เปิดเบื้องลึกดีลวัคซีนโควิด แอสตร้าเซนเนก้า-สยามไบโอไซเอนซ์

ภาพโดย DoroT Schenk จาก Pixabay

ซีอีโอ SCG เปิดเบื้องลึกดีลวัคซีนโควิด-19 แอสตร้าเซนเนก้า-สยามไบโอไซเอนซ์

ทันทีที่ “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า เปิดประเด็น-ตั้งข้อกังขาร่างสัญญา-TOR การจัดหา-จัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ระหว่างรัฐบาลไทย-บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด กับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด

ปัญหาด้านสาธารณสุขได้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองทันควัน !

ดีลการจัดหา-จัดซื้อวัคซีนโควิด-19 ระหว่างรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์-บริษัทสัญชาติไทย สยามไบโอไซเอนซ์กับแอสตร้าเซนเนก้า บริษัทสัญชาติอังกฤษ-เชื้อสายสวีเดน จึงถูกตั้งคำถามถึงเส้นสน-กลใน

หากไล่ “ไทม์ไลน์” 24 สิงหาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุขลงนามหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อรับถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตวัคซีนโควิด-19 จากแอสตร้าเซนเนกากับผู้ผลิตวัคซีนในประเทศ

12 ตุลาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุข บริษัทเอสซีจี จำกัดและบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์กับแอสตร้าเซนเนกาได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงการผลิตและจัดสรรวัคซีนโควิด-19 ที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด

17 พฤศจิกายน 2563 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้กับคนไทยสำหรับจองล่วงหน้าและจัดซื้อกับบริษัทแอสตร้าเซนเนกา จำนวน 26 ล้านโดส

โดยมอบให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ทำสัญญาจัดหาวัคซีนโควิด-19 โดยการจองล่วงหน้าและมอบให้กรมควบคุมโรคดำเนินการจัดทำสัญญาการจัดซื้อวัคซีนกับบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า

27 พฤศจิกายน 2563 พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาการจัดหาวัคซีน-19 โดยการจองล่วงหน้ากับบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด ที่ทำเนียบรัฐบาล ท่ามกลางสักขีพยานผ่านทางออนไลน์-ออฟไลน์

ร่วมด้วย “พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล” เลขาธิการพระราชวัง ในฐานะประธานกรรมการ บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด นายเจมส์ ทีก ประธานบริษัท AstraZeneca (ประเทศไทย)

Mr.Pascal Soriot เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท AstraZeneca นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ

“นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส” กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท เอสซีจี เล่าเบื้องหลัง-เบื้องลึก “ดีล” ของการลงนามในสัญญาจัดหา-จัดซื้อวัคซีน เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 บนเวที Intania Dinner Talk 2020 “เดินหน้าฝ่าวิกฤต พลิกเศรษฐกิจไทย” ที่ห้องแกรนด์ฮอลล์ โรงแรม ดิ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก อะ ลักซ์ซูรี คอลเล็คชั่น โฮเทล เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ว่า

ซีอีโอ SCG  เริ่มต้นเล่าย้อนไปถึงที่มา-ที่ไปและตอบคำถามไปในคราวเดียวกันว่า SCG เกี่ยวอะไร ว่า ในช่วงมีนาคม-เมษายน 2563 นอกเหนือจากงานประจำของ SCG ในเรื่องการทำมาค้า-ขายในทางธุรกิจและการต่อสู้กับโควิด-19 ในช่วงวิกฤตแล้ว ได้เข้าไปช่วยบุคลาการทางการแพทย์ หรือ การทำห้องตรวจเชื้อ (Negative pressure room) ซึ่งมองว่า โรคระบาดโควิด-19 ครั้งนี้ ทางเดียวที่เมืองไทยจะรอดจากวิกฤตครั้งนี้ได้ คือ ต้องมีวัคซีน

“SCG ทำงานด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) กับมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดมาเป็นสิบปีแล้ว พอดีตอนนั้นได้คุยกับนักลงทุน (Venture Capital ) เขาบอกว่า อ๊อกซฟอร์ดเริ่มพัฒนาวัคซีนตรงนี้อยู่ 2 เดือนต่อมาประมาณพฤษภาคม- มิถุนายน 63 เลยคุยกัน”

“ตอนนั้นเรารู้จักผู้ใหญ่กับทางรัฐบาลหลายท่าน เลยถามว่า ทางรัฐบาลอยากให้เรา  ทำเรื่องนี้ขนาดไหน ทางภาครัฐส่งข่าวมาบอกว่า ดี และอยากให้เอกชนเข้ามามีบทบาทตรงนี้ ผมก็เลยได้มีโอกาสคุยกับอ๊อกซฟอร์ด”

คำถามแรกที่อ๊อกซฟอร์ดตั้งคำถามกับ SCG บริษัทผลิตปูนซีเมนต์-ปิโตรเคมี-แพคเกจจิ้ง ไฉนสนใจการผลิตวัคซีน “รุ่งโรจน์” ให้คำตอบที่คิดเร็ว ๆ ในหัว ว่า เป็นเรื่องของกิจกรรมเพื่อสังคม (Corporate Social Responsibility : CSR)

“เราบอกว่า เราคนไทย เรามองว่าคนไทยลำบาก ไม่ใช่เฉพาะเรื่องสุขภาพ แต่เป็นเรื่องเศรษฐกิจด้วย เราคิดว่า เรามีอะไรช่วยเหลือได้ เราอยากจะช่วย”

หลังจากนั้น “อ๊อกซฟอร์ด” ได้แนะนำให้รู้จักกับ “แอสตร้าเซนเนก้า” บริษัทอังกฤษเชื้อสายสวีเดน ซึ่งเป็น License C ของอ๊อกซฟอร์ด ซึ่งโชคดีที่ SCG รู้จักกับกลุ่มสยามไบโอไซเอนซ์ เป็นคอนแทรคแมนูแฟคเจอริ่ง ก่อตั้งโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9”

“ต้องบอกว่า บ้านเรานี่มันดวงจริง ๆ นะ สมเด็จพระสยามเทวาธิราชจริง ๆ สยามไบโอไซน์เพิ่งสั่งเครื่องจักรเข้ามาใหม่ เผอิญ เครื่องจักรที่สั่งเข้ามาเป็นรุ่นเดียวกับสายการผลิตของแอสตร้าเซนเนก้า เลยเป็นดวงว่า เออ เหมือนกับซื้อรถยนต์มาแล้วใช้ได้”

“เลยคุยกับสยามไบโอไซเอนซ์ เขาบอกว่า ก็เป็นไปได้ ถ้าสมมุติว่า สุดท้ายมีข้อตกลงกันตรงนี้ได้ ก็เป็นไปได้ว่า แอสตร้าเซนเนก้าจะยอมเสียโอกาสทางธุรกิจและมาทำวัคซีนตัวนี้ให้กับเมืองไทย”

“คุยไป คุยมาภาครัฐ พี่พงษ์ (สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน) เป็นคนหนึ่งที่สนับสนุนโครงการนี้รวมถึงกระทรวงสาธารณสุข ทางรัฐมนตรีอนุทิน (ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข) และท่านนายกฯ”

แม้ในขณะนั้นมีบริษัทระดับโลกที่สามารถวิจัยและผลิตวัคซีนโควิด-19 ได้ถึง 3 รายใหญ่ แต่ด้วยองค์ประกอบ สิ่งอำนวยความสะดวก ทั้งการจัดส่ง-จัดเก็บวัคซีนที่เหมาะสมกับประเทศไทย-อาเซียน สุดท้ายจึงลงตัวที่วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า

“ช่วงที่ข่าวนี้ออกไปก็มีอีก 2 บริษัท คือ บริษัทไฟเซอร์และโมเดอร์นา ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม mRNA มีข้อที่น่าสนใจ คือ วัคซีนของแอสตร้าเซเนก้าเก็บรักษาไว้ในอุณหภูมิไม่ต่ำนัก ของไฟเซอร์ต้องเก็บรักษาไว้ในอุณหภูมิติดลบ – 70 องศา คิดแล้วว่า บ้านเราคงยาก ส่วนโมเดอร์นาติดลบ -20 ในแง่ของการขนส่งบ้านเราก็น่าจะมีปัญหา”

“ในอาเซียนไม่ต้องพูดถึงเพราะบางประเทศอาจจะไม่มีทางที่จะทำได้ จึงต้องถือว่า วัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าหวังว่าจะเป็นความหวังหนึ่งของพวกเรา พวกผมหวังและเอาใจช่วยให้ผลิตตรงนี้ออกมาให้ได้ พวกเราจะได้ใช้วัคซีนตรงนี้กัน”

บทสรุปสุดท้าย ทางแอสตร้าเซนเนก้าจึงมาเจรจากับกระทรวงสาธารณสุขและสยามไบโอไซเอนซ์ และตกลงกันว่าจะให้ไทยเป็นฐานการผลิตในอาเซียน

“สยามไบโอไซเอนซ์มีกำลังการผลิตประมาณ 200 ล้านโดสต่อปี หรือ ฉีดได้ประมาณ 100 ล้านคน คิดว่าพอไหวสำหรับอาเซียน บ้านเราก็จะมีวัคซีนที่ทางสยามไบโอไซเอนซ์บอกคือ ประมาณครึ่งแรกของปี 2564 จะได้วัคซีนตรงนี้”

นี่คือส่วนหนึ่งของเบื้องลึก-เบื้องหลัง ข้อตกลงการลงนามเจตจำนงและสัญญาการจัดซื้อวัคซีนล่วงหน้าระหว่างกระทรวงสาธารณสุขและสยามไบโอไซเอนซ์ กับแอสตร้าเซนเนก้า