“ประยุทธ์” ในปีวัวดุ ฝ่า 5 มรสุมการเมือง ปี 2564

การเมืองศักราช 2564 ปีฉลู อาจไม่เป็น “วัวเชื่อง” สำหรับ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่จะกลายเป็น “วัวดุ” ที่อาจแปลงร่างกลายเป็น “กระทิงดุ” วิ่งชนรัฐบาลทหารผสมพลเรือน

ส่องภาระ – วาระที่จะเป็นจุดหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองในปี 2564

1.ผลกระทบจากปัญหาโควิด -19 กลายเป็นปัญหาที่ค้างคาจากปี 2563 ยังไม่มีทีท่าจะเบาบางลงไปคือปัจจัยการระบาดของโรคไวรัสโควิด – 19 ที่หวนกลับมาระบาดรอบใหม่ 

จากจุดเริ่มต้นการระบาดใน จ.สมุทรสาคร ลุกลามไปทั่วประเทศ หนักยิ่งกว่าการระบาดรอบแรก ผลสืบเนื่องที่ตามมาคือ อาจทำให้เศรษฐกิจในปี 2564 นอกจากไม่สดใส ฟื้นตัวอาจยังติดลบ ถดถอยต่อเนื่อง 

แน่นอนว่าเอฟเฟกต์ที่ตามมาจากเศรษฐกิจถดถอย คือการคนตกงานของคนงานอาจยิ่งเพิ่มขึ้น เพราะหลังจากการระบาดของโควิด -19 ระลอกแรก สิ่งที่เห็นตามมาคือโรงงานอุตสาหกรรมหลายส่วนยุติการผลิต ตามมาด้วยการตกงาน และหลายโรงงานปิดตัวอย่างถาวร วิกฤตคนตกงานยังเป็นเรื่องใหญ่ วิกฤตโควิด 19 จึงกลายเป็น วิกฤตคู่ขนานกับวิกฤตเศรษฐกิจ 

2. วาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งในปี 2564 ถูกยกให้เป็นวาระการเมืองแห่งปี เพราะหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังเดินเครื่องพิจารณาอยู่ในรัฐสภา ในการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อนำไปสู่การมีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เดินหน้าผ่านสภาไปได้ ต้องมีการทำประชามติ เลือกตั้ง ส.ส.ร. และเข้าสู่กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ 

แรงผลักทางการเมืองด้านนอกสภา จะไหลเข้ามาอยู่ในสภาระหว่างการขึ้นโครงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ทว่า… สถานการณ์ข้างต้นจะเดินไปตามโมเดลดังกล่าวได้ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มี ส.ส.ร.จะต้องผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมรัฐสภาเสียก่อน 

แต่กลายเป็นว่ากระบวนการอาจไม่ได้จบลงง่ายๆ เพราะยังมีหลายประเด็นที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช… ที่มี “วิรัช รัตนเศรษฐ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ นั่งเก้าอี้เป็นประธานนั้น ยังมีความเห็นไม่ลงรอย อาทิ

ประเด็นจำนวนเสียงในการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การประชุมรัฐสภา โดยค้านยืนยันว่าต้องให้แก้ไขง่าย คือ กำหนดการขอแก้ไขเพิ่มเติมต้องมาจากส.ส. จํานวน ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของส.ส. (50 คน) หรือจากส.ส. และส.ว. จํานวน ไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (75 คน) 

ส่วนฝ่ายรัฐบาลและ ส.ว.ยืนยันว่าจะให้แก้ไขยาก คือ แก้จำนวนให้เป็น 2 ใน 5 ของทั้งสองสภาคือ 150 คน ดังนั้น จึงมีพรรคพลังประชารัฐ กับพรรคเพื่อไทย ที่มี ส.ส.เกิน 100 เสียงที่พอจะยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญได้เท่านั้น  

จำนวน ส.ส.ร. ฝ่ายรัฐบาลบวก ส.ว. ยืนยัน ส.ส.ร.150 มาจากการเลือกตั้ง และสรรหา 50 คน ตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เสนอไป แต่ฝ่ายค้าน นำโดยเพื่อไทย – ก้าวไกล เห็นต่างและยืนยันว่า ส.ส.ร.จะต้องมาจากการเลือกตั้งจากประชาชน 200 คน เท่านั้น

ที่น่าห่วงที่สุดคือ ประเด็นที่ถกเถียงกันว่ารัฐธรรมนูญ 2560 แก้ไขได้ทั้งฉบับได้หรือไม่ หรือ แก้ไขได้เฉพาะรายมาตรา  ซึ่งประเด็นดังกล่าว “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส.พลังประชารัฐ และ “สมชาย แสวงการ” ส.ว.ได้ยื่นญัตติต่อที่ประชุมรัฐสภา ให้พิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้แล้ว เหลือแค่รอมติจากที่ประชุมว่าจะอนุมัติให้ “ส่ง” หรือ “ไม่ให้ส่ง” เท่านั้น โดยจะมีความชัดเจนใน กุมภาพันธ์ 2564 จุดชี้ขาดจะอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง 

3.เริ่มต้นศักราช 2564 ในวันที่ 4 มกราคม วาระแรกที่ 6 พรรคร่วมฝ่ายค้านจะปิดห้องคุยกันที่พรรคเพื่อไทย คือเตรียมความพร้อมเปิดศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เบื้องต้นให้พรรคฝ่ายค้านแต่ละพรรค ลิสต์รายรัฐมนตรีที่จะอภิปราย 

จากนั้น ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนมกราคม 2564 จากนั้นประธานสภามีเวลาบรรจุวาระ 15 วัน อภิปรายไม่ไว้วางใจกุมภาพันธ์ ขีดเส้นก่อนสภาผู้แทนราษฎรปิดสมัยประชุม 28 กุมภาพันธ์ 

เป้าใหญ่อยู่ที่ “พล.อ.ประยุทธ์” ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ที่ต้องกำกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทั้งคณะ

นายสุทิน คลังแสง ส.ส.มหาสารครมพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน โหมโรงศึกซักฟอกว่า แม้แต่รัฐบาล รวมถึงตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและรมว.กลาโหม หากเห็นข้อมูลก็จะต้องตกใจ เช่น ข้อผิดพลาดเกี่ยวโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลคิดว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่กลับดำเนินการผิดพลาด รวมถึงมีการทุจริตแทนที่จะเป็นการกระตุ้นกลับเป็นการดึงเศรษฐกิจให้ถดถอยลง

“รวมถึงเรื่องใหญ่ที่รัฐบาลไปแอบทำอะไรใต้ดิน คิดแผนปราบปรามประชาชน หากเปิดขึ้นมาคนจะเชื่อได้ว่าเป็นการกระทำที่ไร้มนุษยธรรมอย่างยิ่ง จะทำให้รัฐบาลขาดความชอบธรรมทันที”

แต่จะปัง จะเปรี้ยง หรือ จะแค่ราคาคุย ขึ้นอยู่กับฝีมือฝ่ายค้าน 

4. ชุมนุมของขบวนการนักศึกษา เป็นอีกโจทย์ใหญ่ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ที่จะต้องรับมือ แม้ว่าช่วงปลายปี 2563 จะแผ่วลงไปบ้าง สวนทางกับการถูกดำเนินคดี ตามข้อกล่าวหาต่างๆ ที่ตามมาเป็นหางว่าว แต่แกนนำม็อบราษฎรอย่าง “อานนท์ นำพา” ระบุว่าการชุมนุมในปี 2563 เป็นแค่โหมโรง แต่ของจริงจะอยู่ในปี 2564

“การเคลื่อนไหวของกลุ่มในปีหน้า จะเป็นปีที่มีการชุมนุมที่เข้มข้นขึ้นมากกว่านี้ ทั้งในส่วนเนื้อหาสาระ ทั้งสภาพจิตใจคน ด้านเศรษฐกิจและการเมือง จะมารวมกันในปีหน้าทั้งหมด และยืนยันว่าข้อเรียกร้องยังคงเป็น 3 ข้อเช่นเดิม การชุมนุมในปีนี้เป็นเพียงการโหมโรงเท่านั้น” 

5. เลือกตั้งท้องถิ่น ในระดับเทศบาล-องค์การบริหารส่วนตำบลทั่วประเทศ ที่จะต้องต่อเนื่องมาจากการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) ที่เกิดขึ้นเมื่อ 20 ธันวาคม 2563 รวมถึงการเลือกตั้งนายก เมืองพัทยา และไฮไลท์อยู่เลือกตั้งผู้ว่า กทม. ที่จะเป็นการชิงเหลี่ยมระหว่าง พรรคเพื่อไทย ที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะส่งใคร… ชัชชาติ สิทธิพันธ์ อดีต รมว.คมนาคม แคนดิเดตนายกฯ เพื่อไทย ก็ประกาศตัวว่าจะลงในนามอิสระ ส่วนพรรคก้าวไกล ก็ยังไม่แบไต๋ 

นอกจากนี้ ยังต้องลุ้น พรรคพลังประชารัฐ และ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะเจ้าของแชมป์เก่าจะส่งใครลงชิงชัยเก้าอี้พ่อเมือง กทม.

แต่ท่ว่า วัน ว. เวลา น. ของการเลือกตั้งท้องถิ่น ระดับเทศบาล กับ อบต. รวมถึงการเลือกตั้งผู้ว่า กทม.ยังไม่มีใครรู้ว่า “พล.อ.ประยุทธ์” จะปล่อยมือให้เกิดขึ้นเมื่อใด 

แถมยังมีปัจจัยแทรกซ้อนเรื่องการทำประชามติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ในกรณีผ่านที่ประชุมรัฐสภา) โยงไปถึงการเลือกตั้ง ส.ส.ร. ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง  (กกต.) เป็นผู้จัดการเลือกตั้งทั้งหมด โดยมีเงื่อนไขว่าการเลือกตั้งแต่ละครั้งไม่ว่าระดับใด หรือ การทำประชามติ จะต้องเว้นระยะห่าง 2 เดือน 

เกมแก้ประชามติรัฐธรรมนูญ –  เลือกตั้ง ส.ส.ร.ก็จะเป็นปัจจัยแทรกซ้อนการเลือกตั้งท้องถิ่นได้เช่นกัน ทั้งหมดเป็น 5 วาระการเมืองร้อนปี 2564 ที่จะกลายเป็น “วัวดุ” มิใช่วัวเชื่อง