เจาะวอร์รูม “หน่วยสะกดรอย” เพื่อไทย จับพิรุธงบปี’65-เงินกู้ 5 แสนล้าน

พรรคเพื่อไทยกรีธาทัพโหมโรงการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ประหนึ่งเหมือนการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จัดอีเวนต์วิจารณ์-ตั้งข้อสงสัย แกะไส้ในงบประมาณสู่สาธารณะแทบวันเว้นวัน เน้นเป็นพิเศษที่งบฯกองทัพอันเป็นปมด้อยของรัฐบาลพันธุ์ผสมทหาร-นักการเมืองอาชีพ

ตอกย้ำแผลสดเรื่องบริหารสถานการณ์โควิด-19 ผิดพลาด ระบาดหนักถึงระลอกที่ 3 เศรษฐกิจเป็นอัมพาตเพราะพิษจากการล็อกดาวน์ในระลอกแรก

และเมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจออก พ.ร.ก.กู้เงินฉบับใหม่ 5 แสนล้าน “เพื่อไทย” พยากรณ์ไว้ล่วงหน้าว่าจะทำให้เพดานหนี้สาธารณะต่อ GDP พุ่งอยู่ที่ 62-63% ทะลุเพดานทันทีในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

เจาะเบื้องหลังการควานหาข้อมูลงบประมาณปี’65-งบฯเงินกู้ 5 แสนล้านของพรรคเพื่อไทย นอกจากถูกถอดรหัสโดยทีมเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทยที่มีทั้งกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน 2 รองหัวหน้าพรรคด้านเศรษฐกิจนำทีม

ยังมีส่วนผสมที่สำคัญ คือ ศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทยที่มี “เผ่าภูมิ โรจนสกุล” รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้อำนวยการ ทำหน้าที่เป็นหน่วยค้นข้อมูลร่วมกับ ส.ส.ที่เชี่ยวชาญด้านงบประมาณ-นักวิชาการนอกพรรคแต่ไม่ประสงค์ออกนาม เสิร์ฟให้กับแกนนำ-ส.ส.ไว้ใช้อภิปรายรัฐบาลในการซักฟอกงบประมาณปี’65 และ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้าน

“เผ่าภูมิ” เล่าหน้าที่ของศูนย์นโยบายเพื่อไทยว่ามี 3 ภารกิจหลัก

1.“ติดตาม” เพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลว่ามีนโยบายอะไร มีข้อผิดพลาดอย่างไร มีมาตรการต่าง ๆ ที่ออกมา เช่น ชิม ช้อป ใช้ เราชนะ เราเที่ยวด้วยกัน ไม่เหมาะสมอย่างไร มีการใช้งบประมาณไม่ถูกต้องอย่างไร

2.“วิพากษ์วิจารณ์” หลังจากเจอข้อไม่ถูกต้อง หรือไม่ใช่นโยบายที่ถูกต้องที่สุด เราต้องวิพากษ์วิจารณ์ ต้องทำให้รัฐบาลเห็นว่าอย่าเดินต่อในแนวทางนี้ เพราะเป็นแนวทางที่อันตราย หรือไม่ถูกต้อง

3.“การเสนอแนะ” เป็นสิ่งที่สำคัญ เราไม่คิดว่าพรรคการเมืองสมัยใหม่จะจบที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ เราต้องเสนอแนะ ต้องมีทางออกให้กับประชาชน

“นี่คือจุดแข็งของพรรคเพื่อไทย เราไม่วิพากษ์วิจารณ์อย่างเดียว ซึ่งใครก็ทำได้ แต่เพื่อไทยต้องมีทางออกว่าสิ่งที่รัฐบาลทำไม่ดี แล้วสิ่งที่เพื่อไทยเห็นว่าดีคืออะไร”

“ทั้งหมดมาจากการปรับโครงสร้างครั้งล่าสุดของพรรคเพื่อไทย เราได้เห็นความสำคัญของพรรคการเมืองจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีองค์ความรู้ มีหน่วยงานขึ้นมาดูแล วิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ และเสนอแนะนโยบายสาธารณะ และเป็นองค์ความรู้ที่มีอยู่ในพรรค”

“เป็นแนวคิดที่เพื่อไทยมองไปข้างหน้าว่า พรรคการเมืองที่มีคุณภาพในสมัยใหม่จะต้องประกอบด้วยองค์ความรู้ การขับเคลื่อนพรรค”

อย่างไรก็ตาม ภารกิจสำคัญที่กองอยู่ตรงหน้าของ “ศูนย์นโยบายเพื่อไทย” คือ การเสิร์ฟข้อมูลให้ ส.ส.เขตของพรรค ให้แปลงร่างเป็น ส.ส.นักพูดในสภา ในการอภิปรายงบประมาณ 2565 ต่อเนื่อง พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน

เรื่องงบประมาณเป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยให้ความสำคัญสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะเป็นงบประมาณก้อนใหญ่ที่เป็นเส้นเลือดหล่อเลี้ยงประชาชนให้สามารถเดินต่อไปได้จากวิกฤตครั้งนี้ เราจึงลงไปดูรายละเอียดทุกกระทรวง ใช้ทีมค่อนข้างเยอะ แกะทุกซอกทุกมุม

เพื่อดูความไม่ชอบมาพากลของการจัดงบประมาณและประสิทธิภาพการใช้งบประมาณ การจัดสรรงบประมาณที่ไม่ถูกต้อง ผิดที่ผิดเวลา เรามีเป้าหมายกระทรวงที่เราเห็นความสำคัญและเห็นความผิดปกติ จัดงานไม่เหมาะสม

วิธีการเสิร์ฟข้อมูลให้ ส.ส.ใช้อภิปรายนั้น เราทำงานร่วมกันระหว่างบุคลากรภายในพรรคจากส่วนกลาง และ ส.ส.ที่จะอภิปราย เพราะการอภิปรายของพรรคเพื่อไทยเป็น ส.ส.พื้นที่ทั้งหมด

ที่แต่เดิมเพื่อไทยมี ส.ส.ส่วนกลาง และ ส.ส.พื้นที่ แต่ด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 ทำให้เพื่อไทยมีแต่ ส.ส.พื้นที่ ดังนั้น บุคลากรที่มีในส่วนกลางต้องผ่องถ่ายวิทยายุทธ์ และอาศัยความสามารถของ ส.ส.ในพื้นที่ ผสมผสานกัน ทำงานร่วมกัน

“เผ่าภูมิ” ไม่ได้มองว่านักอภิปรายในสภาส่วนใหญ่ของเพื่อไทยมีแต่ ส.ส.พื้นที่ ไม่ได้ “อัพเกรด” มาเป็นนักโต้วาทีในสภาจากส่วนกลางเหมือนในอดีต เพราะ ส.ส.แต่ละคนมีจุดอ่อนจุดแข็งที่ต่างกัน

“ซึ่งจุดแข็งที่ทีมนโยบายส่วนกลางมี แต่อาจอ่อนด้อยในความต้องการเชิงพื้นที่ในการเห็นภาพพื้นที่ที่แท้จริง เราไม่มองว่าเป็นจุดอ่อน แต่มองว่าเป็นการทำงานร่วมกันอย่างกลมกลืน”

ถ้าวันนี้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล “ศูนย์นโยบายพรรค” จะมีไอเดียแก้วิกฤตโควิด-19 อย่างไร “เผ่าภูมิ” กล่าวว่า

หากเป็นรัฐบาลเพื่อไทยจะต้องจัดงบฯไปที่สาธารณสุขมากกว่าที่เป็นอยู่ ดังนั้น เรื่องวัคซีนระบบสาธารณสุข การตรวจโรคเชิงรุก การควบคุมโรค ตรงนั้นจบเร็ว ดังนั้น งบฯ 1 ล้านล้านบาท พอ แต่ถ้ารัฐบาลชุดนี้งบฯสาธารณสุขต้องเอาไปหยุดเลือด

ส่วนงบฯเยียวยาคือการพันแผล แก้แผลเป็น ซึ่งมาทีหลัง เอาเงินไปใส่ในการพันแผล ทายาแก้แผลเป็นแต่ไม่ยอมหยุดเลือด ตรงนี้คือปัญหา แต่รัฐบาลยังจัดงบฯแบบนี้ใน พ.ร.ก.เงินกู้ 5 แสนล้าน งบฯสาธารณสุขก็ยังได้รับนิดเดียว ดังนั้น ไม่ยอมหยุดเลือด เลือดก็ไหลไปเรื่อย ๆ ถ้าทำเรื่องสาธารณสุขไม่จบก็จำเป็นต้องกู้อีก

“เพราะโรคไม่จบ ก็ต้องล็อกดาวน์ ประชาชนเดือดร้อน ต้องเยียวยา ต้องฟื้นฟูกันลึกกว่าเดิม”

ส่วนการฟื้นฟู SMEs มาตรการคงการจ้างงานดีที่สุด ช่วยเหลือทั้งลูกจ้างและนายจ้าง บริษัทไม่ต้องปิดกิจการ เราเสนอในมาตรการหลักดูแล SMEs ส่วนมาตรการทางการเงิน เรื่องสินเชื่อก็สำคัญยังผิดทิศผิดทาง แม้เปลี่ยนชื่อจากให้สินเชื่อ soft loan มาเป็นสินเชื่อฟื้นฟู กับสินเชื่อพักทรัพย์ พักหนี้ แต่โครงการก็ยังไม่เดิน

เพราะที่ไม่เดินเพราะใช้กลไกธนาคารพาณิชย์ในการปล่อยกู้ เพราะธนาคารพาณิชย์ก็กลัวเรื่อง NPL ปัญหาหนี้สิน จึงมีปัญหา ส่วนพักทรัพย์ พักหนี้คนที่เข้าร่วมโครงการเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ดี ธนาคารจึงไม่อยากรับอีกเช่นกัน

“ดังนั้น รัฐบาลต้องแก้ไขให้สินเชื่อลง SMEs ให้ได้ โดยใช้ธนาคารในการกำกับของรัฐเป็นตัวปล่อยสินเชื่อในภาวะวิกฤตเช่นนี้ และไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ซึ่งเป็นเอกชนที่ต้องปกป้องผลประโยชน์ของเขา” เขากล่าวปิดท้าย