ประชาธิปัตย์รับร่างรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ตั้ง ส.ส.ร.- ลุ้น ส.ว. 84 เสียงคว่ำ 

นายราเมศ โฆษกปชป. เผย พรรคมีมติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับของพรรคร่วมฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล เพื่อตั้งแก้ไขมาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร.

เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ได้กล่าวถึงการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน 2563 ว่า เป็นวาระที่สำคัญของการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาว่าจะรับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับใดบ้าง ซึ่งมีทั้งหมด 7 ฉบับ

แต่หลักการของพรรคตั้งแต่เข้าร่วมรัฐบาลชัดเจนมาตั้งแต่ต้นในเรื่องนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญในการเข้าร่วมรัฐบาล ต่อมาก็มีการผลักดันมาตามลำดับ มีการระบุไว้เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล จนมีการตั้ง กมธ ศึกษา ท้ายที่สุดขณะนี้มาถึงการลงมติในชั้นรับหลักการในร่างแก้ไข รธน เดินหน้าเพื่อให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

มี 2 ญัตติที่มีหลักการและเหตุผลในทำนองเดียวกัน คือญัตติของวิปรัฐบาลและญัตติของฝ่ายค้าน คือร่างที่ให้แก้ไข มาตรา 256 เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการแก้ที่ง่ายขึ้น และกรณีให้มีการเพิ่มเติมในเรื่องของสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยย้ำหลักการคือไม่มีการแก้ไขในหมวด 1 และ หมวด 2 

“สองร่างนี้พรรคจะลงมติรับหลักการในวาระ 1 ส่วนร่างของภาคประชาชนมี 1 ร่าง หรือที่เรียกว่าร่างไอลอว์ มีทั้งหมด 11 ประเด็น มีรายละเอียดในการแก้ไขรายมาตราอยู่หลายมาตรา และการตั้ง สสร ก็มีความแตกต่างกับร่างของฝ่ายค้านและของรัฐบาล ซึ่งพรรคจะมีการประชุมพรุ่งนี้เวลา 13.00 น เพื่อหารือในรายละเอียดต่างๆ

นายราเมศ กล่าวต่อว่า ในวาระหนึ่ง คือวาระรับหลักการนั้น รัฐธรรมนูญระบุว่าต้องมีเสียงของวุฒิสมาชิก จำนวน 1 ใน 3 ของจำนวน สว เท่าที่มีอยู่ ร่างใดแม้มีเสียงกึ่งหนึ่งแต่หากไม่มี สว จำนวนดังกล่าวก็ต้องถือว่าตกไป ก็ต้องจับตาดูว่า สว จะลงมติรับหลักการฉบับใดหรือไม่

และอีกประการสำคัญ การรับหลักการจะไม่สามารถรับประเด็นใดประเด็นหนึ่งในแต่ละร่างได้ ถ้ารับหลักการต้องรับทั้งร่าง 

ส่วนของพรรคในเรื่องการเข้าประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 17-18 พฤศจิกายน ที่จะถึงนี้ ไม่ได้กังวลกับการเดินทางมาของผู้ขุมนุม ไม่มีการเตรียมแผนการรองรับใดๆ เชื่อว่าผู้ขุมนุมเข้าใจการทำหน้าที่ของแต่ละฝ่าย และเชื่อว่าไม่มีเหตุการรุนแรงใดๆ


ขณะที่ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนได้เชิญ ส.ส. ของพรรคฯ ประชุมในวันจันทร์ที่ 16 พ.ย. 2563 เวลา 13.30 น. เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ร่าง ที่จะมีการพิจารณากันในวันอังคารที่ 17 และวันพุธที่ 18 พ.ย. นี้

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ร่างนี้ รัฐสภาได้มีการอภิปรายไปแล้ว 6 ร่าง จึงจะไม่มีการอภิปรายอีก ส่วนร่างที่เสนอเข้ามาใหม่คือร่างที่ประชาชนลงชื่อเสนอให้รัฐสภาพิจารณา ที่เรียกว่าร่างไอลอว์ จะมีการอภิปรายแสดงความคิดเห็น หลังจากนั้นก็จะมีการลงมติว่าจะรับหรือไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใดบ้าง

ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์จะเปิดโอกาสให้ ส.ส. แสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวางเพื่อพิจารณาให้รอบด้านมากที่สุด ส่วนการลงมติว่าจะรับร่างใดบ้างนั้น ทางที่ประชุม ส.ส. ได้เคยประชุมและมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันแล้ว ตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า จะรับร่างที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาลที่ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมลงชื่อด้วย และร่างที่เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้านที่มีหลักการใกล้เคียงกัน สำหรับร่างของไอลอว์คงต้องรอฟังความคิดเห็นของ ส.ส. ว่าจะมีความคิดเห็นอย่างไร

ส่วนกรณีที่มีความวิตกกังวลว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอาจจะมีการลงมติไม่ให้ผ่านทั้งหมดนั้น ขณะนี้คงบอกไม่ได้ คงต้องรอจนถึงเวลาลงมติ อะไรก็อาจเกิดขึ้นได้ เพราะที่ผ่านมาก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว รัฐสภากำลังจะลงมติรับหรือไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ดีๆ ก็มีการเสนอให้ตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาก่อนรับหลักการ

พอมาถึงวันนี้กำลังนัดประชุมเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญกันต่อ ก็มี ส.ว. รวมกับ ส.ส.รัฐบาลส่วนหนึ่งเข้าชื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ร่างของรัฐบาลฝ่ายค้านและไอลอว์จะทำได้หรือไม่

เพราะฉะนั้นการประชุมรัฐสภาวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ จึงไม่มีใครให้หลักประกันได้ว่าจะมีการลงมติหรือไม่ และผลจะออกมาอย่างไร เพราะอาจมี “อภินิหารทางการเมือง” ทำให้เกิดเรื่องที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนก็ได้ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

แต่ถ้าไม่มีอภินิหารอะไร อย่างน้อยที่สุดร่างของรัฐบาลและฝ่ายค้านน่าจะผ่านไปได้ แต่ก็ขึ้นอยู่ว่าจะมีเสียง ส.ว. ประมาณ 84 เสียงลงมติให้ผ่านหรือไม่ ตามเงื่อนไขของการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องมีเสียง ส.ว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของวุฒิสภา 

การแก้ไขรัฐธรรมนูญในขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งยังแผ่กระจายไปเกือบทุกหย่อมหญ้าจึงถือเป็นวาระสำคัญของบ้านเมือง ที่ทุกฝ่ายต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบก่อนตัดสินใจที่จะดำเนินการอะไร เพราะถ้าวางแผนพลาด หรือตัดสินใจผิด ก็อาจทำให้ประเทศติดหล่มจมปลักอยู่กับความขัดแย้งจนยากจะเยียวยา

โดยเฉพาะสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ต้องถือว่าเป็นผู้มีบทบาทสำคัญที่สามารถช่วยกันใช้เวทีรัฐสภาหาทางออกให้ประเทศได้ จึงขึ้นอยู่กับสมาชิกทุกคนว่าจะช่วยกันหาทางออกให้ประเทศ หรือจะสร้างทางตันให้ประเทศ

ฝากทุกฝ่ายคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องโดยร่วมกันคล้องแขนนำพาประเทศไทยเดินหน้าต่อไปให้ได้ เพื่อลูกหลานของเราในอนาคต