สภาเร่งเครื่องแก้ รธน. งบฯ 65-ซักฟอกรัฐบาล

การเมืองในสภาผู้แทนราษฎรลดดีกรีร้อนแรงลง หลังโควิด-19 ลุกลามไปทั่วประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ในอาคารรัฐสภา ที่มีการวางระบบแน่นหนา

ประหนึ่ง “ปิดเทอม” การเมืองกลาย ๆ เมื่อคำสั่งล็อกดาวน์ กทม.และจังหวัดสีแดงเข้ม รวม 29 จังหวัดถูกบังคับใช้ นักการเมืองทุกพรรคทยอยกลับที่ตั้งตามฐานการเมือง

แต่ทว่าในเดือนสิงหาคม 2564 การเมืองร้อนในสภาจะกลับมาอีกครั้ง แม้ว่าจะมีโควิด-19 เล่นงานก็ตาม

เพราะคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่ม (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่มี “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เป็นประธาน ต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจบวาระที่ 3 ให้ทันในสมัยประชุมนี้ที่จะสิ้นสุด 18 กันยายน

จึงนัดประชุมฝ่าสถานการณ์โควิด-19 ภายใต้มาตรการให้กรรมาธิการทุกคนใส่หน้ากาก 2 ชั้น และประชุมเกิน ชั่วโมงครึ่ง โดยเริ่มจากวันที่ 4 สิงหาคม เพื่อตั้งคณะทำงานเสนอร่างรัฐธรรมนูญตามคำขอแปรญัตติ วันที่ 10 สิงหาคม พิจารณาและลงมติร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 11 สิงหาคม เชิญผู้แปรญัตติมาเสนอคำแปรญัตติ วันที่ 13 สิงหาคมสรุปรายงาน เสนอให้ประธานรัฐสภาบรรจุวาระพิจารณาในวาระ 3

ต่อมา 18-20 สิงหาคม สภาเตรียมเปิดต้อนรับนักเลือกตั้งกลับมาโหวตร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 อีกครั้งหนึ่ง เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 143 กำหนดกรอบการพิจารณากฎหมายงบประมาณจะต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน นับตั้งแต่ร่างกฎหมายส่งมาถึงสภา

สถานการณ์ในขณะนี้ แม้ว่าคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ทั้ง กมธ.สามัญ และ กมธ.วิสามัญ ที่พิจารณากฎหมาย ญัตติต่าง ๆ ถูกพักไป แต่ไม่ใช่ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ที่ยังประชุมทั้งออฟไลน์ ออนไลน์

ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่พรรคฝ่ายค้าน ไล่ตัดงบฯกองทัพ ทั้งกองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ เบรกทั้งงบฯเรือดำน้ำ โดรน ฯลฯ

เอกสารราชการตีตรา “ลับ-ไม่ลับ” ถูก กมธ.งบประมาณซีกฝ่ายค้าน ใช้อำนาจเรียกมาตรวจสอบ เก็บข้อมูลไว้ใช้ถล่มรัฐบาลในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ซึ่งเป็นอีกศึกหนึ่งคือ “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” ที่ฝ่ายค้าน 6 พรรค ตั้งป้อมโจมตีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในยามที่อ่อนปวกเปียกจากภัยพิบัติโควิด-19 กับแคมเปญอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้ายของ พล.อ.ประยุทธ์

โดยจะมีการยื่นซักฟอกในช่วงกลางเดือนสิงหาคม ประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวในฐานะหัวหอกฝ่ายค้านว่า รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายมีนายกฯเป็นจำเลยที่หนึ่ง รัฐมนตรีรายอื่น ๆ มีประมาณ 5 คน พุ่งเป้าไปที่บริหารโควิดล้มเหลว ส่อไปในทางทุจริต


ขณะเดียวกัน ฝ่ายค้านยังเปิดโอกาสให้ประชาชน-ข้าราชการที่ลึก ๆ แล้วไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล ได้ส่งข้อมูล “ลับที่สุด” มาให้ฝ่ายค้านใช้อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งฝ่ายค้านรับปากว่า “ข้อมูลและตัวตนของท่านจะถูกเก็บไว้เป็นความลับ”