“อานนท์” ติดอันดับผู้ทรงอิทธิพลต่อการเปลี่ยนอนาคต TIME 100 NEXT

ทนายอานนท์ติดอันดับผู้ทรงอิทธิพลของไทม์

“ไทม์” ประกาศรายชื่อ 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลต่อการเปลี่ยนอนาคต มีชื่อ “อานนท์ นำภา” อยู่ด้วย 

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2564 มติชน รายงานข้อมูลจาก เว็บไซต์ ไทม์ ซึ่งเผยแพร่ 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงอนาคต ในปี 2021 TIME 100 NEXT ปรากฏว่ามีรายชื่อของ นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนชื่อดัง ที่กำลังถูกคุมขังในความผิดตามมาตรา 112 และ ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว

ไทม์ ระบุว่า นายอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน ได้ขึ้นอภิปรายในชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ สร้างความสั่นสะเทือนให้กับประเทศไทย ซึ่งนับเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ในเอเชีย แต่ประชาธิปไตยของไทย ได้ถูกกัดกร่อน หลังจากการขึ้นมามีอำนาจของจีนนายอานนท์ยังได้ปลุกพลังคนไทยรุ่นใหม่ ด้วยการถอดรากของอำนาจทางการเมืองในไทย และแก้รัฐธรรมนูญที่ร่างโดยทหาร ซึ่งทำให้เขาถูกจับกุมถึง 3 ครั้ง ในช่วงไม่กี่เดือน และการปลุกระดมฝูงชนให้ต่อต้านรัฐบาล แม้ว่าโควิด 19 จะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจของประเทศ แต่คนรุ่นใหม่ ก็ยังคงเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งนับได้ว่าใหญ่ที่สุดนับแต่การรัฐประหารปี 2557 ที่ผู้เชี่ยวชาญได้ระบุว่า สร้างความกดดันให้กับรัฐบาลทหาร

“ประชาชนป่วย และเหนื่อยในการใช้ชีวิต ภายใต้ระบบการปกครองแบบอดกลั้น” ชาร์ลี แคมป์เบลล์ นักเขียนของไทม์ กล่าว

ทั้งนี้ นอกจาก นายอานนท์ นำภา แล้ว ไทม์ยังได้เลือกบุคคลผู้มีชื่อเสียง เข้ามาอยู่ในลิสต์ 100 รายชื่อครั้งนี้ อาทิ ซานนา มาริน นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งฟินแลนด์ ซึ่งอายุน้อยที่สุดในโลก , ดัว ลิปา นักร้องชื่อดัง, จอห์น เดวิด วอชิงตัน นักแสดงชาวอเมริกัน อดีตนักฟุตบอลอเมริกัน, เรกเก้ ฌอง เพจ นักแสดงจาก บริดเจอร์ตัน , อะแมนดา กอร์แมน กวีหญิงวัย 22 ปี ผู้ได้รับรางวัลกวีเยาวชนแห่งชาติคนแรกของสหรัฐ, อันยา เทย์เลอร์ จอย นักแสดงชื่อดัง จาก ควีน แกมบิต

โคโยฮารุ โกโตเกะ ผู้เขียนการ์ตูนชื่อดังแห่งปี ดาบพิฆาตอสูร และ มาร์คัส แรชฟอร์ด จาก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดสรรรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ประกาศว่า นายอานนท์ นำภา ทนายความและนักสิทธิมนุษยชนชาวไทย ได้รับรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน (Gwang Ju Prize for Human Rights) ประจำปี 2564 จากมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้)

ในประกาศดังกล่าว ระบุว่า นับแต่ปี พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา นายอานนท์ ได้เริ่มต้นทำงานด้านกฎหมาย ทำหน้าที่ที่ปรึกษาคดีด้านสิทธิมนุษยชนและกับนักกิจกรรมด้านประชาธิปไตย หลังจากรัฐประหารปี 2557 เขาได้ต่อสู้เพื่อประชาชนที่ถูกฟ้องร้อง จากประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ที่ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก และทำโทษนักสิทธิมนุษยชน และผู้เคลื่อนไหวทางการเมือง และช่วยเหลือคนที่ถูกดำเนินคดีโดยศาลทหาร

สำหรับรางวัลนี้ ได้เริ่มมอบรางวัลให้กับนักสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ปี 2000 มีบุคคลระดับโลกหลายคนที่ได้รับรางวัลนี้ อาทิ นางอองซาน ซูจี สำหรับคนไทยเคยได้รับรางวัลมาแล้ว 2 คน คือ นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อปี 2549 และ นายจตุภัทร์ บุญภัทร์รักษา หรือไผ่ ดาวดิน เมื่อปี 2560