ฝนดาวตกเจมินิดส์ ปรากฏคืนนี้ (13 ธ.ค.) ถึงรุ่งเช้า ห้ามพลาด!

ภาพโดย OpenClipart-Vectors จาก Pixabay

ตั้งตารอ! ปรากฏการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์ ดูด้วยตาเปล่าได้ทั่วประเทศ คืนนี้

เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2563 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ แจ้งว่า

คืน 13 – รุ่งเช้า 14 ธันวาคมนี้ เรามีนัดดู #ฝนดาวตกเจมินิดส์ กัน!

ดูด้วยตาเปล่าได้ทั่วประเทศในบริเวณที่มืดสนิท ไม่มีแสงไฟรบกวน จะดูเองหรือมาดูกับ NARIT ก็ได้ครับ เราจัดสังเกตการณ์ 3 ที่ ได้แก่ #เชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำห้วยลาน #นครราชสีมา หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ นครราชสีมา ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ #ฉะเชิงเทรา หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ฉะเชิงเทรา อ.แปลงยาว

สำหรับใครที่จะมาดูที่ #อ่างเก็บน้ำห้วยลาน ต.ออนใต้ อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เรามีวิธีเตรียมตัวมาฝากกันทั้งสำหรับสายนอนชิลล์ และสายถ่ายภาพ ไปดูกันเลยครับ

อ่านรายละเอียดกิจกรรมที่ห้วยลานเพิ่มเติม และลงทะเบียนล่วงหน้าได้ที่

https://darksky.narit.or.th/darkskyr…/communities/huailan/

(ผู้ลงทะเบียนล่วงหน้าสามารถรับแผนที่ดาวได้ที่จุดลงทะเบียน ในช่วงเวลา 17:00 – 20:00 น. เท่านั้น)

 

ก่อนชม #ฝนดาวตกเจมินิดส์ คืน 13 ธ.ค นี้

เรามาทำความรู้จักกับ “ฝนดาวตกเจมินิดส์” กันสักหน่อย

อากาศเย็นลงเรื่อยๆ ฟ้าดีงามขนาดนี้

#เราจึงไม่อยากให้คุณพลาดด้วยประการทั้งปวง

“ฝนดาวตกเจมินิดส์” (Geminids) เป็นฝนดาวตกชุดที่มีต้นกำเนิดจากดาวเคราะห์น้อยเฟทอน (3200 Phaethon) เป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรรูปร่างรีจนคล้ายวงโคจรดาวหาง ฝนดาวตกชุดนี้เป็นหนึ่งในฝนดาวตกไม่กี่ชุดที่มีต้นกำเนิดมาจากดาวเคราะห์น้อย ต่างจากฝนดาวตกส่วนใหญ่ที่มีต้นกำเนิดเป็นดาวหาง

ฝนดาวตกชุดนี้จะปรากฏให้เห็นประมาณวันที่ 4-17 ธันวาคมของทุกปี ช่วงที่มีอัตราดาวตกสูงสุดประมาณวันที่ 13-14 ธันวาคม มีอัตราดาวตกสูงสุดเฉลี่ยประมาณ 120 ดวง/ชั่วโมง ฝนดาวตกเจมินิดส์นับเป็นหนึ่งในฝนดาวตกชุดที่น่าดูที่สุด เนื่องจากมีอัตราเร็วค่อนข้างช้า สังเกตได้ง่าย และยังมีอัตราดาวตกค่อนข้างสม่ำเสมอในแต่ละปี

ดาวตกในฝนดาวตกเจมินิดส์มีอัตราเร็วประมาณ 35 กิโลเมตร/วินาที ค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับฝนดาวตกชุดอื่น อย่างฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ที่มีอัตราเร็วประมาณ 58 กิโลเมตร/วินาที หรือฝนดาวตกลีโอนิดส์ที่มีอัตราเร็วประมาณ 71 กิโลเมตร/วินาที

ฝนดาวตกเจมินดส์ถูกกล่าวถึงในบันทึกทางประวัติศาสตร์ครั้งแรกในปี ค.ศ.1862 ด้วยอัตราดาวตกประมาณ 10 – 20 ดวง/ชั่วโมงก่อนที่จะมากขึ้นในปัจจุบัน ฝนดาวตกเจมินิดส์จึงถือว่าเป็นฝนดาวตกน้องใหม่เมื่อเทียบกับฝนดาวตกชุดอื่น อย่างฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์และฝนดาวตกลีโอนิดส์ ที่มีบันทึกถึงการปรากฏของฝนดาวตกเหล่านี้ครั้งแรกในปี ค.ศ. 36 และ ค.ศ. 902 ตามลำดับ

>> ข้อแนะนำในการดูฝนดาวตก

สภาพอากาศ – ท้องฟ้าใส ไร้เมฆ

เวลา – ช่วงเวลาที่เหมาะในการสังเกตการณ์ฝนดาวตกเจมินิดส์จะเป็นช่วงดึกตั้งแต่ 21.00 น. เป็นต้นไป ในช่วงหลังเที่ยงคืนดาวตกจะมีอัตราการตกมากที่สุด เนื่องจากเวลาหัวค่ำจนถึงก่อนเที่ยงคืนเป็นช่วงที่ดาวตกวิ่งสวนทางการหมุนรอบตัวเองของโลก เราจะเห็นดาวตกมีความเร็วสูง ทำให้สังเกตได้ยาก แต่หลังเที่ยงคืนไปจนถึงเวลาใกล้รุ่งจะเป็นช่วงที่ดาวตกวิ่งตามทิศทางการหมุนของโลก เราจึงเห็นดาวตกวิ่งในอัตราเร็วที่ช้ากว่าจนมีเวลาที่สามารถชี้ชวนกันดูได้ และมองเห็นความสวยงามของดาวตกได้ชัดเจนขึ้น

สถานที่ – สถานที่ชมฝนดาวตก ควรเป็นสถานที่ที่มีแสงไฟรบกวนน้อย ห่างไกลจากเมืองหรือแสงไฟตามถนน อุปกรณ์ที่ควรเตรียมเพื่อนอนดูฝนดาวตกประกอบด้วยเก้าอี้เอน เสื่อ ผ้าห่ม และอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ให้ความอบอุ่น หากนอนดูดาวตกเพียงคนเดียว เวลานอนรอชมให้หันเท้าไปทางทิศใต้แล้วพยายามมองท้องฟ้าเป็นมุมกว้าง ไม่ควรมองเพ่งไปที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งบนท้องฟ้า เพราะดาวตกจะปรากฏกระจัดกระจายบนท้องฟ้า เมื่อเริ่มนอนชมท้องฟ้าในความมืดประมาณ 30 นาทีแล้ว ดวงตาของเราจะปรับให้เข้ากับความมืด จากนั้นก็อดใจรอจนกว่าคุณจะเริ่มเห็นดาวตก ย้ำว่าควรมองท้องฟ้าเป็นมุมกว้างเข้าไว้ ดาวตกบางลูกอาจปรากฏกลางมุมมองของคุณ หรือส่วนหนึ่งอาจปรากฏบริเวณใกล้ขอบมุมมองสายตา

ข้อมูล : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ – เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ชำนาญการ สดร.

นายวรวิทย์ ตันวุฒิบัณฑิตย์ ปราชญ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านดาราศาสตร์ไทยและที่ปรึกษาหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฉะเชิงเทรา กล่าวว่า อัตราการเกิดฝนดาวตกช่วงพีคสูงสุด คาดว่ามีมากกว่า 80 -150 ดวง ต่อชั่วโมง ชมได้หลัง 21.00 น.เป็นต้นไป โดยจะเกิดปรากฏการณ์สูงสุดหลังเที่ยงคืน มีลักษณะพิเศษคล้ายหยดน้ำ หลากสี สีเขียว สีเหลือง ม่วง ฟ้า พุ่งมาจากกลุ่มดาวคนคู่ การชมนอนราบหนุนหมอนนอนรอชมหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

ล่าสุด ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ยังได้เผยวิธี 4 เทคนิคดูฝนดาวตกได้อย่างสมบูรณ์แบบ ได้แก่

  1. ดูในที่มืด เลือกสถานที่โล่ง มีแสงไฟรบกวนน้อย ห่างไกลจากแสงเมืองหรือแสงไฟตามถนน
  2. ดูด้วยตาเปล่า ฝนดาวตกจะปรากฏกระจัดกระจายบนท้องฟ้า การมองดูด้วยตาเปล่าจะช่วยให้เห็นฟ้าในมุมกว้าง และเห็นฝนดาวตกได้เยอะที่สุด
  3. รู้จักกลุ่มดาว ฝนดาวตกจะมีศูนย์กลางการกระจายเสมอ หากรู้ตำแหน่งกลุ่มดาว ที่เป็นศูนย์กลางการกระจาย ก็จะติดตามดูได้ตลอดทั้งคืน เช่น ฝนดาวตกเจมินิดส์ ศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ (Gemini), ฝนดาวตกลีโอนิดส์ ศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวสิงโต (Leo)
  4. การเตรียมตัวให้พร้อมด้วยอุปกรณ์เหล่านี้ 1) เก้าอี้สำหรับเอนนอนดูดาว 2) เสื่อสำหรับนอนหรือนั่งดูดาว 3) ผ้าห่มหรืออุปกรณ์สร้างความอบอุ่น