รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พิมพ์เขียว 13 ขั้นตอน เลือก ส.ส.ร. 200 คน

เปิดพิมพ์เขียว 13 ขั้นตอน จาก ส.ส.ร. 200 คน สู่ “รัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

หลังจากรัฐสภาลงมติคว่ำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับไอลอว์ ที่ถูกมวลชนนอกสภาให้นิยามว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชน แต่รัฐสภาได้รับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล เมื่อ 18 พฤศจิกายน 2563

และใช้เวลาปลุกปล้ำแก้ไขในชั้นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ…. (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) สภาหลังผ่านวาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ เป็นเวลาเกือบ 3 เดือนเต็ม

ที่สุดแล้วก็คลอดร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับ “ไฟนอล” ออกมาเป็นพิมพ์เขียวสำหรับการก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญใหม่ โดยมี สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จำนวน 200 คน เป็นผู้ยกร่าง ผ่านกระบวนการ 13 ขั้นตอน

1.หลังจากร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้บังคับในวาระเริ่มแรก ให้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้มีการรับสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร. ภายใน 30 วัน และให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ภายใน 90 วัน นับแต่มีเหตุแห่งการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่

2.ให้มี ส.ส.ร. จำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน โดยคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัครเป็น ส.ส.ร.ให้ใช้เกณฑ์เดียวกับสมัคร ส.ส.

ให้ใช้ “เขตจังหวัด” เป็น “เขตเลือกตั้ง” แต่ละจังหวัดจะมีสัดส่วน ส.ส.ร.ที่แตกต่างกันตามจำนวนประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทั้งนี้ การกำหนด ส.ส.ร. ที่แต่ละจังหวัด “พึงมี” ให้ใช้จำนวนประชากรทั้งประเทศ ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎรที่ประกาศในปีสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง ส.ส.ร.เฉลี่ยด้วยจำนวน ส.ส.ร. 200 คน จำนวนที่ได้รับให้ถือว่าเป็นจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน

จังหวัดไหนที่ราษฎรไม่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน ให้มี ส.ส.ร.ในจังหวัดนั้นได้ 1 คน

จังหวัดไหนที่ราษฎรเกินจำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน ให้มี ส.ส.ร.ในจังหวัดนั้นเพิ่มขึ้นอีก 1 คน ทุกจำนวนราษฎรที่ถึงเกณฑ์จำนวนราษฎรต่อ ส.ส.ร. 1 คน

ถ้าจำนวน ส.ส.ร.ยังไม่ครบ 200 คน จังหวัดไหนที่มีเศษเหลือจากการคำนวณมากที่สุด ให้จังหวัดนั้นมี ส.ส.ร.เพิ่มขึ้นอีก 1 คน และให้เพิ่ม ส.ส.ร.ด้วยวิธีการเดียวกันแก่จังหวัดที่มีเศษเหลือลำดับรองลงมา จนครบจำนวน 200 คน

3.ผู้มีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ร. ได้ 1 คน (one man one vote) และจะลงคะแนนเลือกผู้ใด หรือ ไม่เลือกผู้ใดเป็น ส.ส.ร.เลยก็ได้

4.เมื่อเลือกตั้ง ส.ส.ร.แล้ว ให้ กกต.ประกาศรับรองผลให้เสร็จภายใน 15 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง โดยให้ผู้สมัครที่ได้รับคะแนน “สูงสุด” เรียงตามลำดับจนครบจำนวน ส.ส.ร.ที่พึงมีในแต่ละจังหวัด และให้ กกต.จัดทำบัญชีผู้ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.ร.ส่งรัฐสภาภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ประกาศรับรองผล แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศชื่อคนที่ได้เป็น ส.ส.ร.ลงในราชกิจจานุเบกษา

5.ส.ส.ร.ต้องทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา 240 วัน นับแต่มีการประชุม ส.ส.ร.นัดแรก ซึ่งต้องจัดไม่ช้ากว่า 30 วัน นับแต่วันที่มี ส.ส.ร.จำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 ของ ส.ส.ร.ทั้งหมด แล้วให้ดำเนินการให้ได้มาซึ่ง ส.ส.ร.ส่วนที่เหลือโดยเร็ว

6.ในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ให้ ส.ส.ร.จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างทั่วถึง ทุกจังหวัด ให้ ส.ส.ร. คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐ จัดให้มีการเผยแพร่เนื้อหา-ความคืบหน้าในการร่างรัฐธรรมนูญผ่านสื่อมวลชน และเวทีแสดงความคิดเห็นต่างๆ

7.การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะกระทำมิได้ กรณีที่รัฐสภาวินิจฉัยว่าร่างรัฐธรรมนูญมีลักษณะดังกล่าว ให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไป

8.การแต่งตั้งกรรมาธิการที่ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญหรือพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ให้ ส.ส.ร.แต่งตั้งจากสมาชิก ส.ส.ร. สำหรับกรรมาธิการอื่นอาจแต่งตั้งจากบุคคล ซึ่งมิได้เป็นสมาชิก ส.ส.ร.ได้ โดยให้พิจารณาถึงความรู้ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ในการทำหน้าที่และมีจำนวนกรรมาธิการตามความจำเป็น

9. เมื่อ ส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้นำเสนอต่อรัฐสภาพิจารณาเพื่ออภิปรายแสดงความคิดเห็น ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีการลงมติ เมื่อรัฐสภาอภิปรายแสดงความคิดเห็นเสร็จสิ้นแล้ว ให้ประธานนำร่างรัฐธรรมนูญ ส่งให้ กกต.จัดออกเสียงประชามติ ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รัฐสภาประชุมอภิปรายแสงความเห็น

10.ให้ กกต. คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง จัดให้มีการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนทราบทั่วไปผ่านช่องทางต่าง ๆ และให้นำเทคโนโลยี การสื่อสารมาสนับสนุนเพื่ออำนวยความสะดวกในการเผยแพร่

11.เมื่อประชามติเสร็จสิ้น ให้ กกต.ประกาศผลการออกเสียงประชามติให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน หากคะแนนการออกเสียงเห็นชอบ ให้ประธานรัฐสภา นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ

12.หากไม่ผ่านประชามติ ให้ร่างรัฐธรรมนูญตกไป และให้แจ้งผลการออกเสียงประชามติให้ประธานรัฐสภาและประธาน ส.ส.ร.ทราบโดยเร็ว

13.ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญตกไป ให้คณะรัฐมนตรี หรือ ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ หรือ ส.ส. และ ส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดของสองสภา มีสิทธิเสนอญัตติต่อรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภามีมติให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามหมวดนี้ได้อีก

การออกเสียงลงคะแนนให้ความเห็นชอบของรัฐสภาต้องได้เสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ทั้งนี้ บุคคลที่เป็น ส.ส.ร. จะเป็น ส.ส.ร.อีกไม่ได้ เมื่อรัฐสภามติอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วจะมีการเสนอญัตติอีกไม่ได้ เว้นแต่จะมีการเลือก

ทว่า ก่อนจะได้ทำทั้ง 13 ขั้นตอน ขั้นตอนในรัฐสภายังต้องนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เข้าไปลงมติในวาระที่ 2 ในวันที่ 24-25 กุมภาพันธ์

นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. … กล่าวว่า

“หลังจากวาระ 2 ผ่าน จะทิ้งไว้ 15 วัน คาดว่าจะเข้าสู่วาระที่ 3 ในวันที่ 16-17 มีนาคม หากวาระที่ 3 ผ่านแล้วก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ซึ่งมีขั้นตอนในการดำเนินการทั้งหมด 18 เดือน”

ทั้ง 13 ขั้นตอนก็จะเริ่มต้นทันที