เลขาองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ประณามนักการเมืองฉวยโอกาสโควิด ชิงหาเสียง

ภาพ มานะ นิมิตรมงคล

มานะ นิมิตมงคล เลขาฯ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน มองเหรียญอีกด้าน นักการเมืองฉวยโอกาสหาเสียง คือ คอร์รัปชันทางการเมือง-ประโยชน์ทับซ้อน แนะออก พ.ร.บ. การขัดกันแห่งผลประโยชน์ – พ.ร.บ.การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ

เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 นายมานะ นิมิตมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์เฟซบุ๊ก ในหัวข้อ “คอร์รัปชันทางการเมืองกับผลประโยชน์ทับซ้อน” ว่า “เป็นเรื่องธรรมดาของการเมืองเดี๋ยวมาเดี๋ยวไป อำนาจไม่แน่นอนยิ่งในช่วงใกล้เลือกตั้ง ใครมีโอกาสต้องรีบทำรีบตักตวง”

เพราะคิดกันอย่างนี้คอร์รัปชันโดยนักการเมืองจึงเกิดขึ้นมากมายหลายรูปแบบ แต่ในยามบ้านเมืองกำลังเผชิญโรคร้าย ประชาชนเดือดร้อนสาหัสอย่างนี้ ใครจะทำอะไรที่เป็นการซ้ำเติมขอให้ยั้งคิดกันบ้าง

“คอร์รัปชันทางการเมืองเป็นคอร์รัปชันที่เลวร้ายที่สุดในบรรดาคอร์รัปชันทุกประเภท”

เพราะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดคอร์รัปชันอื่น ๆ ตามมาอีกมาก รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ได้กล่าวไว้
“คอร์รัปชันทางการเมือง” (Political Corruption) หมายถึง พฤติกรรมของนักการเมืองที่ใช้ “อำนาจทางการเมือง” อย่างบิดเบือนเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตนและพวกพ้อง โดยมากเป็นการมุ่งหวังผลประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เช่น เพื่อให้ได้คะแนนนิยม ชื่อเสียง เกียรติยศ หรือเพื่อให้ได้เปรียบคู่แข่งขันทางการเมือง

การใช้อำนาจทางการเมือง อาจหมายถึงอำนาจในการบริหารจัดการ กำหนดนโยบาย นิติบัญญัติ รวมถึงอิทธิพลต่อผู้อื่น

พฤติกรรมเหล่านี้ในช่วงใกล้เลือกตั้งจะพบบ่อยขึ้น เช่น แบ่งเขตเลือกตั้งไม่เป็นธรรม ทำโครงการประชานิยมแจกจ่ายเน้นเอาใจฐานเสียง สั่งให้ข้าราชการช่วยเหลือพวกตน ใช้ทรัพยากรของหน่วยงานไปบริการประชาชนอย่างผิดวิสัย เช่น ให้บริการประชาชนโดยหน่วยงานรัฐแต่ขึ้นป้ายเชียร์ให้ชาวบ้านหลงเข้าใจว่าเป็นผลงานหรือความเสียสละของพวกตน

ในช่วงวิกฤตโควิดก็ปรากฏเป็นข่าวดัง เช่น ขณะที่โรงพยาบาลยังขาดแคลนหน้ากากอนามัยอย่างหนัก แต่นักการเมืองกลับแข่งกันนำออกมาเดินแจกจ่ายตามท้องถนน หรือเปิดขายราคาถูกแล้วถ่ายรูปทำข่าวครึกโครม ก่อนเลิกไปเพราะหมอและพยาบาลออกมาร้องขอความช่วยเหลือจากสาธารณชน

อีกกรณี คือ เมื่อมีการระดมฉีดวัคซีนโควิดแก่ประชาชนในพื้นที่แพร่ระบาด กลับมีข่าวว่าหัวคะแนนและเส้นสายนักการเมืองในพื้นที่ได้คิวก่อนชาวบ้าน เป็นต้น เหล่านี้เป็นปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งสิ้น

แม้จะรู้กันดีว่า พฤติกรรมเหล่านี้คือการฉกฉวยผลประโยชน์จากสถานการณ์และโอกาส แต่นักการเมืองไม่กลัวเพราะยังไม่มีกฎหมายเอาผิดได้ตรง ๆ แม้แต่เรื่องจริยธรรมและผลประโยชน์ทับซ้อนก็พิสูจน์เจตนาและความเสียหายได้ยาก

การป้องกันอย่างแรกที่ควรทำคือ สร้างกติกาที่ชัดเจนว่าการกระทำใดเป็นความผิดโดยออก พ.ร.บ.การขัดกันแห่งผลประโยชน์ฯ และ พ.ร.บ.การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของภาครัฐ เข้มงวดเรื่องการเปิดเผยข้อมูล การประเมินความคุ้มค่าของโครงการ เป็นต้น

อย่างที่สองคือ สร้างการตรวจสอบถ่วงดุลที่เข้มแข็งขององค์กรอิสระ

แต่แนวทางที่เชื่อว่านักการเมืองกลัวมากที่สุดคือ สร้างวัฒนธรรมการตรวจสอบจากสื่อมวลชนและสังคมที่คอยจับตาด่าประณามเรื่องไม่ชอบมาพากลรวมถึงแสดงความคาดหวังที่เป็นบรรทัดฐานสังคม หรือที่เรียกว่า “โซเชี่ยลแซงชัน”