ฝ่ายค้านยื่นแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อไทย – ก้าวไกล ปัดซดเกาเหลา

พรรคฝ่ายค้าน ร่วมกันยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก้าวไกล ไม่ร่วมลงชื่อแก้ไขมาตรา 256 “พิธา” ยันไม่ใช่เป็นความขัดแย้งกัน

วันที่ 16 มิถุนายน 2564 ที่รัฐสภา แกนนำพรรคร่วมฝ่ายค้าน นำโดย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย ร่วมยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา

ทั้งนี้ นายชวน กล่าวว่า ได้หารือกับรองประธานรัฐสภา กำหนดวาระประชุมรัฐสภา ระหว่างวันที่ 22-23 มิถุนายน โดยวันที่ 22 มิถุนายน เป็นการประชุมร่างกฎหมายที่ค้างอยู่ คือ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ส่วนวันที่ 23 มิถุนายน จะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะ จะพยายามทำให้เสร็จในวันเดียว หากไม่เสร็จจะต่อการพิจารณาในวันที่ 24 มิถุนายน อีกหนึ่งวัน

ส่วนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น จะดูว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคเสนอร่างแก้ไขมาจำนวนเท่าใด เพื่อจะได้นำไปพิจารณาพร้อมกับฉบับของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่ยื่นมารอไว้แล้ว

ด้านนายประเสริฐ กล่าวว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราของพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ได้ยื่นครั้งนี้มี 5 ร่าง ประกอบด้วย 1.การแก้ไขมาตรา 256 ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.)ไปยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยกเว้นหมวด1และหมวด2 โดยมีสมาชิกพรรคฝ่ายค้านเข้าชื่อบางส่วน 2. การแก้ไขมาตรา272 ตัดอำนาจส.ว.โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นร่างที่มีส.ส.ฝ่ายค้านลงชื่อกันอย่างพร้อมเพรียง

3.การแก้ไขเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนในด้านต่างๆ อาทิ แก้ไขเพิ่มเติมหมวด3 มาตรา29 เรื่องการเพิ่มสิทธิในกระบวนการยุติธรรม มาตรา45 และ47 เรื่องสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญ 4.การแก้ไขมาตรา 83 ให้กลับไปใช้บัตรเลือกตั้งแบบ 2ใบ ให้มีส.ส.แบ่งเขต 400คน และส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน แทนระบบจัดสรรปันส่วนผสม 5.ให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา270 มาตรา 271มาตรา 275 และ279 ในเรื่องการยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี การยกเลิกอำนาจคสช.

ส่วนการขอแก้ไขมาตรา 256 ให้ มี ส.ส.ร.มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้น ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น นายประเสริฐ กล่าวว่า สามารถดำเนินการได้ตามกระบวนการรัฐสภา ไม่ขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.ประชามติ เหลือการพิจารณาในรัฐสภาอีกวันเดียว เมื่อผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก็จะโดยสมบูรณ์ และสอดคล้องกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายค้านเสนอไป

ส่วนเรื่องระบบเลือกตั้งนั้น เป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทยเคยเสนอมานานแล้ว ยึดแนวทางเก่าที่พรรคเพื่อไทยเคยทำมา เป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี2540 เราอาจมีความคิดไม่ตรงกันบ้างบางประเด็น แต่เมื่อเข้าสู่การพิจารณาในชั้นกรรมาธิการฯ จะเกิดการถกเถียงจนมีทางเลือกดีที่สุดแก่ประชาชน

ด้านนายพิธา กล่าวถึงกรณีพรรคก้าวไกล และพรรคเพื่อไทย เห็นไม่ตรงกันเรื่องระบบเลือกตั้งหรือบัตรเลือกตั้ง ว่า ไม่แปลกสำหรับประชาธิปไตยมีการถกเถียงในหลายรูปแบบ บัตรเลือกตั้ง 2 ใบมีหลายรูปแบบ คงมีการหารือกันให้ตกผลึกว่าแบบใดเหมาะสมกับการเมืองไทยมากที่สุด พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล มีเอกภาพโดยเฉพาะเรื่องตัดอำนาจ ส.ว. ส่วนเรื่องที่เหลือ มีโอกาสพูดคุยในวาระต่อๆไป ในความเห็นต่างยังสามารถพูดคุยกันได้

ส่วนที่สมาชิกพรรคพรรคเพื่อไทย และ พรรคก้าวไกล โพสต์ตอบโต้กันไปมาเรื่องบัตรเลือกตั้งนั้น ไม่ใช่การโจมตีกัน ที่ผ่านมาเราพูดคุยกันตลอดในการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้าน อะไรที่ต่างกันก็พูดคุยถกเถียง ไม่ใช่ในห้องประชุมพูดอย่าง ข้างนอกพูดอีกอย่าง เราพูดกันตรงไปตรงมาในฐานะเพื่อนผู้ร่วมประชาธิปไตย ประเด็นสำคัญตอนนี้ไม่ใช่เรื่องระบบเลือกตั้ง แต่คือเรื่อง ส.ว. ตอนนี้ไม่ว่าจะระบบเลือกตั้งจะเป็นแบบไหน เเต่ถ้าส.ว.ยังอยู่ ผลลัพธ์ก็ไม่ต่างกัน