พลังประชารัฐ ส่ง “ไพบูลย์-สิระ-เอ๋” ชิงถลกหนังฝ่ายค้าน ปมปฏิรูปสถาบัน

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานการเตรียมความพร้อมของพรรคการเมืองในการประชุมสภาสมัยวิสามัญ เพื่อเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ระหว่างวันที่ 26-27 ตุลาคม 2563 สำหรับข้อตกลงในการอภิปราย 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายค้าน 8 ชั่วโมง ฝ่ายรัฐบาล 5 ชั่วโมง และสมาชิกวุฒิสภา 5 ชั่วโมง คณะรัฐมนตรี 5 ชั่วโมง ประธานรัฐสภา 1-2 ชั่วโมง

พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ซึ่งได้เวลาอภิปราย 1-1.30 ชั่วโมง เบื้องต้นจะส่งผู้อภิปราย 3 คน ได้แก่ 1.นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค 2.นางปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี และ 3.นายสิระ เจนจาคะ ส.ส.กทม.

“การอภิปรายครั้งนี้จะกลับตาลปัตร ฝ่ายรัฐบาลจะซักฟอกฝ่ายค้านเรื่องสถาบัน รัฐบาลจะชิงอภิปรายฝ่ายค้านก่อน ไม่รอให้ฝ่ายค้านมาอภิปราย” แกนนำพรรคพลังประชารัฐระบุ

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้เรียกประชุม ส.ส. เป็นกรณีพิเศษในวันนี้ (25 ต.ค.63) เวลา 16.00 น. เพื่อเตรียมความพร้อมโดยจะมีการกำหนดบุคคลที่จะร่วมอภิปรายในวาระสำคัญ อาทิ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง .

โดยประชาธิปัตย์จะเน้นอภิปรายอย่างสร้างสรรค์แบบมีวุฒิภาวะ เนื้อหาสาระที่จะช่วยกันร่วมมือแสวงหาทางออกจากปัญหาต่างๆ ทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้ตามจุดยืนของพรรค 3 ประการคือ

1.ยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเทิดทูนสถาบัน ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.การแก้ปัญหาควรใช้แนวทางสันติ ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดก็ตาม และ 3.ใช้รัฐสภาเป็นเวทีหาทางออกของประเทศ

ทั้งนี้ ตามรายละเอียดหนังสือที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่งถึงประธานรัฐสภา เพื่อขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร ระบุเหตุผล 3 ข้อที่สมควรฟังความเห็นของรัฐสภา

โดยเหตุผล 3 ข้อ จะเป็นวาระในการอภิปรายของสมาชิกรัฐสภา ประกอบด้วย 1.การชุมนุมที่ต่อเนื่อง ทั้งในกรุงเทพฯ และทั่วประเทศ ในสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ฝ่ายสาธารณสุขเกรงว่าจะเกิดโรคระบาดได้ง่าย การชุมนุมกระทบต่อการยับยั้งโรค และความเชื่อมั่นของผู้ที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศ

เหตุผลข้อที่ 2 การชุมนุม วันที่ 14 ตุลาคม 63 ผู้ชุมนุมบางส่วนได้ขวางทางและหยุดขบวนเสด็จพระราชดำเนิน กลุ้มรุมล้อมรถพระที่นั่งและมีผู้ตะโกนด้วยคำหยาบคายรุนแรง และมีการพักค้างคืนบริเวณทำเนียบรัฐบาล ซึ่งใกล้บริเวณอันเป็นเขตพระราชฐานที่ประทับ

เหตุผลข้อที่ 3 การสลายการชุมนุมที่สี่แยกราประสงค์ แยกปทุมวัน ในวันที่ 16 ตุลาคม 63 และข้อเรียกร้อง 3 ข้อ บางเรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่การชุมนุมบางแห่งยังมีการจาบจ้วงบุคคลอื่น การทำลายพระบรมฉายาลักษณ์อันเป็นทรัพย์สินของทางราชการ รัฐบาลวิตกว่าจะบางฝ่ายแอบแฝงเข้าไปในที่ชุมนุม ฉวยโอกาสใช้อาวุธ สร้างความปั่นป่วน อาจกลายเป็นจลาจล