พปชร. ปักธงเลือกตั้งบัตร 2 ใบ หวั่นซ้ำรอย “เพื่อไทย” ไร้ปาร์ตี้ลิสต์

1 ใน 5 ประเด็น ที่พรรคพลังประชารัฐยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือ “ระบบเลือกตั้งบัตรสองใบ” ที่ย้อนยุคกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งแบบคลาสสิก ตามรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

โดยเป็นระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใบหนึ่งเลือกคนที่ใช่ ใบหนึ่งเลือกพรรคที่ชอบ

แม้ว่าการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 หลังรัฐประหาร 19 กันยา พยายามแก้ระบบเลือกตั้ง กันระบอบทักษิณกลับเข้าสู่อำนาจ โดยใช้ระบบเลือกตั้งพวงใหญ่เรียงเบอร์ สุดท้ายก็ต้องกลับมาแก้ไขให้กลับไปสู่กติกา “บัตรสองใบ” ตามรัฐธรรมนูญ 40

เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ถูกปรับแต่งพันธุกรรมระบบเลือกตั้งมาเป็น “บัตรเลือกตั้งใบเดียว” เมื่อถึงคราวแก้ไขรัฐธรรมนูญ ระบบเลือกตั้งบัตรสองใบก็หวนกลับมาอีกครั้ง

นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากพรรคร่วมรัฐบาล 3 พรรค ที่กอดคอกันเป็นพันธมิตรแก้รัฐธรรมนูญ คือ ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา และภูมิใจไทย ก็เห็นสอดคล้องกับระบบเลือกตั้ง “บัตรสองใบ”

ยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในมาตรา 85 และมาตรา 91 ในเรื่องการลงคะแนนเสียงประชาชน หรือระบบเลือกตั้งให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ รวมถึงสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคเพื่อไทย ก็คล้อยตามเรื่องบัตรเลือกตั้ง 2 ใบที่ย้อนกลับไปใช้กติกาแบบรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550

เพื่อไทยแก้ไข 4 ประเด็นเบื้องต้น คือ 1.อำนาจ ส.ว. 2.ระบบเลือกตั้งที่อยากให้ใช้บัตร 2 ใบ 3.อำนาจและที่มาขององค์กรอิสระ และ 4.เรื่องยุทธศาสตร์ชาติ

ที่เสียงแปร่งไปในส่วนของฝ่ายค้านคือ “ก้าวไกล” ที่ถูกโยงว่าได้ประโยชน์จากระบบเลือกตั้ง “บัตรใบเดียว” ในกติการัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งครั้งนี้ “ก้าวไกล” ชงไอเดียเลือกตั้งบัตรสองใบ แต่ไปใช้สูตร MMP Mixed-Member Proportional แบบเดียวกับประเทศเยอรมนี

ทั้งนี้ ในภาพรวมของฝ่ายค้านยังรอการ “ตกตะกอน” อีกครั้ง ก่อนเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญ 22 พฤษภาคมนี้

แต่เบื้องต้น ทั้งแกนนำพรรครัฐบาลพลังประชารัฐ และ 3 พรรคร่วมรัฐบาล “ธง” การแก้ไขรัฐธรรมนูญระบบเลือกตั้ง-ตั้งใจย้อนกลับไปใช้ระบบ 40-50 เช่นเดียวกับแกนนำฝ่ายค้านเพื่อไทย

“ไพบูลย์ นิติตะวัน” หัวขบวนพลังประชารัฐ กล่าวว่า มันต้องกลับมาอย่างนี้แหละ เมื่อฝ่ายค้านต้องการอย่างนี้ เราก็เอาอย่างนี้ ฝ่ายค้านเขาก็พอใจ มีอันไหนที่ฝ่ายค้านไม่พอใจ มันไม่มี มีแต่ส่วนเกินที่เขาจะเสนอ เช่น เรื่องตัดอำนาจ ส.ว. แต่เรื่องอื่น ฝ่ายค้านรวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทยก็พอใจ โอเคหมด

ฟากนักวิชาการ-คนเป็นกลาง “สติธร ธนานิธิโชติ” ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า วิเคราะห์ขาดว่า ที่พรรคพลังประชารัฐซึ่งได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญ ที่ดีไซน์มาให้พวกเรา เพราะประเมินตัวเองว่ากำลังจะเป็นเพื่อไทย

ที่หากใช้กติกา “บัตรใบเดียว” แบบจัดสรรปันส่วนผสม จะได้เฉพาะ ส.ส.เขต แต่ไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย ถ้าพลังประชารัฐไม่อยากเป็นแบบเพื่อไทย จึงต้องกลับไปใช้ระบบเลือกตั้ง 2 ใบ ทั้งเขต และบัญชีรายชื่อ

ส่วนพลังประชารัฐจะได้เปรียบพรรคเพื่อไทยในสนามเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ “สติธร” กล่าวว่า ต้องไม่ลืมว่า เพื่อไทยถนัดเกมเลือกตั้งบัตร 2 ใบเช่นกัน เขาก็ไม่ต้องแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย เมื่อเลือกตั้ง “บัตรสองใบ” เพื่อไทยอาจจะพลิกเกมที่พลาดไปจากการเลือกตั้ง 2562 ได้

เพราะครั้งนั้นเหลือบัตรเลือกตั้งใบเดียว และบางทีผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องกลั้นใจเลือกระหว่างเพื่อไทย-อนาคตใหม่ เมื่อเห็นว่าเพื่อไทยได้คะแนนเยอะแล้วอาจไปเลือกอนาคตใหม่ ดังนั้น เมื่อเปลี่ยนกติกามาเป็น “บัตรสองใบ” ผลก็อาจไม่ออกมาแบบเดิม

แต่ตอนนี้พรรคพลังประชารัฐมั่นใจในการใช้ระบบบัตรสองใบ เพราะพรรคเพื่อไทยอ่อนลงเยอะ

ขณะที่ “ก้าวไกล” ไม่ต้องการบัตรเลือกตั้งบัตร 2 ใบแยกกันแบบนี้ แต่อยากได้ระบบบัตรสองใบแบบเยอรมนี แบบ MMP เพราะก้าวไกลได้ประโยชน์จากระบบเลือกตั้งบัตรใบเดียว และระบบ MMP มากกว่าระบบเลือกตั้งปี 2540-2550 ที่เพื่อไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ อยากได้

สูตรเลือกตั้งบัตร 2 ใบ ยังคงเป็นอมตะคลาสสิกเสมอ ที่นักการเมืองอยากได้-โปรดปรานมากที่สุด