ปิดฉากแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐสภาโหวตคว่ำ ร่างแก้ไข วาระ 3

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ถูกสมาชิกรัฐสภาโหวตคว่ำในวาระที่ 3 ด้วยการพลิกเกมของ ส.ส. พลังประชารัฐ

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 หลังที่ประชุมรัฐสภาใช้เวลา 4 ชั่วโมงในการลงมติกลางดึก ผลปรากฏว่ามีคะแนน “เห็นชอบ” 208 ต่อ 4 เสียง งดออกเสียง 94 และไม่ลงคะแนน 136 คะแนน ทว่าเมื่อคะแนนเสียงที่ได้ไม่มากกว่ากึ่งหนึ่ง จึงถูกตีตกไป

การลงมติในครั้งนี้เกิดขึ้นแบบเหนือความคาดหมาย ในจังหวะชุลมุน หลังประธานสั่งพักการประชุม ซึ่งถกกันมากว่า 9 ชั่วโมงก่อนที่จะเตรียมการลงมติ 3 ญัตติ ที่สมาชิกรัฐสภาได้ตกลงกันไว้ก่อนหน้า ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

แต่จังหวะพลิกเกมเกิดขึ้น เมื่อ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้เสนอ “ญัตติซ้อนญัตติ” โดยขอให้พิจารณาดำเนินการตามระเบียบวาระ “เรื่องด่วน” เสียก่อน ซึ่งหมายถึงการเดินหน้าลงมติในวาระที่ 3 ก่อนที่รัฐสภาเสียงข้างมากจะมีมติ “เห็นด้วย” กับญัตติของนายไพบูลย์ ด้วยคะแนนเสียง 473 ต่อ 127 งดออกเสียง 39 และไม่ลงคะแนน 5

เป็นผลให้ญัตติอื่น ๆ ของสมาชิกรัฐสภาที่เสนอไว้ และประธานกำลังเตรียมการให้ลงมติ 3 ญัตติ ต้องตกไปโดยปริยาย

นำไปสู่เกมใหม่ คือการเดินหน้าลงมติ ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 กำหนดให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องได้คะแนนเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภา “มากกว่ากึ่งหนึ่ง” ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสองสภา

ซึ่งต้องมีจำนวน 367 คน จากสมาชิกที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 737 คน (ปัจจุบันมี ส.ส. ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 487 คน และ ส.ว. 250 คน) แต่มีเงื่อนไขสำคัญคือ ต้องได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ส. ฝ่ายค้าน 20% หรือ 43 จาก 211 เสียง และมี ส.ว. เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของ ส.ว. ที่มีอยู่ หรือ 84 คน

เมื่อ นายชวน หลักภัย ประธานรัฐสภา สั่งนับองค์ประชุมเพื่อเตรียมลงมติ กลับมีสมาชิกรัฐสภาแสดงตนเพียง 379 คน หรือเกินองค์ประชุมแบบฉิวเฉียดเพียง 10 คน

ในช่วงนั้นการประชุมตึงเครียดอย่างหนัก และเข้าสู่ช่วงลงคะแนน แต่ ส.ว. และ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลบางส่วนหายไป หรือกล่าวว่า “ไม่ประสงค์ลงคะแนน” รวมถึงนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เจ้าของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย

สำหรับ ส.ว. ที่ร่วมลงมติมีทั้งสิ้น 217 คน โดย 2 คนโหวตเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ, 4 คนโหวตไม่เห็นชอบ, 84 คนของดออกเสียง และส่วนใหญ่ถึง 127 คนไม่ประสงค์ลงคะแนน