต่หากเกิดขึ้นมาโดยสภาพการณ์ ไม่ใช่การต่ออายุ คสช. รัฐบาลที่มาต่อ พล.อ.ประยุทธ์ต้องมาแก้ปัญหาให้จบ ไม่ใช่สืบทอดอำนาจ เปลี่ยนจาก พล.อ.ประยุทธ์เป็นคนอื่น และจะยิ่งบานปลายกว่าเดิม

การแก้รัฐธรรมนูญต้องทำให้แก้รัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และระหว่างทางต้องจัดการ ส.ว.ออกไปก่อน เพราะถ้าไม่เอา ส.ว.ออกไปคนมองว่าถ้าเลือกตั้งใหม่ก็จะกลับมาเหมือนเดิม แก้ปัญหาโควิด เศรษฐกิจ กลับไปสู่เลือกตั้งใหม่ ไม่เกิน 1 ปี เข้ารูปเข้ารอย รับภารกิจ transition จากระบอบประยุทธ์ กลับไปสู่ระบอบปกติ ต้องทำหน้าที่นี้

รัฐบาลอาจประเมินว่ารับมือม็อบที่ชุมนุม 1-2 ชั่วโมง แล้วกลับ แล้วรัฐบาลก็ยังยื้ออยู่แบบนี้ได้เรื่อยๆ
อาจเป็นไปได้ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมคิดว่าเป็นฮ่องกงโมเดล ไปเรียนรู้วิชา ได้รับสนับสนุนจากต่างชาติ แต่รัฐบาลก็มีวิธีคิดไม่ต่างจากจีนที่ทำกับฮ่องกง คือแข่งกันอึด แบบนี้เป็นปี พออ่อนล้าลงก็ค่อยๆ ทยอยจับ จับ กัน

แต่สิ่งที่ต่างกัน รัฐบาลกับเยาวชนในประเทศไทย ฐานความชอบธรรมของรัฐบาลน้อยมาก ในขณะที่จีนยังอ้างของเขาได้เต็มไปหมด และข้อเรียกร้องที่นักศึกษาเสนอยังไม่เคยได้รับการตอบรับแม้แต่น้อย ดังนั้น ไม่ว่าจะยันกันอย่างไร มันเกิด

Q : Re solution รัฐธรรมนูญใหม่คือทางออกในนาทีนี้หรือไม่

ปัญหาการเมืองไทย ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าไม่พูดถึงรัฐธรรมนูญ ปัญหาการเมืองไทยเป็นตัวโครงสร้างกำหนดกติกา กำหนดพฤติกรรมสถาบันการเมืองทั้งหมด แต่ปัญหาหลักที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญไทย 4 ฉบับเป็นลักษณะแก้แค้นเอาคืน ข้าชนะ ข้าเขียนให้พวกข้าได้หมด จึงไม่เป็นฉันทามติ ดังนั้น เราจึงรวมกันขึ้นมาเพื่อเดินทางรณรงค์เรื่องแก้รัฐธรรมนูญต่อ

วันนี้โฟกัสเรื่องแก้รัฐธรรมนูญให้มี ส.ส.ร.แต่เรายังไม่เคยคุยกันเลยว่าเนื้อในรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร จะเป็นสภาเดี่ยว หรือ สองสภา ระบบเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร ส.ว.จะมีไหม เราโฟกัสกันแต่ให้มี ส.ส.ร.และให้ ส.ส.ร.ว่ากัน เท่ากับว่าอยู่ดีๆ เราแก้รัฐธรรมนูญเสร็จแล้วยอมให้ ส.ส.ร.ไปเขียนรัฐธรรมนูญ ในขณะที่หน่วยอื่นๆ ยังไม่ได้รณรงค์เลย

ผมจึงตั้งใจว่าชิงนำเสนอวาระการนำเสนอเรื่องเนื้อหาของรัฐธรรมนูญด้วย และเวลาทำ ส.ส.ร.กี่ครั้งต่อกี่ครั้ง และยิ่งถ้าเป็นโมเดลการมี ส.ส.ร.ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาล ผมคิดได้เลยว่าใครจะเป็น ส.ส.ร.บ้าง มันจะไม่พ้นคนหน้าเดิมที่วนเวียนกัน เป็นอุตสาหกรรมนักยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะเป็นแบบเดิมอีก
จึงคุยกับ ไอติม พริษฐ์ วัชรสินธุ และไอลอว์ว่าจะเราต้องสร้างสิ่งนี้เป็น Think tank เป็นเวทีร่างรัฐธรรมนูญคู่ขนานแข่งกับ ส.ส.ร.ที่จะเกิดขึ้น ไม่เช่นนั้น ส.ส.ร.หน้าตาแบบเดิมแน่ เราจึงต้องชิงการนำเสนอ และคิดว่าเป็นประโยชน์ เพียงแต่ตอนนี้คนโฟกัสที่การชุมนุม แต่ท้ายที่สุดต้องมาจบที่รัฐธรรมนูญ

Q : อารมณ์มวลชนนอกสภาไปไกลกว่าแก้รัฐธรรมนูญ ข้อเสนอนี้มาช้ากว่าอารมณ์มวลชนไหม

ผมเห็นด้วย… แต่ผู้มีอำนาจในปัจจุบันขยับตัวช้ากว่าข้อเรียกร้อง 1 ก้าวทุกครั้ง เพราะเขาไม่อยากขยับตั้งแต่แรก ถ้าเขาจริงใจแก้รัฐธรรมนูญใหม่ เขาเข้ามาแป๊บเดียวต้องทำเลย แต่ขณะนี้ที่ทำก็เพราะว่ามีกระแสเกิดขึ้น แล้วก็ให้ครึ่งเดียว แทนที่จะคิด 1 ช็อตแล้วนำมวลชนไปเลย ถ้าผมเป็นรัฐบาลผมให้ไปก่อนเลย แล้วการชุมนุมก็จะจบ แต่นี่กลับ to late to little น้อยเกินไป สายเกินไปทุกเรื่อง ถ้าเป็นอย่างนี้เรื่อยๆ ต่อไปก็จะบอกว่ารัฐบาลทำอะไรเราไม่เอาแล้ว เราจะเปลี่ยนมันทั้งหลัง แทนที่จะรักษาโครงสร้างบ้านเดิมเอาไว้ สถานการณ์จะสุกงอมไปทิศทางนั้น

Q : สายไปหรือยัง

ยังมีโอกาส แต่ถ้าไม่ทำอะไรเลย ทำแบบเดิมปีหน้า 2564 ผมคาดไม่ออกเลย

Q : ถ้าแนะนำรัฐบาลแก้ไขสถานการณ์ตอนนี้จะแนะนำอย่างไร

นายกฯ ต้องลาออกจากตำแหน่ง แล้วหารัฐบาลชุดใหม่มา transition จากระบอบ คสช.มาสู่ระบอบปกติ สะสางพิษร้ายตั้งแต่ปี 2557 แล้วทำรัฐธรรมนูญใหม่เข้ามาแทนที่ สร้างพื้นที่ให้กับเยาวชนคุยกันอย่างจริงใจ จริงจัง ถ้าทำแบบนี้ฝ่ายอนุรักษนิยมอาจไม่สบายใจ แต่ต้องพยายามทำความเข้าใจ บอกเขาว่านี่เป็นทางลง ถ้าเดินหน้ากันต่อ.. ผมกังวลจริงๆว่า น้อยเกินไป ช้าเกินไป จนไม่อยากซ่อมแซมบ้าน รื้อเลยดีกว่า…สร้างใหม่