เทียบโปรไฟล์ ธรรมนัส – ชัยวุฒิ 2 แคนดิเดต รมว.ดีอีเอส

ในการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 นอกจาก มีวาระสอบการก่อกบฏของกลุ่ม 6 ส.ส.ดาวฤกษ์ ยังมีวาระเคลียร์เก้าอี้รัฐมนตรีในพรรคพลังประชารัฐที่ว่างลง 2 เก้าอี้

ภายหลังศาลอาญา พิพากษาคดีการชุมนุมของกลุ่ม กปปส. ตำแหน่งที่ว่างลง คือ เก้าอี้ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” ที่เรียกว่า “ดีอีเอส” ที่เจ้ากระทรวงชื่อ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” และ เก้าอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ของ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ”

“พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ให้สัญญาใจกับ “ลูกพรรค” ได้ชื่นใจว่า การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งนี้ในโควตาของพลังประชารัฐ จะไม่มีคนนอก จะเลือกเฉพาะคนที่เป็น ส.ส.มานั่งเก้าอี้รัฐมนตรีเท่านั้น

หากเก้าอี้ที่ขิงกันอุตลุด คือ เก้าอี้ รมว.ดีอีเอส โดยมีแคนดิเดตที่ขี่กันอยู่ 2 ชื่อ คนแรกอยู่ในแก๊ง 3 ช่วย (รัฐมนตรีช่วย) กลุ่มที่พยายามเขย่าโผภายในพรรคพลังประชารัฐ เพื่ออัพเกรดตำแหน่งขึ้นรัฐมนตรีว่าการ คือ “ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า” รมช.เกษตร ที่ทำผลงานโบว์แดงได้รับคะแนน “ไม่ไว้วางใจ” น้อยที่สุดในกลุ่ม 10 รัฐมนตรีที่ถูกฝ่ายค้านยื่นซักฟอก – อภิปรายไม่ไว้วางใจ

หากเอ่ยชื่อ “ผู้กองนัท” หรือ ร.อ.ธรรมนัส คอการเมืองอาจกังขาในความสามารถที่จะมานั่งตำแหน่งคุมกระทรวงดีอีเอส

แต่หากย้อนกลับไปตอนฟอร์ม ครม.ประยุทธ์ 2/1 มีชื่อ “อัครา พรหมเผ่า -น้องชาย” อยู่ในโผ “ว่าที่ รมว.ดีอีเอส” ก่อนจะพลิกโผเป็น “ร.อ.ธรรมนัส” ขึ้นเป็น รมช.เกษตรฯ ในนาทีสุดท้าย

เก้าอี้ รมว.ดีอีเอส จึงอยู่ในใจของนามสกุล “พรหมเผ่า” มาก่อน

เมื่อเปิดโปรไฟล์ทางการเมืองของ “ร.อ.ธรรมนัส” ในฐานะกุมบังเหียนสนามเลือกตั้งภาคเหนือของพรรคพลังประชารัฐ ล้วนไม่ธรรมดา

โดยเฉพาะการเลือกตั้งซ่อม เขต 4 จ.ลำปาง แทนอิทธิรัตน์ จันทรสุรินทร์ จากพรรคเพื่อไทย ที่เสียชีวิตไป ปรากฏว่า “วัฒนา สิทธิวัง” ลูกทีมของ “ร.อ.ธรรมนัส” ล้มแชมป์เก่า ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยไปได้

นอกจากนี้ ร.อ.ธรรมนัส ยังรับบทบาทมือประสานสิบทิศ โดยเฉพาะกับ “พรรคเล็ก” ไม่ให้พยศไปเป็นฝ่ายค้าน

“ผมเป็นคนเลี้ยงลิง เลยต้องเอากล้วยให้ลิงกินตลอดเวลา ขณะนี้เชื่อว่ากินจนอิ่มแล้วน่าจะพอได้แล้ว” ร.อ.ธรรมนัส กล่าวภายหลังถูกส่งไปเคลียร์พรรคเล็ก ที่ขู่ถอนตัวออกไปจากพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อ 7 กันยายน 2562

และแม้จะถูกขุดคุ้ยจากพรรคฝ่ายค้านในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ขุดโปรไฟล์ฉาวในอดีตที่ถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับยาเสพติด เคยถูกจองจำในออสเตรเลีย แต่เขาก็เอาตัวรอดมาได้

และช่วงนี้ “ร.อ.ธรรมนัส” ขึ้นหม้อแบบสุดๆ เดินเคียงข้าง “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ  และยังได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประวิตร –  “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ให้นั่งเป็นหัวโต๊ะ คุมงานสำคัญๆ อาทิ แต่งตั้งเป็นประธานตรวจสอบเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต , ประธานคณะทำงานติดตาม และขับเคลื่อนนโยบาย แนวทางและมาตรการการบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน

ส่วนโปรไฟล์ส่วนตัวถือว่าไม่ธรรมดาเช่นกัน  เป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 25 และจบนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 36 รุ่นเดียวกันกับ พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม แต่ต้องสิ้นสุดเส้นทางข้าราชการทหาร ในปี 2542 หลัง “ร.อ.พชร”(ชื่อเดิม) ถูกโยงคดีฆ่าคนตาย แต่ในปี 2546ศาลพิพากษายกฟ้อง

ขณะที่ขุมข่ายธุรกิจของ “ร.อ.ธรรมนัส”แตกไลน์ทั้งสีขาว-สีเทา อาทิ ธุรกิจรักษาความปลอดภัย “1 ใน 5 เสือกองสลาก” ให้เช่าพื้นที่-บริหารตลาดนัดจตุจักร-คลองเตย รถเมล์ สโมสรฟุตบอล รวมสินทรัพย์มูลค่าหลายร้อยล้านบาท

ทันทีที่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 “ร.อ.ธรรมนัส” ถูกคำสั่ง คสช.เรียกมารายงานตัว พร้อมกับ “เสธ.ไอซ์” พล.อ.ไตรรงค์-พล.อ.ทวนทอง อินทรทัต ที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับ “ทักษิณ ชินวัตร” นายใหญ่เพื่อไทย ซึ่งในอดีต “ร.อ.ธรรมนัส” เคยลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทย มาก่อน

แต่พอภายหลังที่ คสช.คืนอำนาจ “ร.อ.ธรรมนัส” ก็ถูกทาบทามให้มาคุมสนามภาคเหนือของพรรคพลังประชารัฐ จนถึงบัดนี้

อีกคนที่มาเงียบๆ แต่มีสิทธิเข้าป้ายสูงคือ “ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ หัวหอกที่ออกมาเปิดหน้าเขี่ยแก๊ง 4 กุมาร ของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ให้กระเด็นออกจากคณะรัฐมนตรีไปทั้งยวง

ตามโปรไฟล์ “ชัยวุฒิ” มีคอนเนคชั่นระดับบิ๊ก ถือตั๋วความเป็นพี่ – น้อง เครือข่าย วิศวะ จุฬาฯ คอนเนคชั่น เป็นอดีตผู้บริหารคนสำคัญในกลุ่มพลังงาน Gulf Energy ยังเคยลงเล่นการเมือง เป็น ส.ส.สิงห์บุรี ในนามประชาธิปัตย์ ปี 2544 ก่อนย้ายมาสังกัดพรรคชาติไทย เมื่อถูกเว้นวรรคทางการเมือง เพราะผลพวงการยุบพรรคชาติไทย ในปี 2550 เขาหายตัวไปขลุกอยู่ในภาคธุรกิจ เป็นกลุ่มผู้บริหาร Gulf  ก่อนกลับมาลงสมัคร ส.ว.เมื่อปี 2557 แต่ก็ถูกล้มกระดานด้วยการรัฐประหาร

อย่างไรก็ตาม “ชัยวุฒิ” มีสัมพันธ์พิเศษกับ “ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ” รมว.ศึกษาธิการ และ “พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์” และกลุ่ม กปปส. ว่ากันว่า เขาเป็นคนที่พา “ณัฏฐพล-พุทธิพงษ์” เข้าพบ พล.อ.ประวิตร ที่ทำเนียบรัฐบาล ตอนย้ายจากประชาธิปัตย์ มาอยู่พบังประชารัฐ

ที่สำคัญเขามีน้องชาย “โชติวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” เป็น ส.ส.สิงห์บุรี พลังประชารัฐ ส่วนภรรยา กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ก็เป็น ส.ส.กทม.พลังประชารัฐ แถมยังได้แรงหนุนจากกลุ่ม “วิรัช รัตนเศรษฐ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พลังประชารัฐ ให้ขึ้นเป็นรัฐมนตรี

เมื่อ “วิรัช” เจอหน้า “ชัยวุฒิ” ในการประชุมกรรมการบริหารพรรค เมื่อ 2 มีนาคม จึงตะโกนเรียก “รัฐมนตรี”

คราวนี้ “ชัยวุฒิ” มีสิทธิสูงที่จะสมหวังได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรี แต่จะใช่ รัฐมนตรี ดีอีเอส หรือไม่ คนที่เคาะสุดท้ายอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถืออำนาจสูงสุด