ย้อนรอยคดี ธนาธร ถือหุ้นสื่อ ถึง 64 ส.ส. ติดรากแห

28 ตุลาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญ อ่านคำวินิจฉัย คดี ส.ส.-รัฐมนตรีถือหุ้นสื่อ ก่อนจะถึงวันนี้ คดีนี้มีที่มา จากกรณี ธนาธร จึงรุ่งเรื่องกิจ ถึง 64 นักการเมือง

รุก “หุ้นสื่อ” ธนาธร ลาม ส.ส.ทั้งสภา

จุดเริ่มต้นคดีหุ้นสื่อ จุดไต้ตำตอจากวันที่ 25 มีนาคม 2562 หลังจากการเลือกตั้งได้เพียง 2 วัน “ศรีสุวรรณ จรรยา” เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ตรวจสอบการถือหุ้นสื่อของ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 (3) ที่ห้ามผู้เป็น ส.ส.เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ หรือไม่

กระทั่ง 16 พฤษภาคม 2562  กกต. มีมติเอกฉันท์ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ให้พิจารณาวินิจฉัยสมาชิกภาพของ “ธนาธร” ให้สิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 มาตรา 82 วรรคสี่

กรณีความปรากฏหรือมีเหตุอันควรสงสัยต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่า “ธนาธร” เป็นผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)’

เนื่องจากพยานหลักฐาน บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ที่ “ธนาธร” ถือหุ้น เป็นบริษัทที่ระบุวัตถุประสงค์ในการยื่นจดทะเบียนต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ว่า ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชน เมื่อพิจารณาจากงบการเงินของบริษัทพบว่ามีรายได้จากการขายนิตยสาร ให้บริการโฆษณาถือเป็นการประกอบธุรกิจสื่อสารมวลชนและยังคงประกอบกิจการอยู่ ไม่มีการจดทะเบียนยกเลิกบริษัทหรือเสร็จการชำระบัญชี

ขณะที่สำเนาบัญชีผู้ถือหุ้น หรือ บอจ. 5 ที่ กกต.ได้รับจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังปรากฏชื่อนายธนาธรเป็นผู้ถือหุ้นตั้งแต่ปี 2558 จนถึงวันที่ 21 มีนาคม 2562 เมื่อ กกต.ประกาศเปิดสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.วันที่ 4-8 กุมภาพันธ์ 2562

จึงเท่ากับว่าขณะที่ “ธนาธร” ยื่นใบสมัครลงรับเลือกตั้งยังถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด อยู่ จึงเข้าข่ายขาดคุณสมบัติ เนื่องจากเป็นบุคคลที่ห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(3) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 42(3)

อนค.เอาคืนยื่นฟัน ส.ส.รัฐบาล

จากชนวนของ “ธนาธร” เป็นเหตุให้พรรคอนาคตใหม่ เวลานั้นยื่นหนังสือให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งรายชื่อ 41 ส.ส. พรรคฝ่ายรัฐบาลให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย แบ่งเป็น 2 ล็อต ล็อตแรก 30 คน ยื่นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2562 ล็อตสอง 11 คน ยื่นเมื่อ 6 มิถุนายน 2562 โดยเอาเคส “ธนาธร” เป็นตัวตั้ง

โดยใช้สิทธิผ่านช่องทางตามมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดไว้ว่า ส.ส. จำนวน 1 ใน 10 คนขึ้นไป มีสิทธิเข้าชื่อร้องต่อประธานสภา เพื่อให้ส่งเรื่องต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของ ส.ส.

จากนั้น 12 มิ.ย.นายชวน หลีกภัย ประธานสภา ส่งคำร้องให้วินิจฉัยคุณสมบัติของ ส.ส. ไปยังศาลรัฐธรรมนูญ กระทั่ง ต่อมา 26 มิถุนายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้ตรวจสอบ 32 คน และยกคำร้องไป 9 คน

คนที่ยกคำร้องประกอบด้วย พรรคพลังประชารัฐ 6 คน คือ นายศาสตรา ศรีปาน นายสุรศักดิ์ ชิงนวรรธ์ น.ส.ภริม พูลเจริญ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ นายจักรพันธ์ พรนิมิตร ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ 3 คนคือ นายกรณ์ จาติกวณิช นายประมวล พงศ์ถาวราเดช นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์

รัฐบาลเอาคืน

27 มิถุนายน 2562 เพียง 1 วัน หลังจากศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องของอนาคตใหม่ พรรคพลังประชารัฐ แกนนำฝ่ายรัฐบาลก็ตอบโต้ทันที

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ กรรมการบริหาร และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้ยื่นหนังสือถึง นายชวน  เพื่อให้พิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ส.ส.ฝ่ายค้านจำนวน 33 คน ของฝ่ายค้าน ให้ตรวจสอบการถือครองหุ้นกิจการสื่อเช่นเดียวกัน

ต่อมา 4 กันยายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้อง โดยรับไว้พิจารณาจำนวน 32 คน โดยไม่รับคำร้องในส่วนของนายวุฒินันท์ บุญชู ส.ส.เขต 4 สมุทรปราการ พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งเป็นผู้ถูกร้องที่ 29 โดยศาลเห็นว่าเมื่อตรวจสอบจากคำร้องและเอกสารประกอบแล้ว นายวุฒินันท์ ถูกกล่าวอ้าง ถือหุ้นในบริษัท รุ่งเรืองสยาม ซูมิคอน จำกัด โดยบริษัทดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เกี่ยวของกับการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชน แต่เมื่อพิจารณาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์แล้ว ปรากฏมีข้อความปรากฏไม่ตรงกันกับคำกล่าวอ้างของผู้ร้อง

ผ่านมาเป็นเวลาปีเศษก็ถึงวันที่ศาลตัดสิน 28 ตุลาคม 2563