ประยุทธ์ ถึง คณะราษฎร : คนไทยหลายสิบล้านคนไม่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง

ประยุทธ์ ถึง คณะราษฎร : คนไทยหลายสิบล้านคนไม่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง

เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 เวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2563 เพื่ออภิปรายทั่วไปโดยที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 165 ระหว่างวันที่ 26-27 ตุลาคม 2563 แบ่งออกเป็นฝ่ายค้าน 8 ชั่วโมง พรรคร่วมรัฐบาล 5 ชั่วโมง รัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรี 5 ชั่วโมง และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 5 ชั่วโมง และประธานสภาและรองประธาน 2 ชั่วโมง รวม 25 ชั่วโมง คาดว่าการประชุมในวันแรกจะจบเวลา 22.30 น. หรือ 23.00 น. หรืออาจจะ 00.00 น. ทั้งนี้การอภิปรายเป็นการถ่ายทอดสดสมาชิกสภาจึงไม่มีเอกสิทธิ์คุ้มครอง จึงต้องรับผิดชอบการอภิปรายในทางอาญา

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ขณะนี้มีสมาชิกรัฐสภาปฏิบัติหน้าที่ได้ทั้งหมด 732 คน แบ่งออกเป็น ส.ส. 487 คน ส.ว. 245 คน โดยองค์ประชุมต้องไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง คือ 366 คน ที่มาเกิดจากการหารือกันภายในอย่างไม่เป็นทางการ ท่ามกลางประชาชนห่วงใยบ้านเมือง แม้หน้าที่ในการแก้ปัญหาจะเป็นฝ่ายบริหาร แต่ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติอะไรที่จะทำให้สามารถคลายกังวลก็ควรจะทำ โดยความเห็นอย่างไม่เป็นทางการส่วนใหญ่ส่งให้นายกรัฐมนตรีและประธานวุฒิสภา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เปิดสมัยวิสามัญเพื่อลดความกังวลของประชาชน เพื่อจะมีส่วนร่วมเสนอแนะให้กับรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาไม่ใช่สร้างปัญหา

โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ลุกขึ้นอภิปราย ว่า รัฐบาลทราบดีอยู่แล้วว่ามีสถานการณ์การชุมนุมเกิดขึ้นในทางการเมืองในสถานที่ต่าง ๆ ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ซึ่งมีความแออัด ประชิดตัวอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาต่อสุขภาพต่อไป และในช่วงเวลานี้ทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่ามีปัญหาเรื่องอุทภัย ประชาชนเดือดร้อนเป็นอย่างมาก จึงต้องระมัดระวังว่าจะเดินหน้าบริหารราชการแผ่นดินอย่างไรต่อไป ลดปัญหาความขัดแย้งอย่างไร เดินหน้าเศรษฐกิจไปได้อย่างไร วันนี้เราต้องสร้างความเชื่อมั่นในประเทศและต่างประเทศ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จากสถานการณ์การชุมนุมที่มีอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2563 ผมคงไม่กล่าวในที่นี้ และไม่สมควรจะเกิดขึ้น ในส่วนการชุมนุมมีการพักค้างคืน หรือ มีกำหนดเวลา ส่อให้เห็นถึงความยืดเยื้อ ซึ่งรัฐบาลเกรงว่าจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ชุมนุมในที่สาธารณะ 2558 และอาจเกิดการฉวยโอกาสแทรกซึม ทำให้เกิดความวุ่นวายได้ ทั้งนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้วก่อนปี 2557

“รัฐบาลอาศัยอำนาจตามมาตรา 5 และมาตรา 11 แห่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 นายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในท้องที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 เวลา 04.00 น.เป็นต้นไป ระยะเวลา 30 วัน หรือ 13 พฤศจิกายน 2563 แต่รัฐบาลได้ดูตามความเหมาะสม จึงได้ยกเลิกประกาศไปแล้ว”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจ รัฐบาลพยายามดูแลสถานการณ์ให้ดีที่สุด บังคับใช้กฎหมายทุกประการที่เป็นการอะลุ้มอล่วย ผ่อนผันมาโดยตลอด ห้ามปราม เตือน หยุดยั้ง ชี้แจงข้อกฎหมายต่าง ๆ ก็ตาม แต่การชุมนุมก็ยังมีการขยายตัวต่อไปอย่างต่อเนื่อง

“เราพยายามหยุดยั้งการชุมนุมที่แม้ว่าจะมีเสรีภาพ ได้รับการคุ้มครองอยู่แล้ว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 44 วรรคแรก แต่การใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐจะต้องเข้าควบคุมอะไรที่ผิดกฎหมายก็เป็นข้อยกเว้นในการใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวตามมาตรา 44 วรรคสอง ที่กำหนดให้ทำได้ วันนี้ยังมีการชุมนุมอยู่เกือบทุกวัน มีการใช้เทคโนโลยีให้การชุมนุมอย่างต่อเนื่อง”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า 3 ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม ผมทราบดี ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้ปล่อยผู้ชุมนุมที่ถูกควบคุมตัว การยกเลิก พ.รก.ฉุกเฉิน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบัน ซึ่งหลายเรื่องอยู่ในขั้นตอนดำเนินการอยู่แล้ว หลายครั้ง ถึงแม้การชุมนุมจะเป็นไปโดยเรียบร้อย แต่บางแห่งยังมีความรุนแรงเกิดขึ้นอยู่ ปฏิบัติในสิ่งที่ไม่สมควร ผมเป็นห่วงและรัฐบาลเห็นชอบร่วมกันจนทำให้เกิดการประชุมสภาสมัยวิสามัญวันนี้ เราไม่อยากให้เกิดการปะทะกัน ไม่อยากให้เกิดการจลาจลในบ้านเมือง รัฐบาลมีหน้าที่รักษาสิทธิ์ของคนไทยทุกคนทั้งประเทศ 70 ล้านคน

“ผมมั่นใจว่าวันนี้คนไทยทุกคน ไม่ว่าเราจะมีมุมมองการเมืองอย่างไร แบบไหน แต่ทุกคนยังคงรักชาติ รักวัฒนธรรม รักรากเหง้าและคุณค่าของความเป็นไทย ขณะเดียวกันเราก็รู้ว่า เราต้องการอนาคตที่ดีสำหรับประชาชนและประเทศ 2 เรื่องนี้เรากำลังดำเนินการอยู่อย่างต่อเนื่อง เป็น 2 เรื่องที่เราสามารถเดินด้วยกันได้ แก้ไขเพื่อนำประเทศไปสู่ที่ดีขึ้น”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในนามของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ทุกอย่างอาจต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาของโลกปัจจุบัน โลกแห่งเทคโนโลยีและโลกแห่งดิจิทัล แต่เราต้องยอมรับว่าประเทศไทยของเรา คนหลายสิบล้านคน ไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่เกิดความวุ่นวาย สับสนอลหม่าน มีความเชื่อของตัวเอง เพราะฉะนั้นเราต้องมีความสมดุลระหว่างความต้องการของแต่ละคนและคนอื่น ๆ ในสังคมด้วยได้ อย่างสร้างสรรค์

“วันนี้ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พวกเราจะใช้เวลา 2 วันในสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้เพื่อปรึกษาหารือกัน ท่ามกลางสภาวะการที่จะหยิบยกเรื่องสำคัญมาพูดคุยกันในสังคมและในสภา เราทุกทุกคนในที่นี้ต้องรวบรวมสติปัญญา ความคิด ความสามารถและหัวใจของทุกคน รวมทั้งเลือดรักชาติทุกหยดในตัวของพวกเรา ร่วมกันคิดในสิ่งที่สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ทำให้ประเทศชาติเดินไปอย่างแข็งแรงยิ่งขึ้นและมั่นคง ยั่งยืน โดยทำในสิ่งที่ถูกต้อง เป็นประโยชน์กับประชาชนคนไทยทุกคนในระยะยาวเพื่อนำพาประเทศไปพร้อมอนาคตที่ดี แต่ต้องปกป้องอดีตที่มีคุณค่าไว้ด้วย”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ครม.เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นสำคัญต่อการบริหารราชการแผ่นดิน จึงต้องฟังความคิดเห็นของสมาชิกรัฐสภาตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญมาตรา 165

“หากสมาชิกรัฐสภามีข้อเสนอใดที่สามารถปฏิบัติได้ เป็นประโยชน์และไม่ก่อให้เกิดปัญหาใหม่ แทรกซ้อนติดตามมา รัฐบาลจะขอบคุณอย่างยิ่ง และรับไปพิจารณาต่อไป ส่วนตัวผมเอง เชื่อว่าพื้นฐานของสังคมไทย คือ การเป็นห่วง เป็นใยซึ่งกันและกัน ถ้าเราทำแบบนั้นได้ ครอบครัวใหญ่ ครอบครัวเดียวกัน ครอบครัวประเทศไทย แม้เราจะมีเรื่องไม่เห็นด้วยกันบ้าง แต่เราก็ยังรักกันได้ตลอดไป”

นายพิเชษ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นขอให้นายกฯ ตอบสั้น ๆ ว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่นายชวนบอกว่า นายกฯ จะตอบหรือไม่ตอบก็ได้ พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่ตอบ