จาตุรนต์-สุดารัตน์-กรณ์ ไอเดีย 3 ผู้นำพรรคใหม่ ชงแผนแก้วิกฤตโควิด

รายงานพิเศษ

รัฐบาลสั่งล็อกดาวน์-ควบคุมการใช้ชีวิตของประชาชน หลังไม่อาจสยบไวรัสโควิด-19 ให้อยู่หมัดได้

หนึ่งในบุคคลด่านหน้าช่วงที่ชาวบ้านกำลังลำบาก คือ “นักการเมือง” แม้ด้านหนึ่งลงพื้นที่เก็บเกี่ยวความนิยม

หากมุมด้านกลับ คือ “ด่านหน้า” หรือ “คนกลาง” ที่ต้องรับความเดือดร้อนมาบอกกล่าวกับรัฐบาล-ผู้มีอำนาจ

นี่คือวิสัยทัศน์ของ 3 หัวหอก จาก 3 พรรคการเมืองใหม่ ที่ออกมาชงวิธีแก้วิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น

เจ๊หน่อย ชง 5 สูตรแก้โควิด

เริ่มจาก “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” ประธานพรรคไทยสร้างไทยที่มีเครดิตเคยเป็น รมว.สาธารณสุข ในรัฐบาลไทยรักไทย มีประสบการณ์คุมการระบาดไข้หวัดนก และ “ไวรัสซาร์ส” เสนอว่าต้องปรับแนวทางการปฏิบัติทั้งหมด

แบ่งเป็น 5 ส่วน 1.คุมการระบาด เคร่งครัดการตรวจผู้ติดเชื้อให้มากที่สุด และนำผู้ติดเชื้อเข้าระบบให้มากที่สุด แจก rapid antigen test รัฐบาลบอกว่าราคาไม่เกิน 300 บาท หากซื้อมา 10 ล้านชุดไล่แจกประชาชน ใช้เงินแค่ 3 พันล้านบาท มูลค่าเศรษฐกิจ 3-4 พันล้านต่อวัน เท่ากับเสียมูลค่าเศรษฐกิจไปไม่ถึงวัน

แจกให้กับประชาชนทุกคน 2 ชุด ในเขตที่ระบาดไม่เยอะ ส่วนเขตที่ระบาดเยอะ 4 ชุดต่อเดือนทางไปรษณีย์ แบบนี้ประชาชนจะสามารถช่วยเหลือตัวเองว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ถ้าตนเองเป็นลุงตู่จะใช้ 1 หมื่นล้านในการตรวจ แต่ถ้าล็อกดาวน์แล้วทำเช่นนี้ 2 เดือนไม่มีทางจบ

2.การตรวจและการคัดแยกประชาชน นำเสนอ 2 ทาง คือ คนที่ทำ Home isolation ส่ง medical kit ในการดูแลตัวเองสำหรับผู้ติดเชื้อสีเขียว โดยต้องมียา ที่รัดปลายนิ้ว วัดไข้ และชุดตรวจ ทำให้เขาดูแลตัวเองที่บ้านได้ว่ามีอาการหนัก ควรมาโรงพยาบาลหรือไม่

ผู้ป่วยที่ทำ Home isolation ไม่ได้ เสนอให้มีสถานที่พักคอยในพื้นที่ กทม.ทั้ง 50 เขต จะทำเขตละ 10 แห่ง รวม 500 แห่ง ใช้โรงเรียนที่ไม่ได้เปิดเรียนอยู่แล้ว หรือหอประชุมที่มีเยอะมาก วัด หรือเช่าโรงแรม 2-3 ดาว แล้วส่งเจ้าหน้าที่เข้าไป

3.การเข้าสู่การรักษาให้เร็วที่สุด ให้ยามีเพียงพอ 4.เรื่องของวัคซีน เราต้องการสร้าง herd immunity ยืนยันว่า จะต้องได้15 ล้านโดสต่อเดือน เพราะแผนของรัฐบาลที่มีอยู่ 10 ล้านโดสต่อเดือน หาเพิ่มอีก 5 ล้านโดส ไม่ยาก ไฟเซอร์ โมเดอร์นา

รัฐต่อรัฐไปเจรจา มีทั้งเรื่องการทูต การค้าที่จะพูดกัน หรือยืมมาใช้ก่อนเหมือนหลายประเทศ แล้วค่อยใช้คืน ซึ่งตอนนี้วัคซีนที่สหรัฐเหลือเฟือ

“ถ้าเป็นลุงตู่ตอนนี้ งบฯที่กู้มากับงบฯเหลือจ่าย จะตัดงบฯทุกตัว จะกำเงิน 1 แสนล้านไปเจรจากับสหรัฐ ว่าจะขอซื้อวัคซีนที่ใช้ใน type ปัจจุบัน รวมทั้งไฟเซอร์ type 2 ที่ป้องกันตัวเชื้อกลายพันธุ์ รวมทั้งโนวาแวกซ์ แต่เราต้องการวัคซีนเฉพาะหน้านี้ก่อน ขอแบ่งให้เรา 20-30 ล้านโดสก่อนได้ไหม ต้องเตรียมไปถึงปีหน้า จะได้ไม่ต้องผีหลอกกันแบบนี้อีก”

“และนายกฯต้องจับเข่าคุยแอสตร้าเซนเนก้า ว่าใช้ไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีน เราขอวัคซีนเพิ่มให้พอกับประชาชนได้ไหม นายกฯมีอำนาจพิเศษคือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ถ้าเป็นจ่าเฉยแบบนี้ ใครเขาจะมาเดือดร้อนกับเราล่ะ”

5.ขณะนี้มีไวรัสสายพันธุ์ delta+ จากทางชายแดนที่ติดต่อจากพม่า และ lambda ที่ระบาด 30 ประเทศทั่วโลก มาเลเซียมีแล้ว ซึ่งร้ายแรงมาก โอกาสเสียชีวิต 10% ดังนั้น ต้องเคร่งครัดด่านชายแดนทั่วประเทศ

5 ข้อ ให้คนไทยฟื้นได้

“คุณหญิงสุดารัตน์” เสนอมาตรการเศรษฐกิจว่า 1.เงินกู้ 5 แสนล้าน รัฐบาลไม่ต้องกั๊กทำอะไรแล้ว เยียวยาตรงไปที่ผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด ทั้งเป็นผู้ประกันตน หรือไม่ได้ประกันตน เสนอให้เยียวยารายละ 7 พันบาท ใช้เงินประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท

และใช้ตัวเลข 7 พันบาท ให้ SMEs ตัวเล็กทั้งหมด ขึ้นทะเบียนเพื่อแสดงตัว แล้วให้รัฐช่วยผ่านการจ้างงาน โดยให้ลูกจ้างเดือนละ 7 พันบาท อย่างน้อย 3 เดือนจนกว่าเปิดกิจการได้

2.อะไรที่เกี่ยวกับหลวงต้องลด งดทั้งหมด ใช้ค่าไฟต่ำกว่า 1 พันบาท ต้องไม่เก็บในช่วงที่ล็อกดาวน์

3.ธนาคารของรัฐพักชำระหนี้ได้ทันที โดยพักเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน 4.ลดค่าจีพีการส่งดีลิเวอรี่ รัฐต้องเป็นตัวกลางในการเจรจาลดให้เหลือ 10-15% ในช่วงนี้

5.ใช้เงินกู้ก้อนซอฟต์โลนที่ยังเหลือตั้งแต่ปีที่แล้ว เกือบ 3 แสนล้าน ยกมา 1 แสนล้าน ตั้งเป็นกองทุนช่วยคนตัวเล็ก 1 แสนล้าน จะจ้างงาน 1 ล้านคน โดยมีเงื่อนไขให้ SMEs รายเล็กตั้งแต่ 5 แสน ถึง 10 ล้านบาท

ทั้งนี้ ให้รัฐค้ำประกัน 100% โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้ากู้ 5 แสน ต้องจ้างงาน 5 คน กู้ 1 ล้าน ต้องจ้างงาน 10 คน ต้องทำให้คนไทยลุกขึ้นยืนให้เร็วที่สุด เมื่อจบโควิด-19มีแพลนแล้วว่าจะแก้กฎหมายอะไรบ้าง เพื่อให้คนไทยลุกขึ้นมาทำมาหากินให้เร็วที่สุด หลังโควิด-19 ให้เขาวิ่งได้เลย

กรณ์ ชี้เยียวยาน้อยกว่ารอบแรก

ด้าน “กรณ์ จาติกวณิช” อดีต รมว.คลังในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคกล้า มองว่า มาตรการเยียวยาประชาชนที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ 4.2 หมื่นล้านบาทนั้น สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ แต่ไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับความเดือดร้อนของประชาชน

และหากเทียบกับงบประมาณและมาตรการเยียวยาปีที่แล้ว พบว่าวันนี้ประชาชนมีความเดือดร้อนมากกว่า แต่เม็ดเงินเยียวยากลับน้อยกว่าเดิม

มาตรการเยียวยาที่รัฐบาลจะเยียวยา 50% ของรายได้ สำหรับผู้ที่เป็นสมาชิกกองทุนประกันสังคม สูงสุด 7,500 บาท รัฐบาลสมทบอีก 2,500 บาท มองว่าเท่ากับค่าแรงขั้นต่ำเท่านั้น ไม่เพียงพอหากเทียบกับทำมาหากินใช้ชีวิตปกติ

มาตรการที่ช่วยเหลือ 1 เดือนไม่เพียงพอโดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ขาดโอกาสทำมาค้าขายกว่า 1 ปีแล้ว จะมาชดเชย 3,000 บาท ต่อจำนวนลูกจ้างที่มีก็ไม่เพียงพออีก

รื้องบฯ 65 มาใช้เยียวยา

ดังนั้น นายกฯควรรื้องบประมาณประจำปีในระบบราชการปัจจุบัน โดยเฉพาะร่างงบประมาณ 2565 ที่อยู่ในช่วงการพิจารณาของสภา โดยเฉพาะงบฯ ที่จัดซื้อสิ่งของจากต่างประเทศที่ไม่มีผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ รอได้ไหม ผมเชื่อว่าหลาย อาจจะหลายหมื่นล้าน แสนล้าน เป็นงบประมาณที่รอได้ เปลี่ยนเงินส่วนนั้นเป็นเงินเพื่อเตรียมไว้ช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจะดีกว่า

อีกด้านในเมื่อร้านอาหารต้องพึ่งพาการสั่งอาหารไปทานที่บ้าน สิ่งที่เป็นปัญหาต่อต้นทุนของผู้ประกอบการคือค่าจีพี ปัจจุบันค่าจีพีสูงถึง 30% หลาย ๆ ประเทศเจรจาลงมาได้คือ 15% ซึ่งจะมีผลต่อความสามารถในการอยู่รอดได้

รวมถึงเรื่องการยกเว้นภาษีทุกประเภทของกิจการที่ได้รับผลกระทบ ทั้งภาษีป้าย ภาษีเงินได้ อยู่ในอำนาจของรัฐที่จะเว้นได้ ไม่ต้องเจรจากับใครอื่น จะคืนกำไรส่วนนี้ให้ผู้ประกอบการด้วยการลดต้นทุนอย่างมีนัยสำคัญ

อ๋อยชี้ ยังไม่สายร่วม COVAX

ด้าน “จาตุรนต์ ฉายแสง” อดีตรองนายกรัฐมนตรี ที่มีข่าวมาโดยตลอดเกี่ยวกับการตั้งพรรคการเมืองใหม่ ชื่อว่า “พรรคเส้นทางใหม่” ชงแนวทางแก้ปัญหาวิกฤตโควิด-19 ขณะนี้ว่า

สถานการณ์โควิดแย่ลงอย่างรวดเร็ว การล็อกดาวน์ 10 จังหวัด 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา อาจชะลอการแพร่ระบาดไปได้บ้าง แต่โดยรวมผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิตกลับเพิ่มขึ้น เพราะขาดการตรวจคัดกรองเชิงรุก

รัฐบาลไทยดื้อรั้น เย่อหยิ่ง ไม่ยอมเข้าร่วมโครงการ COVAX ไม่พยายามแสวงหาความช่วยเหลือจากประเทศที่พัฒนาแล้ว การหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพจำนวนมากในเวลาสั้น ๆ จึงยากลำบาก

ดังนั้น ต้องเปลี่ยนแปลงในระดับยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1.สั่งให้กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุข หาทางเข้าร่วมโครงการ COVAX เพื่อขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญในการรับมือด้านต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้ยังไม่สาย

2.สร้างความร่วมมือและรับความช่วยเหลือจากประเทศที่พัฒนาแล้ว หากรู้จักดำเนินการอย่างจริงจังจะเป็นประโยชน์มาก

3.นายกฯหารือผู้นำประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสร้างระบบความร่วมมือ 4 ประเทศ ต้องมีความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการป้องกันการแพร่ระบาดและรักษาโรค 4.ดูแลชาวต่างชาติและแรงงานข้ามชาติในประเทศด้วยหลักเกณฑ์เดียวกับพลเมืองไทย

ชงโละทิ้งซิโนแวก

5.ยกเลิกแผนการจัดหาวัคซีนแล้วเปลี่ยนแผนใหม่ทั้งหมด ให้ประชาชน 50-70% ได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพภายในปีนี้ ทั้งนี้ ยกเลิกแผนการใช้วัคซีนซิโนแวกที่เหลือ 30 ล้านโดสทั้งหมดและตระหนักว่าวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าขาดหายไปประมาณ 30 ล้านโดส เท่ากับในปีนี้วัคซีนหายไปจากแผนประมาณ 60 ล้านโดส

เจรจากับแอสตร้าเซนเนก้าและสยามไบโอไซเอนซ์เพื่อหาทางผลิตวัคซีนให้ได้มากขึ้น เร็วขึ้น สนับสนุนให้ภาคเอกชนและหน่วยงานของรัฐนำเข้าวัคซีนคุณภาพ โดยไม่จำกัดว่าจะซ้ำกับที่รัฐบาลนำเข้าหรือไม่

“วางแผนซื้อวัคซีนปีหน้าทั้งปี ต้องมีคุณภาพรับมือกับการกลายพันธุ์ โดยไม่กลัวสิ้นเปลืองงบประมาณ เร่งแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค”

จาตุรนต์กล่าวว่า 6.วางหลักเกณฑ์ในการกระจายวัคซีน จัดลำดับความสำคัญตามความเสี่ยงในการติดเชื้อ การเสียชีวิตและการแพร่เชื้อและความจำเป็นในการดูแลรักษาผู้อื่น ไม่ขึ้นกับสถานะรวยหรือจน

7.เปลี่ยนแผนการตรวจคัดกรองเป็น 200,000 ครั้งต่อวัน และตั้งเป้า 500,000 ครั้งต่อวันโดยเร็วที่สุด เร่งนำเข้า rapid antigen test kit ให้ได้ 10-20 ล้านชุดใน 2-3 เดือน โดยรัฐบาลออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด

8.สั่งให้แต่ละจังหวัดเร่งเพิ่มเตียงตามสัดส่วนประชากรและความรุนแรงการแพร่ระบาด ให้ได้รวมกันประมาณสัปดาห์ละ 50,000 เตียง พร้อมทั้งอนุญาตให้ผู้ป่วยข้ามจังหวัดได้

9.ร่วมมือกับภาคเอกชนเร่งผลิตและนำเข้าเครื่องผลิตออกซิเจน เครื่องช่วยหายใจและออกซิเจนบรรจุถังพร้อมใช้ให้มากที่สุด

10.เร่งนำเข้ายาต้านไวรัสอย่างน้อย 20 ล้านเม็ด และผลิตฟ้าทะลายโจรชนิดสกัดหลายล้านเม็ด-ยาอื่นที่จำเป็นให้เพียงพอ

11.เลิกการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แล้วรีบออก พ.ร.ก.ใหม่ เพื่อแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.โรคติดต่อให้สามารถใช้ควบคุมโรคและรับมือกับการแพร่ระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ

12.เปลี่ยนโครงสร้างองค์ประกอบของ ศบค.เสียใหม่ ให้สอดคล้องกับ พ.ร.ก.โรคติดต่อที่ปรับปรุงใหม่ ยุบเลิกกรรมการเฉพาะกิจบูรณาการแพทย์-สาธารณสุข ที่มีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นประธานแล้วตั้งคณะใหม่ ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน