โคทม : ผู้มีอำนาจไม่อยู่ค้ำฟ้า อย่าเบรกอนาคต ล้มโต๊ะแก้รัฐธรรมนูญ

สัมภาษณ์พิเศษ
ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

เกมแก้รัฐธรรมนูญ วาระร้อนแห่งปี ไม่ว่าที่สุดแล้ว การประชุมร่วมรัฐสภาจะโหวตคว่ำในวาระ 3 หรือเดินหน้าไปต่อ ย่อมส่งแรงสั่นสะเทือนไปทั้งแผ่นดินเพราะทุกบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “โคทม อารียา” นักวิชาการด้านสันติวิธี ในฐานะประธานอำนวยการภาคีรัฐธรรมนูญเพื่อประชาธิปไตย

เคยเป็นผู้ปฏิบัติ คนสำคัญตามรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน 2540 ในฐานะ กกต.ชุดที่ 1 และร่วมรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ก่อนการทำประชามติ 7 สิงหาคม 2559

วันนี้เขาและภาคีต้องมาร่วมบัญชาการ ฝ่ากับดักแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้ง

ศาลรัฐธรรมนูญโหวตคว่ำวาระ 3

“โคทม” เริ่มต้นวิเคราะห์คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญว่า 1.ศาลรัฐธรรมนูญบอกรัฐสภามีอำนาจในการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2.ให้ทำประชามติถามประชาชนก่อน 3.ให้ทำประชามติหลังมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

“การทำประชามติก่อน” ศาลไม่ได้บอกว่า ต้องทำ 2 ครั้ง คือ ครั้งที่หนึ่งก่อนรับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญวาระที่ 1 และครั้งที่สอง หลังร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญผ่านวาระที่ 3 หรือไม่ ศาลไม่ได้บอก

ตามปกติแล้ว การทำประชามติจะไม่ถามว่าประชาชนก่อนรับหลักการให้มีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ เพราะการทำประชามติรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา 2 ครั้ง คำถามจะถามว่าเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญของกรรมาธิการ (กมธ.) ที่ยกร่างมาหรือไม่ ประชาชนก็ต้องดูว่า กมธ.ร่างอะไรมา จะมีรัฐธรรมนูญใหม่โดยมี ส.ส.ร.แบบไหน แม้กระทั่งเสนอกฎหมายในวาระที่ 1 ก็ต้องมีตัวร่างกฎหมายก่อนที่จะลงมติ

“ดังนั้นเมื่อผ่านวาระ 3 ก็ค่อยทำประชามติ ให้ประชาชนรับหลักการสถาปนาอำนาจ ออกรัฐธรรมนูญผ่านการลงคะแนนเสียง ไม่ต้องไปทรมานตนเอง จัดประชามติทำไม 2 ครั้ง”

“การตีความในเชิงคำวินิจฉัย หรือข้อกฎหมาย ต้องตีความเชิงปฏิบัติได้ โดยไม่ขัดกับสามัญสำนึกทั่วไป แต่ถ้าไปตีความพัวพันว่า ต้องประชามติก่อนรับหลักการ โดยไม่รู้ว่าหลักการอะไร เชื่อว่าเปลืองเวลา เสียเงิน ประชาชนสับสน”

ให้คนตัดสินผ่านประชามติ

“โคทม” กล่าวถึงเสียงสะท้อนจาก ส.ว. และ ส.ส.ซีกรัฐบาลบางส่วน ที่ตั้งใจโหวตคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระ 3 ว่า ให้ประชาชนตัดสินด้วยการทำประชามติไม่ดีกว่าหรือ แล้วค่อยไปรณรงค์บอกว่า ไม่รับรัฐธรรมนูญหลังผ่านวาระ 3 ก็เป็นสิทธิที่ ส.ว. ส.ส.ทำได้ ถ้าไม่เห็นด้วยกับร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งพวกคุณทำขึ้นมาเองในระดับหนึ่ง แล้วบอกว่าไม่เอา แม้เป็นสิทธิ แต่ไม่ควรเขี่ยลูกออก

กับข้อสงสัยว่า ถ้าคว่ำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระ 3 แล้ว ไปนับ 1 กันใหม่ ถามประชาชนให้รู้เรื่องไปเลยว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับจะยินยอมหรือไม่ “โคทม” แย้งแนวคิดนี้ว่า การนับ 1 โดยประชามติมันตลก เห็นด้วยกับอะไรก็ไม่รู้ มันไม่ make sense เลย ผมยังเข้าใจเหตุผลไม่ได้ ผมเป็นประชาชนโดยที่ยังไม่รู้อะไรเลย แล้วจะไปลงอะไร บอกให้รับหลักการสิ…หลักการของอะไร ยังไม่รู้

“คำว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กระบวนการมีหลายอย่าง แก้ในรัฐสภาก็มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ เช่น ปี 2539 แก้ทั้งฉบับเลย เว้นหมวด 1 หมวด 2 แต่รัฐสภาบอกไม่ให้ เพราะประชาชนต้องการมี ส.ส.ร. และ ส.ส.ร.ก็มีหลายแบบ แต่งตั้ง กับเลือกตั้งดังนั้น ถ้าจะทำอะไรก็ควรถามประชาชนโดยมีความชัดเจนตรงนี้เสียก่อน”

ถามว่าเป็นความตั้งใจของฝ่ายรัฐบาลหรือไม่ ที่ต้องการให้เกมรัฐธรรมนูญล้มลง “โคทม” ตอบว่า ถ้าจะมาแกล้ง disruption ให้สะดุดลง ทำไมมาพูดตอนนี้ ในเมื่อเป็นนโยบายของรัฐบาล และ ส.ว.น่าจะสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ถ้ามีความจริงจังมาตั้งแต่ต้นก็น่าจะเดินต่อได้แต่ถ้าสลับขาไปเรื่อย ๆ มีกลเม็ดเด็ดพลายทางการเมือง ประชาชนก็จะเห็นเอง

ผ่านวาระ 3 ชาติได้ประโยชน์

ในมุม “โคทม” มองว่า หากกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเดินหน้าต่อไปสู่การมี ส.ส.ร. จะเกิดคุณูปการกับสังคมมากมาย 1.ลดความตึงเครียดของสังคม 2.เปิดพื้นที่การพูดคุยที่กว้างขวาง ให้ประชาชนได้เรียนรู้เรื่องการเมืองไปในช่วงเวลานี้ 3.ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องลงไปหาประชาชน ก็จะมีกลไกที่จะทำให้เกิดความรู้สึกว่า ประชาชนมีส่วนร่วมในการทำรัฐธรรมนูญที่สถาปนาโดยประชาชน

หลังจากมีรัฐธรรมนูญ 2550 ต่อเนื่องถึงฉบับ 2560 เหตุใดกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงถูกขัดขวางมาตลอด “โคทม” นิ่งคิด ก่อนตอบว่า เรากลัวว่า ส.ส.จะแก้รัฐธรรมนูญ สมัยคุณทักษิณ ชินวัตร เป็นรัฐบาลพรรคเดียว มี ส.ส.เพียงพอที่จะแก้รัฐธรรมนูญได้ ก็ไม่เห็นมีอะไรเลย มีคนเถียงผมบอกว่า รัฐธรรมนูญ 2540 เอื้อต่อคุณทักษิณ แล้วจะแก้ทำไม แต่ผมคิดว่าไม่จริงถึงขนาดนั้นหรอก

“เป็นธรรมดาที่ไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญ ยกเว้นเกิดปัญหาเทคนิค ข้อขัดแย้ง ความเห็นแตกแยก แต่รัฐธรรมนูญปัจจุบันก็ไม่ได้ถึงทางตันทางเทคนิค แต่ถึงทางตันทางความเห็นพ้อง”

“เป็นจุดขัดแย้งทางการเมือง ที่แย่คือบทเฉพาะกาล ยุทธศาสตร์ชาติ ปฏิรูปบังคับจริยธรรมของคน ในทางปฏิบัติบังคับไม่ได้ เจตนาคนเขียนคงดีมาก อยากให้คนมีจริยธรรม ไม่ให้มีคนโกง ยุบพรรคเป็นว่าเล่นซึ่งผิดทางหมด”

“และคนดูแล (รัฐบาล) เราก็ไม่ไว้ใจ เพราะมาจากรัฐธรรมนูญ 2560 และคนที่ดูแลรัฐธรรมนูญ (ส.ว.) ปัจจุบันเป็นหนึ่งเดียวกัน เข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ยอยู่ขณะนี้ ที่ไปไม่ได้เพราะผมรู้สึก หรือประชาชนจำนวนหนึ่งรู้สึก ว่าถูกกันออกไป นี่มันไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่เรารู้สึกมีส่วนร่วม แต่เป็นรัฐธรรมนูญ คสช. มันพ้นจากยุครัฐประหารไปแล้ว”

“ถึงรัฐธรรมนูญจะเขียนว่า ทุกอย่างที่ คสช.ทำถูกต้องโดยกฎหมาย และชอบด้วยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็เขียน แพะคือแกะคุณก็เขียน แต่คนรู้สึกว่าไม่ใช่ อย่างน้อยผมก็คนหนึ่ง มัดมือชก ไม่มีสปิริตที่จะให้คนอื่นมาวิจารณ์ได้อย่างเต็มที่ เขาต้องการให้ผ่านประชามติ เป็นเรื่องของการเมือง ไม่ใช่เรื่องของชาติบ้านเมือง”

อนุรักษนิยม อย่ากลัวล่วงหน้า

การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ของนักวิชาการ นักการเมือง แต่สำหรับการต่อสู้ของประชาชนถูกเบี่ยงประเด็นด้วยเรื่องสถาบัน กฎหมายอาญามาตรา 112 ทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกลดทอนความสำคัญลงไปหรือไม่

“โคทม” กล่าวว่า อยู่ที่รัฐบาลแน่วแน่แค่ไหนว่าเดินมาทางนี้ ถ้าแน่วแน่ไม่ต้องมีความกดดันอะไรเลยก็เดินได้ ไม่ใช่แก้รัฐธรรมนูญเพราะมีเสียงนอกสภามากดดัน อันนี้คือสิ่งที่ควรจะเป็น

“ตอนแรกแก้รัฐธรรมนูญไปได้ดีเพราะเสียงนิสิต นักศึกษาชัดเจนว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ ตอนนี้เขาก็ยังพูดเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ แต่มีพูดเรื่องมาตรา 112 ด้วยถ้าฝ่ายรัฐบาลมองว่า มี 112 มาแทรก แล้วไม่แก้รัฐธรรมนูญ ไม่ฟังเสียงข้างนอก แต่เสียงข้างนอกมีตั้งหลายเสียง ไม่ใช่มีเสียงเดียว ดังนั้น เอาเสียงข้างนอกออกไปก่อน แล้วถามว่าเราตั้งใจ หรือเห็นประโยชน์ในตัวมันเองหรือเปล่า”

ถามแย้ง “โคทม” ว่า เมื่อรัฐบาลได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ จะตั้งใจแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ เขาตอบว่า ถ้าคนที่มีอำนาจไม่ตั้งใจ ก็ไปยาก เพราะผู้มีอำนาจก็หาทางเขี่ยลูก หาทาง disrupt ให้สะดุดลงเขาต้องเห็นประโยชน์สิ

ประโยชน์มันเหมือนกระจกที่สะท้อนว่า สิ่งที่คิดคือทำรัฐธรรมนูญวิเศษ แต่มันไม่วิเศษจริงอย่างที่โฆษณาไว้ ถ้าผู้มีอำนาจเฉลียวใจตรงนี้ ว่ามีประชาชนเริ่มทักท้วง ผู้มีอำนาจก็ เออ… ที่ประชาชนทักท้วง มันจริงแฮะ แล้วทำอะไรที่ดีกว่านี้ได้ไหม

เอาเสียงประชาชน ซึ่งตอนนี้ต้องบอกว่าเป็นเสียงกลาง ๆ ยังไม่รู้ว่า ส.ส.ร.จะมาอย่างไร จะไปกลัวก่อนทำไม ถ้าฝ่ายมีอำนาจไม่เข้าไปแทรก ฝ่ายค้านไม่เข้าไปแทรกมากนัก บวก ลบ คูณ หาร ส.ส.ร.ไม่มีวาระซ่อนเร้น การร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็เป็นพื้นที่เปิด

“ไม่ใช่ว่าเปลี่ยนแล้ว คสช.ตกจากอำนาจ ฝ่ายค้านขึ้นมามีอำนาจ จะนำฉลุยในการแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ของฝ่ายค้าน อันนั้นถ้าผมเป็นอนุรักษนิยม ผมก็จะ เฮ้ย… ทำอย่างนี้ได้ไง แต่ปัจจุบันไม่ใช่แบบนี้ มี ส.ส.ร. เอากระบวนการเป็นตัวตั้ง ที่ไม่เข้าใครออกใคร ถ้าไม่มีใครไปเล่นแร่แปรธาตุเพื่อประโยชน์ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง”

อำนาจไม่อยู่ค้ำฟ้า

แต่ถ้าผู้มีอำนาจมองกระจกแล้วเข้าข้างตัวเองอยู่จะทำอย่างไร “โคทม” ตอบคำถามว่า ไม่มีอะไรอยู่ค้ำฟ้า คุณ (คสช.) อยู่มาแล้ว เกือบ 7 ปีแล้ว ที่คุณทำได้ในวัยที่กระฉับกระเฉง ตอนมีอำนาจเต็มที่ก็น่าจะได้ทำไปแล้ว คุณจะไปกำหนดอนาคตเยอะแยะต่าง ๆ ต่อไปทำไม ในเมื่ออนาคตไม่แน่นอน

“อย่าคิดว่าอำนาจเป็นของฉัน เป็นของพวกฉัน ฉันบริหารอำนาจดีที่สุด มันต้องเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว มีคนใหม่เข้ามา ต้องมีพัฒนาการไปสู่อนาคตอยู่แล้วคุณจะไปเบรกอนาคตบอกว่า…ไม่ได้ อย่าเปลี่ยน ต้องอยู่อย่างนี้ แต่ความคิดคนก็เปลี่ยน ไม่ใช่อยู่กับที่”

หรือประชาชนนอกสภารู้สึกหมดหวังการแก้รัฐธรรมนูญ จึงไม่ค่อยให้ความสำคัญ โคทมเชื่อว่าไม่มีทางอื่น หวานอม ขมกลืน คุณไม่มีอำนาจก็ต้องเดินตามอำนาจที่มีอยู่ ต้องพยายามอย่างยิ่งยวด เชื่อไม่เชื่อก็ตาม ต้องเดินตามนี้

“ใครมีอำนาจแก้รัฐธรรมนูญได้ ก็คือ สภา และประชาชน แม้เราไม่ชอบ ส.ว.ก็ต้องหวานอม ขมกลืน อยู่กับสิ่งเหล่านี้ แต่เรามีอำนาจในการเชิญชวน ทำความเข้าใจกับประชาชน แน่นอน…ต้องแสดงออกให้คนเห็นด้วยกับเรามากขึ้น”

ถามคำถามสุดท้าย เชื่อความจริงใจของนักการเมืองที่จะแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ “โคทม” กล่าวว่า ไม่มีทางเลือก แก้รัฐธรรมนูญต้องพึ่ง ส.ส.และ ส.ว. มาถึงได้ระดับนี้ก็ดีมากแล้ว จะไปต่อได้ก็ต้องช่วยกันต่อไป ถ้าบอกว่า ไม่เชื่อ ส.ส. ไม่เชื่อ ส.ว. ไม่เชื่อรัฐบาล เดินไม่ถูก ไม่รู้จะเดินทางไหน

“ถ้าจะบอกว่าใครเสียประโยชน์มาทำเรื่องนี้นะ อย่าคิดอย่างนั้นเลย เราไม่ได้ทำเพื่อเรา ทำเพื่อเยาวชนหนุ่มสาวที่จะขึ้นมาในอนาคตได้ไหม เขียนอะไรเพื่ออนาคต ไม่ใช่ปัจจุบัน เราอยากให้การเมืองมีเสถียรภาพ อยากให้การเมืองสามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ นานา โดยใช้อำนาจบริหารประเทศ จะบอกว่าฉันเสียประโยชน์ แต่ฉันไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า”