“โภคิน” พูดหมดเปลือก ปลดแอกพรรคทักษิณ ถอยห่างชินวัตร

สัมภาษณ์พิเศษ

“โภคิน พลกุล” เป็น 1 ใน 3 ที่ลาออกจากพรรคเพื่อไทย ตาม “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์”

ทั้งที่เขาร่วมหอลงโรง เป็นรัฐมนตรีในยุค “ทักษิณ ชินวัตร” กระทั่งเป็น “หัวหอก” ฝ่ายกฎหมายยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

แต่แล้วความสัมพันธ์ทางการเมืองกว่า 2 ทศวรรษ ก็ถูกตัดขาดลง “ประชาชาติธุรกิจ” คุยกับ “โภคิน” ถึงเบื้องลึก เบื้องหลังการตัดไมตรีทางการเมือง

และความฝันในการตั้งพรรคการเมืองใหม่ ร่วมกับ “คุณหญิงสุดารัตน์”

เหตุผลที่ตีจาก

“โภคิน” เล่าถึงเส้นทางการเมืองหลังตีจากพรรคเพื่อไทยว่า ความจริงผมอยากเลิกเล่นทุกอย่าง แต่ความฝันที่อยากเห็นพรรคการเมืองตั้งแต่ลงเล่นการเมือง คือ พรรคที่เป็น professional เข้าใจดีว่า เริ่มตั้งพรรคต้องอาศัยบุคคลที่มีบารมี มีศักยภาพ มีแวดวงใกล้ชิด ช่วยกันผลักดัน แต่จะอยู่แบบนั้นตลอดไม่ได้ ต้องพัฒนาไปสู่การมีส่วนร่วมของทุกคนทุกฝ่าย และพรรคการเมืองนั้นต้องมี wisdom (ปัญญา) หาทางออกให้สังคมในปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะทิศทางไปทางไหน และผู้นำต้องมี leadership ที่จะบอกว่าตามข้าพเจ้ามาตามเส้นทางที่ประเทศไปได้

ดังนั้น การตั้งพรรคต้องตอบโจทย์ก่อนว่า จะพาประเทศไปทางไหน ก้าวข้ามความขัดแย้งอย่างไร ด้วยกระบวนการ ด้วยเนื้อหาอะไร และทำไมต้องเป็นคุณ ถ้าตอบได้ พรรคการเมืองเป็นเรื่องเล็ก

พรรคในฝันของโภคิน

ประเทศนี้มี 3 ปัญหา 1.กติกา ต้องมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เนื้อหาไม่เป็นไร ขอวิธีการให้ถูกต้อง ชอบธรรม ไม่ใช่เรื่องตีเช็คเปล่า หรือต่ออำนาจให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผมไม่ได้สนใจ 2.การทำมาหากินของผู้คน รวยกระจุก จนกระจาย แก้อย่างไร ต้องละลายรัฐราชการ “เป็นรัฐประชาชน”

ให้ SMEs ที่มีธุรกิจแบบเดียวกันมารวมกัน เขาอยากเห็นอะไร ดูแลกันเอง รัฐต้องไปออกกฎกติกาที่ทุกฝ่าย happy ที่จะอยู่ร่วมกัน เพราะถ้าคนตัวเล็กต่างคนต่างอยู่ไม่มีอำนาจต่อรอง แล้วจ้างเอกชนมาหาตลาด ประเทศจะเคลื่อนอย่างมโหฬาร มีการตั้งกองทุน 1.กองทุน SMEs 2.กองทุนสตาร์ตอัพ 3.กองทุนรัฐวิสาหกิจชุมชน สำคัญคือให้คนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสทำ แต่ที่ผ่านมายังทำไม่ได้เพราะติดรัฐราชการเป็นอุปสรรค ถ้าแกะตรงนี้ได้อันเดียว ประเทศระเบิดเลย

3.ความยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรม ต้องยกเลิกกฎหมายที่ห้ามละเมิดอำนาจศาล ถ้าจะด่าว่าก็ใช้กฎหมายหมิ่นประมาท แต่ถ้าคนไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาต้องปล่อย เรื่องป้องกันรัฐประหาร ให้เขียนบทบัญญัติว่า ห้ามนิรโทษกรรมการรัฐประหาร และบทบัญญัติให้ถือเป็นประเพณีการปกครองที่สำคัญที่สุด และให้บทบัญญัตินี้คงอยู่ตลอดไปแม้ไม่มีรัฐธรรมนูญ อย่างน้อยศาลที่กล้าหาญ เมื่อคณะรัฐประหารหมดอำนาจก็โดนเช็กบิล เพราะไม่สามารถครองอำนาจจนตัวคุณตายได้

สำหรับคนที่จะมาเป็น “leadership” ในพรรคที่มี wisdom ตามไอเดียโภคิน จะต้องมีลักษณะอย่างไร และใช่ “คุณหญิงสุดารัตน์” หรือไม่

“โภคิน” ยกสเป็กหัวหน้าพรรคในอุดมคติ 1.ต้องนำเสนอสิ่งที่มาจากใจ 2.ต้องมีบารมี 3.ที่เหลือคือองค์ประกอบทีมทั้งหมด

“ส่วนเรื่องหัวหน้าพรรคอยู่ที่ตัวคุณหญิง ท่านมีข้อดีคือมีบารมี เวลาไปตรงไหน คนรู้สึกว่าเหมือนพี่ เหมือนน้องเหมือนญาติ และอยู่การเมืองมานาน เข้าใจการเมือง ที่เหลือต้องเติมเรื่องการคิดร่วมกันและนำเสนออย่างเป็นระบบ ถ้าท่านจะเป็นผู้นำ”

วันที่เพื่อไทยไม่เป็นสถาบันการเมือง

“โภคิน” ยอมรับว่า พรรคเพื่อไทยเวลาไม่ตอบโจทย์ความฝันทางการเมืองของเขาแล้ว “ใช่ ไม่ตอบโจทย์ไม่ก้าวไปเป็นสถาบันทางการเมืองที่อยากจะเป็น แต่ผมไม่ได้ไปขัดแย้งกับใคร”

“เมื่อไม่เป็นอย่างนี้ ผมอายุขนาดนี้ ผมถอยดีกว่า ส่วนเขาจะไปอย่างไหนก็แล้วแต่เขา เพราะทั้งหมดถ้าไม่มีคุณค่า จะไม่มีใครเอาคุณ”

และยืนยันได้ว่า ไม่ใช่เกม “แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย” ตามตำรับ “ทักษิณ”

“ตัดไปได้เลย ตั้งแต่เพื่อไทยไปตั้งไทยรักษาชาติ ผมไม่เห็นด้วยเลย กติกาบ้า ๆ เราต้องไปเล่นตามกติกาบ้า ๆ อย่างนี้หรือ ถ้าเรามั่นคงกับจุดยืนของเราก็ยืนอย่างนี้ ไม่ใช่เผด็จการสร้างกติกาที่บิดเบี้ยว ฉันต้องเล่นบิดเบี้ยวตามเธอ…ผมไม่เห็นด้วยตั้งแต่แรก”

เพื่อไทยเป็น Family Business

“โภคิน” ปฏิเสธว่าการแยกจากกันระหว่าง โภคิน-คุณหญิงสุดารัตน์ และ “ทักษิณ” ไม่มีปัญหาความขัดแย้งส่วนตัว แต่ที่ไม่ลงตัวคือปัญหา “หลักความคิด”

“การออกจากพรรคไม่มีปัญหาส่วนตัวแต่มีปัญหาในหลักการ ถ้าทีมคุณทักษิณยังบริหารพรรคแบบ family-ครอบครัว ต่อไป ผมจะอยู่ไปทำอะไร”

“วันที่คุณทักษิณบอกว่าจะให้พรรคเป็น professional คือตอนที่พรรคให้คุณหญิงสุดารัตน์ นั่งเป็นประธานยุทธศาสตร์ เราประชุมกันทุกวันจันทร์ เอาทุกปัญหามาคุยกัน ปัญหานี้เราคิดอย่างไร พรรคควรจะวางตนอย่างไร แต่ก่อนให้เป็นหน้าที่ประธานวิป แต่ตอนนี้ให้ ส.ส.สมัครกันมาว่าใครจะอภิปราย มีติวกันจริงจัง”

ฟางเส้นสุดท้าย

เสียงลือที่ดังออกมานอกพรรค ว่าระหว่างที่คุณหญิงสุดารัตน์บริหารก็มีการกวาดล้างฝ่ายอื่นออกไปนั้น โภคินยืนยันแทนเจ้าแม่ กทม.ว่า “คุณหญิงไม่ได้ปฏิเสธใครแม้แต่คนเดียวนะ ไม่ใช่ใครไปกวาดล้างใคร แต่ผมไม่ได้ไปยุ่งกับปัญหาผมก็ไม่ทราบหรอก”

คำถามว่า จุดเปลี่ยน-ฟางเส้นสุดท้าย ในการแยกทางครั้งนี้ คืออะไร “โภคิน” ตอบว่า…

“คือการที่เอาคุณหญิงสุดารัตน์ออก แล้วอธิบายว่า อันนี้เป็นอันที่เขาลงทุนไว้แล้วเขาต้องบริหาร ผมยอมรับไม่ได้ ผมถามว่าแล้วต้นทุนที่คนอื่นจ่ายด้วยการติดคุก เช่น คนเสื้อแดง ที่ยากลำบาก คนเหล่านี้ไม่ได้ลงทุนหรือ เขาไม่ตอบ ผมก็จบ แค่นี้ ผมออกตามคุณหญิง ทั้งที่ผมไม่เคยทำงานกับคุณหญิงมาก่อนในชีวิต มาทำครั้งนี้”

“จากนี้ไปในพรรคเพื่อไทยเขาจะบริหารพรรคแบบ family ก็เรื่องของเขา แต่จุดยืนประชาธิปไตยเขาตรงกับเราก็ทำงานกันได้ นโยบายตรงกัน คนได้ประโยชน์เหมือนกัน ไม่ว่ากัน”

“ผมอยู่ในองค์กรแบบนั้น ผมก็เหนื่อย เช่นพอตกลงแบบนี้เสร็จ…เดี๋ยวเอาใหม่ พอใครไปวิ่งไปหาก็เปลี่ยน อย่างนี้ไม่ได้ เข้าใจว่ามันต้องมีอะไรระดับหนึ่ง แต่เมื่อตกผลึกก็เดินไป ถ้าผิดพลาดก็แก้ไขซึ่งกันและกัน”

พรรคมืออาชีพ กับ พรรคชินวัตร

ถาม “โภคิน” ว่าการบริหารพรรคแบบ professional กับพรรคแบบ family ได้ผลต่างกันอย่างไร “โภคิน” ตอบกระชับตรงประเด็นว่า “ต่างอยู่แล้ว เพราะโดยเฉพาะโลกสมัยใหม่ เขาต้องการ participation (การมีส่วนร่วม) ถ้าไม่ปรับตัวก็จะเหลือแต่ family อาจเป็นไปได้หรือเปล่า เจ้าของพรรคห่างจากสนาม อาจรับฟังจากใครบางคน บางส่วนเท่านั้น จึงเข้าใจไม่รอบด้าน ทำให้ตัดสินใจอีกแบบหนึ่งไป”

เมื่อพรรคแบบ family ทิศทางไม่สอดคล้องกับสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน จะนำพรรคไปสู่อะไร “โภคิน” ไม่ตอบตรง ๆ แต่ยกเหตุการณ์มาอธิบาย

“นี่ไงครับ คณะยุทธศาสตร์ (ยุคคุณหญิงสุดารัตน์) พยายามมองว่าพรรคควรวางตัวอย่างไรในแต่ละสถานการณ์ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ให้มี ส.ส.ร. กับตัดอำนาจวุฒิสภาออกไปมาจากผมทั้งหมด แต่สู้ในพรรค แต่ในพรรคไม่เอา บางคนบอกให้มี ส.ส.ร.ไปร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นการตีเช็คเปล่า ผมก็บอกไปว่าตีเช็คเปล่า โดยประชาชนเลือกมาจะเสียหายตรงไหน เขียนอย่างไรก็ไม่เลวร้ายไปกว่ารัฐธรรมนูญปัจจุบันหรอก สุดท้ายร่างที่เสนอสภาร่าง ส.ส.ร. และตัดอำนาจ ส.ว.เป็นของพรรคเพื่อไทย และผมเป็นคนร่างทั้งหมด”

“แต่อีกกลุ่มอำนาจบางส่วนในพรรคไม่เห็นด้วยเลย ต่อต้านทุกอย่าง เอาเป็นว่าเขาไม่เห็นด้วยกับการมี ส.ส.ร. เพราะกลัวว่าจะต่ออำนาจให้ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ผมบอกว่าไม่ใช่ พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่หรือไปขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน”

“แล้วถามต่อว่าใครจะไปล้ม พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่มี มี ส.ส.ร.ยังดีกว่า เพื่อบีบให้เดินทางนี้ เป็นทางที่ทุกฝ่ายเดินทางนี้ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ เพียงแต่อย่าไปกดดันตอนเลือก ส.ส.ร. เพราะตอนนี้ประชาชนตื่นทางการเมืองหมดแล้ว เขาไม่ยอมแล้ว ลองไปทำประชามติ แล้วไปแกล้งเขา ก็ไม่ได้แล้ว จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน”

“แต่อีกขั้วในพรรคบอกว่า ถ้าจะเอา ส.ส.ร. ต้องไปแตะหมวด 2 แบบก้าวไกล…หลักการมั่ว ถึงอย่างไร พรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้คะแนนเสียงจากเด็ก แล้วเพื่อไทยไปโหนตรงนี้ทำไม เพื่อไทยต้องมาเสนอสิ่งที่เป็นทางออก ทางเลือกของประเทศ สำหรับคนอีกเยอะแยะ นี่คือคะแนนทั้งนั้นเลย”

สาเหตุพรรคแตก

ต่อไปนี้ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เลขาธิการพรรค จะเคลื่อนทางไหน “โภคิน” ตอบว่า “หัวหน้าไม่ต้องพูด แต่ถ้าหากเคลื่อนไปแบบกลุ่มของภูมิธรรมเคลื่อนแบบ ก. สุดารัตน์เคลื่อนแบบ ข. พรรคก็เสียหาย”

“แต่ตำแหน่งของพรรคเพื่อไทยอยู่ตรงกลาง เป็นพรรคอุดมการณ์ตัวกลางที่ก้าวหน้า คนรอตรงนี้ทั้งนั้น ผมบอกคุณหญิงสุดารัตน์ไปว่า ถ้าตั้งพรรคต้องเดินแนวนี้แล้วจะได้เสียงถล่มทลายเพราะถ้าบอกว่าเป็นพวกทักษิณก็จะถูกบีบล็อก”

ถามว่านิยามสถานะความขัดแย้งของพรรคเพื่อไทยเวลาว่าอะไร…“โภคิน” คิดแล้วตอบว่า “เขาก็อยากจัดระเบียบพรรคในแนวทาง…ตระกูลชินวัตร เมื่อการบริหารจัดการตัดสินใจที่หน้างานจบที่แบบหนึ่ง พอใครไปวิ่ง ไปประจบก็เปลี่ยนเอาอันนี้ออก เอาอันนี้มาลงแทน อย่างนี้ไม่ได้แล้วล่ะ คนรบข้างหน้างานก็ไม่มีความหมาย”

“ที่เป็นอย่างนี้ อาจเป็นเพราะท่านห่าง และอายุท่านมากขึ้น ต่างจากเมื่อก่อนที่ท่านลงมาดูเอง”

แม้ว่า 2 ปีก่อน “คุณหญิงสุดารัตน์” ได้รับการไว้วางใจจากคุณทักษิณ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ แต่วันนี้สถานการณ์กลับพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะอะไร

“ต้องเข้าใจเขา เขาเป็นนักการตลาด เขาเอาตัวเลือกมา คุณหญิงสุดารัตน์ คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และคุณชัยเกษม นิติศิริ เป็นบัญชีนายกรัฐนตรี เพราะเขามองว่าถ้าหากชนะขึ้นมา ก็ยังดีกว่าคนอื่นเป็น…อันนี้ไม่ได้มองผิด เอาคุณหญิงสุดารัตน์ก็ถือว่าโอเค คือคนก้นกุฏิรักพรรคของนายกฯทักษิณที่สุด”